ประโยชน์ของสัตว์ป่า (พยัคฆชาดก)

 DhammathaiTeam  



ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภโกกาลิกภิกษุผู้ไม่อาจจะอยู่ร่วมกับพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นรุกขเทวดาอยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง และในที่ไม่ไกลกันนักมีรุกขเทวดาตนหนึ่งอาศัยอยู่ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ในป่านั้นมีราชสีห์กับเสือ ๒ ตัวอาศัยอยู่ เพราะกลัวราชสีห์และเสือพวกชาวบ้านจึงไม่ไปทำนาใกล้ป่าและไม่คิดที่จะเข้าไปตัดต้นไม้ในป่านั้น สัตว์ทั้งสองตัวเมื่อล่าเหยื่อได้แล้วก็จะฉีกกินเนื้อปล่อยให้เหลือแต่กระดูกทิ้งไว้ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วป่า

วันหนึ่ง รุกขเทวดาตนนั้นได้แวะไปปรึกษากับรุกขเทวดาโพธิสัตว์ว่า

" เพื่อนรัก เพราะอาศัยราชสีห์และเสือสองตัวนี้ ป่าจึงมีกลิ่นเหม็นไม่สะอาด เราเสนอว่าให้ขับไล่สัตว์สองตัวนี้หนีไปที่อื่นเสีย "

พระโพธิสัตว์ห้ามว่า " อย่าเลยท่าน เดี๋ยววิมานของท่านจะถูกทำลายนะ "

แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า
" เพราะการคบหามิตรใด ความปลอดภัยจะหมดไป บัณฑิตควรรักษาลาภยศและชีวิตของตน ที่มิตรนั้นเคยครอบครองมาก่อนเอาไว้ ประดุจบุคคลรักษาดวงตา เพราะการคบหามิตรใด ความปลอดภัยเพิ่มพูนมากขึ้น บัณฑิตควรทำการช่วยเหลือในกิจทุกอย่างของมิตรนั้น ให้เหมือนกับทำให้กับตนเอง "

เทวดาตนนั้นไม่เชื่อฟังได้แสดงรูปร่างน่ากลัวขับไล่ราชสีห์และเสือให้หนีไปอยู่ที่อื่น ต่อมาไม่นานเมื่อชาวบ้านไม่เห็นรอยเท้าราชสีห์และเสือก็เข้าไปตัดต้นไม้ในป่านั้น ถางป่าด้านหนึ่งเป็นที่นา และตัดต้นไม้วิมานของรุกขเทวดานั้นไปใช้ประโยชน์ สร้างความเดือดร้อนแก่รุกขเทวดาตนนั้นมาก

วันหนึ่ง เทวดานั้นได้คร่ำครวญไปหาพระโพธิสัตว์และขอคำแนะนำ พระโพธิสัตว์จึงแนะนำให้ไปอ้อนวอนราชสีห์และเสือให้กลับมาอยู่เหมือนเดิม เทวดานั้นไปยืนประคองอัญชลีต่อหน้าสัตว์ทั้งสองอ้อนวอนว่า

" ท่านสัตว์ทั้งสอง ขอเชิญท่านไปอยู่ป่าเช่นเดิมเถิด ป่าไม้ถูกมนุษย์ทำลายเกือบจะหมดแล้ว "

แต่สัตว์ทั้งสองหาได้กลับไปไม่ มีแต่เทวดาตนนั้นเท่านั้นเดินกลับเข้าป่าไป ไม่นานป่านั้นก็เป็นที่ทำกินของชาวบ้านไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ป่ามีเพราะเสืออยู่เสืออ้วนเพราะมีป่า ต่างคนต่างอาศัยกัน เพราะป่าไม่มีสัตว์ร้ายอยู่ผู้คนจึงตัดไม้ทำลายป่าไปเสียหมด เป็นเหตุให้ความสมดุลทางธรรมชาติสูญเสียไป ขอเชิญช่วยกันปลูกป่าตั้งแต่วันนี้เถิดท่านทั้งหลายเอ๋ย

ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

12,350






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย