ลิงติเตียนมนุษย์ (ลิงติเตียนมนุษย์)

 DhammathaiTeam  



ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันเพราะอำนาจกิเลสรูปหนึ่ง ตรัสให้โอวาทว่า " ภิกษุ ธรรมดากิเลสแม้สัตว์เดรัจฉานก็ติเตียน เธอบวชในศาสนานี้แล้วเหตุไฉนจึงกระสันด้วยอำนาจกิเลสที่แม้สัตว์ก็ติเตียนเล่า " แล้วได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลิงอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ วันหนึ่งถูกพรานป่าจับได้แล้วนำไปถวายพระเจ้าเมืองพาราณสี พระราชามิได้สั่งทำร้ายมันกลับสั่งให้เลี้ยงมันอย่างดี ลิงนั้นอยู่ในพระราชวังหลายปีเห็นพฤติกรรมของมนุษย์มากมาย กลายเป็นสัตว์เชื่องเรียบร้อยมิได้ดุร้าย พระราชาทรงพอพระทัยและมีเมตตาต่อมันมากจึงโปรดให้นายพรานนำกลับไปปล่อยยังป่าหิมพานต์เหมือนเดิม

ฝูงลิงเมื่อทราบว่าลิงโพธิสัตว์กลับมาแล้ว จึงประชุมกันที่ลานหินแห่งหนึ่งพร้อมกับต้อนรับและถามข่าวซักไซ้ไล่เลียงว่า

" เจ้าเพื่อนยาก ท่านหายไปไหนมาเป็นเวลานาน "

ลิงโพธิสัตว์ตอบว่า " เราไปอยู่ที่เมืองพาราณสีมานะสิ " "

แล้วท่านออกมาได้อย่างไรละ " ฝูงลิงถามต่อ

" พระราชาเลี้ยงเราไว้ดูเล่น แล้วก็ปล่อยมานี่แหละ " มันตอบ

ฝูงลิงถามต่อว่า " ท่านอยู่กับมนุษย์มานาน คงพอจะทราบพฤติกรรมหรือนิสัยของมนุษย์กระมัง ลองเล่าสู่พวกเราฟังสิว่าเป็นอย่างไร "

ลิงโพธิสัตว์ " พวกท่านอย่าถามเลย เราไม่อยากจะเล่า "

ฝูงลิง " เล่ามาเถิด พวกเราอยากจะฟัง "

ลิงโพธิสัตว์ทนการอ้อนวอนไม่ไหวจึงพูดว่า " ท่านทั้งหลายเอ๋ย ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ จะเป็นกษัตริย์ เศรษฐีหรือยาจก ล้วนแต่พูดคำเดียวกันว่า ของเรา ของเรา ไม่รู้ถึงความไม่เที่ยง ความไม่มีอยู่เลย มีแต่คนพาลละเพื่อนเอ๋ย "

ว่าแล้วก็กล่าวติเตียนมนุษย์เป็นคาถาว่า

" มนุษย์ทั้งหลายผู้มีปัญญาเขลา ไม่เห็นอริยธรรม
พูดกันแต่ว่า เงินของเรา ทองของเรา ทั้งคืนทั้งวัน
ในเรือนหลังหนึ่ง มีเจ้าเรือนอยู่ ๒ คน ใน ๒ คนนั้น คนหนึ่ง ไม่มีหนวด
นมยาน เกล้าผมมวย และเจาะหู ถูกซื้อมาด้วยทรัพย์เป็นจำนวนมาก
ชายเจ้าของเรือนนั้น พูดเสียดแทงคนนั้นตั้งแต่วันที่มาถึง "

พวกลิงได้ฟังลิงโพธิสัตว์กล่าวติเตียนชาวมนุษย์อย่างนี้ก็ทนฟังไม่ได้ พากันเอามือปิดหูแล้วพูดว่า

" พอละ..พอละ..ท่านหยุดพูดได้แล้ว พวกเราไม่อยากฟังสิ่งที่ไม่ควรจะฟัง "

ว่าแล้วก็พากันวิ่งหนีเข้าป่าไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : แม้แต่สัตว์เดรัจฉานยังไม่อยากจะฟังสิ่งที่ไร้สาระและกิเลสตัณหาของชาวมนุษย์


ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

12,255






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย