ธรรมะนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา

 Webmaster    11 ก.พ. 2560

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตเคยกล่าวว่า “ธรรมะนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา” คำพูดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) สงสัยว่าหลวงปู่มั่นเรียนปริยัติธรรมน้อย เอาแต่อยู่ป่า แต่ทำไมจึงรู้ธรรมได้ลึกซึ้ง
.
สมเด็จองค์นี้สมัยที่ท่านเป็นเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี ท่านเห็นว่าปริยัติธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่พระต้องเรียน ตัวท่านเองก็เรียนถึงประโยค ๕ ตอนนั้นท่านไม่ชอบพระป่าเอามาก ๆ โดยเฉพาะพระป่าสายหลวงปู่มั่น หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม เพราะพระเหล่านี้ไม่ยอมเรียนหนังสือ และไม่อยู่วัดเป็นหลักเป็นแหล่ง ธุดงค์จาริกในป่าเป็นอาจิณ คราวหนึ่งหลวงปู่สิงห์กับคณะธุดงค์มาถึงอำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าคณะมณฑลจึงสั่งเจ้าคณะอำเภอ ให้บอกชาวบ้านว่า ขับไล่คณะพระธุดงค์กลุ่มนี้ออกไปจากอำเภอ แต่ชาวบ้านไม่ทำ
.
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์แต่เดิมท่านไม่เห็นว่าการทำสมาธิภาวนามีประโยชน์อะไร กระทั่งวันหนึ่งท่านล้มป่วย รักษาเท่าไรก็ไม่หาย ต่อมาพระอาจารย์ลี ธัมมธโร และพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ช่วยรักษาท่านให้หายจากโรค โดยใช้สมาธิภาวนาและสมุนไพร ปรากฏว่าท่านหายอย่างอัศจรรย์ จึงแปลกใจและประทับใจมาก ท่านถึงกับกล่าวว่า

“ตลอดชีวิตของเรา เราไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่า สมาธิภาวนาจะมีประโยชน์ถึงเพียงนี้"
.
น่าคิดนะ สมเด็จพระมหาวีรวงค์ เป็นพระผู้ใหญ่ มีความรู้สูงด้านปริยัติธรรม แต่ไม่เคยเชื่อเลยว่า สมาธิภาวนาจะมีคุณค่ามาก เมื่อเห็นประโยชน์ของสมาธิภาวนาด้วยตนเอง ท่านจึงเริ่มทำสมาธิภาวนา และมีศรัทธาในหลวงปู่มั่น ต่อมาเมื่อได้เจอหลวงปู่มั่น ท่านจึงถามว่าหลวงปู่มั่นว่า ในเมื่อหลวงปู่มั่นไม่ได้เรียนหนังสือมามาก ทำไมจึงสอนธรรมะได้ลึกซึ้ง

หลวงปู่มั่นจึงตอบพูดว่า
“ธรรมะนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้าสำหรับผู้มีปัญญา”
.
เราสามารถเห็นธรรมได้จากทุกสิ่ง เมื่อเราเปิดใจรับรู้ทุกสิ่งอย่างมีโยนิโสมนสิการ ถ้าเราครองตนด้วยสติ ก็จะเห็นกายและใจตามที่เป็นจริง และเมื่อเรามองโลก เราก็จะเกิดปัญญาเห็นธรรม
.
เราจะเห็นกายและใจตามจริงได้อย่างไร ก็เริ่มจากการปฏิบัติ ซึ่งมีหลายวิธี หลักใหญ่ ๆ คือ เจริญสติปัฏฐาน 4 ได้แก่
.
กายานุปัสสนา คือ เห็นกายในกาย
เวทนานุปัสสนา คือ เห็นเวทนาในเวทนา
จิตตานุปัสสนา คือ เห็นจิตในจิต
ธัมมานุปัสสนา คือ เห็นธรรมในธรรม
.
อธิบายสั้น ๆ คือ เห็นกายว่าเป็นกาย ไม่ใช่เห็นกายว่าเป็นเรา เวลาเราเดิน หากเดินอย่างมีสติจะเห็นว่ากายเดิน ไม่ใช่ “ฉัน” เดินเวทนาเกิด ก็เห็นเป็นเวทนา ไม่ใช่เห็นว่าฉันปวด คนเราเวลาปวดก็จะรู้สึกว่าฉันปวด ๆ แต่ที่จริงเมื่อเจริญสติก็จะเห็นว่า การปวดเป็นอาการปวด ไม่ใช่ฉันปวด เวลาโกรธก็เห็นว่ามีความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่ฉันโกรธ
.
ปฏิบัติธรรมไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเห็นสีหรือแสงข้างนอก ถ้าเป็นการภาวนาที่แท้จริงเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์ วิธีการก็คือเห็นกายและใจตามที่เป็นจริง ด้วยการเจริญสติ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดปัญญา ถ้าเราเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก ตาดู หูฟัง เมื่อเกิดโยนิโสมนสิการ ก็เกิดปัญญา
.
การปฏิบัติธรรมนั้นสามารถทำได้หลายวิธี มีรูปแบบการปฏิบัติ เช่น ตามลมหายใจ เดินจงกรม ยกมือเคลื่อนไหว ดูท้องพองยุบ หรือไม่มีรูปแบบก็ได้ เป็นการปฏิบัติที่กลืนกับชีวิตประจำวัน เป็นการเกี่ยวข้องโลกภายนอกอย่างมีสติ มีปัญญา ทั้งสองวิธีล้วนมีความสำคัญ บางคนไปเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมหมายถึงการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ตามลมหายใจ เท่านั้น ทำอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด
.
หลวงพ่อชาเล่าว่า ท่านเคยไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่กินรี หลวงพ่อชาตั้งใจปฏิบัติมาก เดินจงกรม และนั่งสมาธิทั้งวัน แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า หลวงปู่กินรีวัน ๆ ไม่ค่อยเดินจงกรม ไม่ค่อยนั่งสมาธิเลย ทำโน่นทำนี่ เกือบตลอดเวลา แล้วท่านจะเห็นอะไร แต่หลังจากที่ได้อยู่ปฏิบัติกับหลวงปู่นาน ๆ และได้ฟังธรรมอันลุ่มลึกจากท่าน หลวงพ่อชาก็รู้ว่าเป็นความเขลาของท่านเองที่คิดเช่นนั้น ท่านพูดถึงบทเรียนที่ท่านได้จากประสบการณ์ครั้งนั้นว่า
.
“เรามันคิดผิด หลวงปู่ท่านรู้อะไร ๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้น ๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึก แฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาเราเป็นไหน ๆ ตัวแท้ของการปฏิบัติคือความพากเพียร กำจัดอาสวกิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูบาอาจารย์เป็นเกณฑ์”
.
ท่านมาได้ตระหนักชัดอีกครั้งว่า การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ แต่อยู่ที่การวางใจให้ถูกต้อง ไม่ว่าทำอะไร ก็สามารถเป็นการภาวนาได้
.
คราวหนึ่งท่านนั่งปะชุนจีวรที่ขาดวิ่น ใจนั้นนึกถึงการภาวนาอยู่ตลอดเวลา อยากรีบปะชุนให้เสร็จเร็ว ๆ เพื่อจะได้ไปภาวนาต่อ ขณะนั้นเองหลวงปู่กินรีเดินผ่านมา สังเกตเห็นอาการของพระหนุ่ม จึงพูดขึ้นมาว่า
.
“ท่านชา จะรีบร้อนไปทำไมเล่า”
“ผมอยากให้เสร็จเร็ว ๆ ครับหลวงปู่”
“เสร็จแล้วท่านจะทำอะไรล่ะ”
“จะไปทำอันนั้นอีก”
“ถ้าเสร็จอันนั้นแล้ว ท่านจะทำอะไรอีกล่ะ”
“ผมก็จะทำอย่างอื่นอีก”
“เมื่อทำอย่างอื่นเสร็จแล้ว ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า”
.
เมื่อเห็นว่าใจของหลวงพ่อชาไม่ได้อยู่กับงานที่กำลังทำ แต่คิดถึงงานชิ้นอื่น ๆ ที่อยู่ข้างหน้า และรีบร้อนจะทำให้เสร็จไว ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไปภาวนาต่อ หลวงปู่กินรีจึงเตือนว่า
.
“ท่านชา ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้าผืนนี้ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองสิว่าเป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตนอีก”
.
คำพูดของหลวงปู่กินรีกระตุกใจของหลวงพ่อชาอย่างแรง ทำให้ท่านได้สติ และเกิดความเข้าใจชัดเจนว่า ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ภาวนาได้ทั้งนั้น ขอให้หมั่นดูใจของตนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม นี้เป็นบทเรียนที่ประทับใจท่านมาก และถือเป็นหลักปฏิบัติของท่านตลอดมา
.
เมื่อท่านไปตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่หนองป่าพง จึงทำให้มีกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง และมีเรื่องเล่าว่า ตอนนั้นหลวงพ่อชาอายุมากแล้ว มีเด็กหนุ่มมาถามท่านว่า

“ทำไมพระจึงไม่นั่งสมาธิ”

พอหลวงพ่อชาได้ฟังน้ำเสียงแล้วรู้ว่า ไม่ได้ถามเพราะต้องการคำตอบที่แท้จริง ท่านจึงตอบว่า

“นั่งอย่างเดียวมันถ่ายไม่ออกว่ะ จะนั่งอย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องปฏิบัติกับการทำงานด้วย” และท่านก็บอกว่า

“การปฏิบัติธรรมมันต้องมาดูกายและใจ”

ไม่ว่าทำอะไร ต้องให้รู้ทันกายและใจ ทำงานก่อสร้างก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้ อันนี้สำคัญมาก เดี๋ยวนี้นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากคิดอย่างเดียวว่า เวลาปฏิบัติธรรมจะต้องเข้าวัด จะต้องหลบลี้หนี้หน้าผู้คน โดยไม่คิดว่า การอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติธรรมได้
.
อยู่บนท้องถนน รถติดก็กำหนดลมหายใจไปด้วย หรือเวลาเจอไฟแดง หงุดหงิดขึ้นมาก็ปฏิบัติธรรมได้ ถามว่าเวลารถติดทำไมถึงหงุดหงิด นั่นก็เพราะใจมันไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว ใจมันอยู่ข้างหน้าแล้ว ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน จึงกลัวไปไม่ทัน กลัวไม่ทันประชุม เป็นต้น ดังนั้นให้พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน จะตามลมหายใจด้วยก็ได้

การปฏิบัติธรรมก็คือ ติดไฟแดงทำอย่างไรจะไม่หงุดหงิด ทำอย่างไรเวลาถูกต่อว่าจะไม่หงุดหงิด เวลาเสียเงินจะไม่โมโห เวลาเงินหายก็หายแต่เงิน แต่ใจไม่หาย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่าปฏิบัติธรรมแล้ว

ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล   


ที่มา : เพจ ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล

DT0003

Webmaster

11 ก.พ. 2560
 เปิดอ่านหน้านี้  5526 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย