คุณสมบัติของผู้นำ ( ราโชวาทชาดก )

๏ ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารภโอวาทของพระราชา ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระฤๅษีนำเพ็ญเพียรอยู่ในป่าหิมพานต์ มีรากไม้และผลไม้เป็นอาหาร ในสมัยนั้น พระเจ้าพรหมทัตขึ้นครองราชสมบัติในเมืองพาราณสี พระองค์เป็นผู้รังเกียจความไม่ดี วันหนึ่งทรงดำริว่า "เราปกครองเมืองมานี้ มีใครเดือนร้อนและกล่าวโทษของเราหรือเปล่าหนอ" จึง ทรงแสวงหาอยู่ทั้งในวังและนอกวังก็ไม่พบเห็นใครกล่าวโทษพระองค์ ทรงปลอมพระองค์ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ก็ไม่พบเห็นจึงแวะเข้าไปในป่าหิมพานต์เข้าไปสนทนากับฤๅษีด้วยทำทีเป็นคนหลงทาง

ฤๅษีได้ทำการต้อนรับด้วยผลไม้ป่านานาชนิด พระราชาปลอมได้เสวยผลไม้ป่ามีรสหวานอร่อยดี จึงถามถึงสาเหตุที่ทำให้ผลไม้มีรสหวานอร่อยดี ฤๅษีจึงทูลว่า "ท่านผู้มีบุญ เป็นเพราะพระราชาครองราชย์โดยธรรมเป็นแน่ ผลไม่จึงมีรสหวานอร่อยดี" พระราชาปลอมสงสัยจึงถามอีกว่า "ถ้าพระราชาไม่ครองราชย์โดยธรรม ผลไม้จะมีรสชาติเป็นเช่นไรล่ะพระคุณเจ้า "ฤๅษีตอบว่า "ผลไม้ก็จะมีรสขมฝาด หมดรสชาติไม่อร่อยละโยม" พระราชาปลอมสนทนาเสร็จแล้วก็อำลาฤๅษีกลับคืนเมืองไป ทรงทำการทดลองคำพูดของพระฤๅษีด้วยการไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นปีแล้วกลับไปหาฤๅษีอีก ฤๅษีก็ทำการต้อนรับด้วยผลไม้ พอผลไม้เข้าปากเท่านั้นก็ต้องถ่มทิ้งไป เพราะผลไม้มีรสขมฝาด

ฤๅษีจึงแสดงธรรมว่า "โยม..คงเป็นเพราะพระราชาไม่ครองราชย์โดยธรรมแน่เลย ธรรมดาฝูงโคว่ายข้ามแม่น้ำ จ่าฝูงว่ายคดฝูงโคก็ว่ายคดตามกันไป เหมือนหมู่มนุษย์ถ้าผู้นำมนุษย์ประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนก็ประพฤติไม่เป็นธรรมเช่นเดียวกัน พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ทวยราษฎร์ก็เป็นทุกข์ทั่วกัน
ถ้าจ่าฝูงโคง่ายน้ำตรง ฝูงโคก็ว่ายตรงเช่นกัน เหมือนหมู่มนุษย์ถ้าผู้นำประพฤติเป็นธรรม ประชาชนก็ต้องประพฤติเป็นธรรมเช่นกัน พระราชาผู้ตั้งอยู่ในธรรม ทวยราษฎร์ก็อยู่ร่มเย็นเช่นกัน"
พระราชาสดับธรรมของพระฤๅษีแล้วจึงแสดงพระองค์เป็นพระราชาให้พระฤๅษีทราบ ไหว้ฤๅษีแล้วกลับคืนเมืองประพฤติตั้งตนอยู่ในทศพิธราชธรรมเช่นเดิม ทำให้สรรพสิ่งทั้งปวงกลับเป็นปกติตามเดิม

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ผู้นำที่ดีต้องเป็นตัวอย่างและที่พี่งของประชาชนได้และเป็นไปเพื่อความสงบสุขของประชาชน    ๛

: หนังสือนิทานชาดก โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

 8,408 
DT0005 DhammathaiTeam

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย