รักษาบุญกุศลด้วยการภาวนา : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

 จำปาพร  

 พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

...

เมื่อเรานึกถึงว่าท่านผู้ใดเป็นผู้มีคุณแก่ตน เช่น มารดาบิดา
ครูบาอาจารย์ ลุงป้าน้าอาผู้ได้เลี้ยงดูช่วยพ่อแม่มา
ก็ชื่อว่า มีอุปการคุณ หรือพระราชามหากษัตริย์เจ้านาย
ผู้ได้ปกครองประเทศชาติบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขอะไรหมู่นี้นะ
ล้วนแต่เป็นผู้มีคุณต่อตนทั้งนั้น ดังนั้นการที่ตนได้สละเงินทองข้าวของ
ออกไปให้กับบุคลดังได้กล่าวนามมานี้ ชื่อว่า “ให้โดยบูชาพระคุณ”
ของท่านผู้มีอุปการะแก่ตน ทีนี้เมื่อการให้การบริจาคมีอย่างนั้นแล้ว
ความเบียดเบียนกันมันก็มีไม่ได้เลย


เมื่อเราแผ่เมตตาจิตไปทั่วในสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้วอย่างนี้นะ
มันจะไปฆ่าได้อย่างไงเล่า ในเมื่อจิตเรามีแต่ความปรารถนา
ที่จะให้สัตว์ทั้งหลายเป็นสุขทั่วหน้ากันน่ะ
มันก็เบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่นไม่ได้เลย ก็ชื่อว่าเป็น “ผู้มีศีล”
เมื่อมีศีลแล้วก็ที่จะรักษา “ทานวัตร ศีลวัตร”ต่างๆเหล่านั้น
ให้สม่ำเสมอไปได้ก็ต้องอาศัย “ภาวนา” ตามรักษาจิตของตน
ไม่ให้มันตกไปในทางบาปอกุศล


เมื่อตนทำใจให้สงบอย่างไรในเวลานั่งสมาธิภาวนาอยู่แล้วอย่างนี้นะ
เราก็ออกจากสมาธิภาวนามาแล้วก็พยายามมี “สติสัมปชัญญะ”
รักษาจิตที่ตั้งมั่นลงไว้นั้นให้มันตั้งมั่นต่อบุญต่อคุณทั้งหลาย
ดังกล่าวมาแล้วนั้นให้สม่ำเสมอไป
อันนี้เรียกว่า
เราบำเพ็ญกุศลให้ครบวงจรนะให้พึงเข้าใจ

เมื่อบำเพ็ญได้อย่างนี้นะ บุญกุศลที่บำเพ็ญมา
ก็ไม่สูญไม่หายไปไหนเลย เราทำมาเท่าไรก็จะมีอยู่เท่านั้น
แล้วก็ยังดึงดูดให้กระทำกุศลความดียิ่งๆขึ้นไป

เพราะว่ามันมีบุญกุศลที่เราสั่งสมมานั้นหนุนเนื่องจิตใจ
ให้พอใจในการบำเพ็ญบุญกุศลเรื่อยไปน่ะ
บุญกุศลหากดลบันดาลให้เราฉลาดให้เรามีปัญญา
รู้ว่าบุญที่เราทำมานี่ยังน้อยไป ยังไม่พอ ยังไม่เต็ม
มันหากบอกอยู่ในตัวนั่นแหละ อย่านอนใจ อย่าประมาท
นี่..ถ้าบุญเรามีจริงๆนะเราได้สั่งสมมามากจริง
บุญกุศลนี้ก็จะเตือนจิตไม่ให้ประมาท
ให้รีบเร่งสั่งสมบุญกุศลเรื่อยไปทีเดียว

ประกอบความเพียรไม่เห็นแก่หลับแก่นอนทั้งกลางวันกลางคืน
ยืนเดินนั่งนอนก็สำรวมตนอยู่ในกุศลคุณงามความดีเรื่อยไป

คุณงามความดีอย่างสูงขึ้นไปก็ได้แก่
"การสำรวมญาณความรู้" ที่เราบำเพ็ญให้เกิดให้มีนั้นไว้
อย่าให้มันเสื่อมเลย ญาณความรู้ที่มองเห็นธาตุสี่ขันธ์ห้า
ว่าเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” อันนี้

ก็สำรวมระวังรักษาญาณความรู้อันนี้ไว้ให้สม่ำเสมอไปเรื่อย
ก็ได้ชื่อว่า "รักษาบุญกุศลอย่างสูงไว้" เมื่อรักษาสูงไว้แล้ว
อย่างกลางอย่างต่ำนี้ก็ชื่อว่าได้รักษาไว้ได้หมดเลยทีเดียวน่ะ

ไม่สูญหายไปไหนแล้ว ขอให้พยายามรักษาญาณความรู้
ที่เราบำเพ็ญให้เกิดให้มีขึ้นในจิตใจของเรานี้ไว้ให้ได้
อย่าให้เสื่อม เพราะว่าญาณความรู้ในขั้นนี้นะ
มันก็ยังเป็น “โลกียธรรม” อยู่ ยังไม่เป็น “โลกุตตรธรรม” ก่อน
ต่อเมื่อได้บำเพ็ญญาณความรู้อันนี้มากๆเข้าไป
จนกลายเป็น “มรรคสมังคี” ได้แล้วอย่างนี้นะ
เมื่อนั้นแหละมันถึงจะละสังโยชน์
คือ กิเลสซึ่งมันข้องอยู่ในจิตใจนี้นะให้ขาดออกไปเลย


อย่างนั้นน่ะที่ท่านเรียกว่า

บำเพ็ญศีลก็จนเป็น “อธิศีล” เป็นศีลยิ่ง
บำเพ็ญสมาธิก็เป็น “อธิจิต” จิตยิ่ง จิตสงบ
จิตหนักแน่นต่อกุศลธรรมอย่างเดียวไม่คิดไปทางอกุศลเลย
“อธิปัญญา” ปัญญายิ่ง ปัญญาความรู้ความฉลาด
ในธรรมของจริงคือ “อริยสัจธรรมทั้งสี่” นี้นะ
ที่ท่านเรียกว่า อธิปัญญา ปัญญายิ่ง อันนี้แหละ


...

ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ
"อานุภาพแห่งศีล"  

5,578







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย