การโยนิโสมนสิการในบุญ-บาป : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

 จำปาพร    23 พ.ย. 2558

พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

...

สมาธิ แปลว่า ใจตั้งมั่น ตั้งมั่นต่ออะไรบัดนี้
ตั้งมั่นต่อบุญต่อคุณนั่นแหละ ไม่ใช่อย่างอื่นใดเพราะว่า
โลกอันนี้มันเป็น "โลกคู่" อย่างที่เคยพูดมาแล้ว
เมื่อบุญเกิดขึ้นที่ไหน บาปมันก็มักแทรกแซงขึ้นที่นั้น เป็นเช่นนั้น
ดังนั้นเมื่อบุคคลใดมาเกลียดต่อบาปแล้วอย่างนี้
ได้ทำกุศลให้เกิดขึ้นในใจแล้วก็ทำความพอใจยินดีในบุญในกุศลนั้น
ให้มั่นคงไป เมื่อเป็นเช่นนี้บาปมันก็แทรกแซงขึ้นไม่ได้
เพราะว่าจิตนั้นมันชอบบุญกุศลมากกว่าชอบบาป
อันบาปนั้นไม่ชอบเสียเลย

ธรรมดาผู้มีปัญญานะท่านจะไม่ชอบบาปนั้นเลย
จะชอบแต่บุญแต่กุศลแต่ความดีเท่านั้น
อันนี้ได้ชื่อว่า เป็นหลักธรรมอันหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
จะพึงกำหนดเอาไว้เป็นหลักแนวทางปฏิบัติ
เราต้องทำความพอใจในบุญในคุณนี้นะให้มากๆ
ต้องดำริตริตรองอยู่ในใจเสมอๆไป ถ้าหากว่าเราไม่กำหนด
ไม่มีโยนโสมนสิการหรือไม่หมั่นตริหมั่นตรองเช่นนี้
กำหนดไม่มีโยนิโสมนสิการ คือ ไม่หมั่นตริหมั่นตรองเช่นนี้
จิตใจนี่มันก็จะไม่ดูดดื่มในบุญในคุณอันนั้นให้มากขึ้นได้ เป็นอย่างนั้น
อยู่เฉยๆจะให้มันดูดดื่มไปเองน่ะไม่ได้ ในเมื่อเหตุผลต่างๆ
ไม่ปรากฏในใจแจ่มแจ้งเช่นนี้นั้นมันจะไม่ดูดดื่มได้จิตดวงนี้นะ ต้องให้เข้าใจ

เริ่มแต่ "การให้ทาน" นี้นะไป ถ้าไม่พิจารณาเรื่องทาน
เรื่องเหตุผลของการให้การบริจาคทานนี่ให้เห็นแจ่มแจ้งด้วยปัญญาแล้ว
มันจะไม่ดูดดื่มในทานการให้การบริจาคเลย ให้ก็ให้ไปตามประเพณีพอพรรค์นั้นแหละ
อันซึ่งมันจะพยายามทำบุญให้ทานให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้อย่างนี้นะ
เพื่อให้เป็นบุญบารมีของตนให้มากขึ้นโดยลำดับเช่นนี้ มันทำไม่ได้
ถ้าได้มองได้พิจารณาสอดส่องเห็นเหตุผลในเรื่องการให้การบริจาคทาน
ว่ามันมีประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น มันเป็นอุบายทำลายกิเลสบางสิ่งบางอย่าง
ให้ออกไปจากจิตใจได้จริงๆ อย่างนี้นะ เมื่อมันเห็นอย่างนี้แล้ว
มันก็ดูดดื่มในทานการให้การบริจาคนั้น ไม่มีเบื่อหน่ายเลย
ได้โอกาสเวลาไหนก็ทำบุญทำทานเวลานั้น เป็นอย่างนั้น

นอกจากให้วัตถุสิ่งของเป็นทานแล้วก็ "บำเพ็ญอภัยทาน" ให้เป็นไปพร้อมๆกัน
ก็เคยพูดมาบ่อยๆล่ะ เรื่องอภัยทานนี้ก็ดี จำเป็นก็ต้องพูดอีก
เพราะมันหลายคนฟัง ฟังไม่ทันกัน แต่ผู้ที่ฟังมาแล้วยังปฏิบัติไม่ได้ก็มี
เมื่อไม่พอใจกับบุคคลผู้ใดแล้วก็ผูกใจเจ็บอยู่ในบุคคลผู้นั้น
ยกโทษให้เพื่อนก็ไม่เป็น ทำความปรองดองสามัคคีกันก็ไม่ได้
เพราะมันถือมั่นในอารมณ์ที่ไม่พอใจต่อกันและกัน นี่อย่างนี้ก็ชื่อว่าไม่มีอภัยทานเลย
ผู้ที่มีอภัยทานแล้วถึงแม้จะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันเป็นบางครั้งบางคราว
เมื่อปรับความเข้าใจกันได้แล้วต้องอโหสิกรรมให้กันไป
ไม่ถือมั่นในความคิดความเห็นที่ล่วงแล้วมา เช่นนี้จึงเรียกว่า "อภัยทาน"
นี่ต้องเข้าใจ เมื่อมีอภัยทานอยู่อย่างนี้มันก็ไม่ได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันแหละคนเราน่ะ
ถ้าไม่มีอภัยทานนี้อยู่ในใจแล้วแน่นอนน่ะมันต้องเบียดเบียนซึ่งกันและกันแหละ

ดังนั้นพูดถึงเรื่องทานนี่มันก็นับว่าเป็นสิ่งที่ควรน่าสนใจไม่น้อยนี่
ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผินคล้ายๆกันกับว่า ไม่ยากลำบากอะไรการให้ทานนี้นะ
แต่ถ้าพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งเข้าไปแล้ว พระศาสดาจึงตรัสว่า
การให้การบริจาคทานนี่มันก็เหมือนอย่างตำรวจทหาร
ซึ่งยกขบวนกันไปต่อสู้กับข้าศึกที่ล่วงล้ำชายแดนมา
เอ ถ้าไปเห็นข้าศึกเข้าไปแล้วใจฝ่อเข้าไปเลย กลัวตายเข้าไปเลยอย่างนี้
มันก็สู้กับข้าศึกไม่ได้เลย เมื่อไปเห็นข้าศึกเข้าแล้วไม่กลัว
ใจกล้าหาญ เอ้า ตายเป็นตาย หน้าที่มันมีอย่างนี้เราน่ะ
เมื่อหน้าที่มีอย่างนี้เราก็ต้องสู้จนกว่าจะได้ชัยชนะ
เมื่อไม่ได้ชัยชนะมันตายก็แล้วไป ฉันใดข้อนี้
การให้การบริจาคทาน ถ้าบุคคลไปกลัวอด กลัวขาดแคลนปัจจัย
เครื่องอาศัยอยู่อย่างนั้นแล้วก็ให้ทานไม่ได้เลย
ถ้าคิดว่าเมื่อเราสละสิ่งนี้ให้ทานไปแล้วจะอดก็อดไป
ที่สุดมันจะตายก็ตายลงไป สละชีวิตลงไปอย่างนั้นแล้ว
ความโลภ ความตระหนี่ ความหวงแหนอันใดมันก็ถอนออกไปจากจิตใจ
ก็ให้ทานได้อย่างสบายใจบัดนี้ แต่ในที่นี้หมายเอาสิ่งที่สมควรจะให้ทานได้นะ
ไม่ได้สอนให้ว่า สมบัติมีเท่าใดให้จนหมด ไม่ได้หมายอย่างนั้น
เออ ต้องเข้าใจให้มันถูกต้อง

เมื่อมีอภัยทานอย่างนั้นมันก็มี "ศีล" ได้คนเราน่ะ
เพราะว่าไปเห็นสัตว์ที่ควรจะฆ่าก็ไม่ฆ่าเพราะสงสารมัน ให้อภัยมันไป
ไปเห็นทรัพย์สมบัติของเขาที่ควรจะฉวยเอา หยิบเอาไปก็ไม่เอา
สงสารเจ้าของเขา เมื่อเราเอาของเขาไปแล้วเขาไม่มีจะใช้สอย
เขาก็เป็นทุกข์เดือดร้อน ไปเห็นลูกเห็นเมียเห็นผัวของเขาสวยงาม
แทนที่จะแสดงมายาสาไถยหลอกลวงเอาเมียเขาผัวเขา
ไปเป็นเมียของเราเป็นผัวของเราก็ไม่เอา สงสารเขา
ถ้าเป็นผู้ชายก็สงสารผัวของเขา เอาเมียเขาไปน่ะ
ถ้าเป็นผู้หญิงก็สงสารเมียของเขา ถ้าเอาผัวเขาไปแล้ว
นี่ถ้ามันเกิดเมตตาสงสารขึ้นอย่างนี้น่ะมันก็ให้อภัยไปเลย ไม่ทำ

การที่จะไปตั้งเจตนากล่าวคำเท็จเพื่อหลอกลวงเอาสมบัติผู้อื่น
มาเป็นของตนในทางทุจริต เมื่อคิดเห็นว่า ถ้าเราไปหลอกลวง
เอาของเขามาอย่างนั้นแล้ว เขารู้เข้าภายหลังเขาก็เดือดร้อนใจ
เขารู้ว่าเราหลอกลวงฉ้อโกงเอาของเขาอย่างนี้นะ เขาก็เสียใจมาก
เขาก็เป็นทุกข์ นั่นแหละดังนั้นการหลอกลวงฉ้อโกงก็จัดอยู่ในการเบียดเบียน
เมื่อผู้มีอภัยทานแล้วจักทำไม่ได้เลย จะต้องพูดตรงไปตรงมา
เขาให้ก็เอา เขาไม่ให้ก็แล้วไป เขาขายให้ก็ซื้อเอา เขาไม่ขายแล้วก็แล้วไป
ไม่ต้องไปอิจฉาตาร้อนเขา


ทีนี้เมื่อมานึกถึงตัวของตัวเองเข้าไปว่า
การที่ได้อัตภาพร่างกายอันนี้มา ไม่ใช่ได้มาด้วยบาป
เพราะอวัยวะร่างกายที่ตนอาศัยอยู่นี้มันบริบูรณ์ทุกส่วนแล้ว
แสดงว่าได้มาด้วยบุญกุศล ไม่ใช่ได้มาด้วยบาป
เมื่อเป็นเช่นนี้การดื่มเหล้าเมาสุรากัญชา ยาฝิ่น เฮโรอีนหมู่นี้
พระศาสดาก็ตรัสว่า มันเป็นบาปด้วย เป็นที่ตั้งแห่งความประมาทด้วย
อย่างนี้ก็จึงไม่ควรพอใจยินดีในการดื่มเหล้าเมาสุรา กัญชา ยาฝิ่น เฮโรอีนนั้น
เพราะว่าสงสารตัวเอง เมตตาปรารถนาอยากให้ตนมีความสุข
ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามบาปเช่นนั้นมันถึงเว้นบัดนี้นะ
เว้นจากของเสพติดให้โทษต่างๆเหล่านั้นได้ นี่ลองพิจารณาดู
พุทธบัญญัติที่พระองค์เจ้าบัญญัติไว้มีเหตุผลอย่างนี้แหละ


...

ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ
"จับให้มั่น คั้นให้ตาย สบายเอย"    



DT017019

จำปาพร

23 พ.ย. 2558
 เปิดอ่านหน้านี้  5319 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย