๓๙.ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์


พระพุทธรูปปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) บนบัลลังก์ ห้อยพระบาททั้งสองวางบนดอกบัวที่รองรับ พระชานุ ( เข่า ) ยกตั้งแบบประทับบนพระเก้าอี้ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) จีบนิ้วพระหัตถ์

ความเป็นมาของปางแสดงยมกปาฏิหาริย์

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยน้ำปานะเสร็จ ทรงรับสั่งให้นายคัณฑะนำเม็ดมะม่วงไปปลูก เมื่อทรงล้างพระหัตถ์ลงบนปากหลุม เม็ดมะม่วงก็เจริญเติบโตออกผลเต็มต้นเป็นอัศจรรย์ ต้นมะม่วงนั้นมีชื่อว่า คัณฑามพฤกษ์ ตามชื่อของนายคัณฑะ พระพุทธองค์ทรงเนรมิตจงกรมแก้วในอากาศเหนือต้นมะม่วง แล้วเสด็จขึ้นสู่ที่จงกรมนั้น ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ( อ่านว่า ยะ - มะ - กะ - ปา - ติ - หาน ) หรือการทำปาฏิหาริย์ให้บังเกิดเป็นคู่ ๆ โดยวิธีต่าง ๆ คือ มีท่อน้ำและท่อไฟพุ่งมา จากส่วนต่าง ๆ ของพระวรกายสลับกันไป ท่อไฟที่พุ่งออกมานั้นมีฉัพพรรณรังสี คือ มี ๖ สีสลับกัน เมื่อกระทบกับสายน้ำมีแสงสะท้อนสวยงามมาก ทรงเนรมิตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาอีกพระองค์หนึ่ง ทรงให้พุทธเนรมิตแสดงพระอาการสลับกันกับพระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงยืน พระพุทธเนรมิตก็เสด็จจงกรม เมื่อพระพุทธองค์เสด็จจงกรม พระพุทธเนรมิตก็ทรงยืน เมื่อทรงตั้งปัญหาถามพระพุทธเนรมิตก็ตรัสวิสัชนาแก้ สลับกันไป พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์สลับกับการแสดงพระธรรมเทศนา พุทธบริษัททั้งหลายเกิดความเลื่อมใสและได้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก

ที่มา : หนังสือปางพระพุทธรูป หัวข้อธรรมในคำกลอน โดย ระพีพรรณ ใจภักดี

8,357






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย