อหิงสานิคคหปัญหา ๑๖

 dharma    2 มิ.ย. 2554

พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง บุคคลผู้นับถือพระรัตนตรัย
ว่าเป็นของเรา เที่ยวไปในโลกโดยไม่เบียดเบียน จักเป็นที่รักของชาวโลก ๑๗ เพราะเหตุไร
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พึงข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง ๑๘
อธิบายว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลผู้นับถือพระรัตนตรัยว่าเป็นของเรา เที่ยวไป
ในโลกโดยไม่เบียดเบียน จักเป็นที่รักของชาวโลก เป็นการอนุมัติของพระพุทธเจ้าทั้งปวง
พระวาจานั้นเป็นเครื่องพร่ำสอน เป็นเครื่องแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เพราะว่า
ธรรมมีความไม่เบียดเบียนเป็นลักษณะ แต่พระองค์ตรัสว่า พึงข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่
ควรยกย่อง เป็นเครื่องกล่าวตามสภาพความเป็นเองของบุคคลหรือสิ่งที่พึงข่มและยกย่อง เช่น
จิตที่ฟุ้งซ่านควรข่ม จิตที่หดหู่ควรประคอง บุคคลผู้ปฏิบัติผิดควรข่ม ผู้ปฏิบัติชอบควรยกย่อง
บุคคลผู้ไม่ใช่อริยะควรข่ม ผู้ที่เป็นอริยะควรยกย่อง เปรียบเหมือนโจรเมื่อถูกจับได้พึงถูก
ลงโทษหลายสถาน มีการปรับสินไหม การเนรเทศ หรือการประหารชีวิต เป็นต้น ก็การ
ประหารชีวิต ไม่ได้เป็นการอนุมัติของพระพุทธเจ้า แต่เป็นโทษของความผิดที่ตนกระทำไว้
อิทธิยากัมมวิปากพลวตรปัญหา ๑๙ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง พระมหา
โมคคัลลานเถระได้รับยกย่องว่า เป็นผู้มีเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านมีฤทธิ์มาก ๒๐
เพราะเหตุไร ท่านจึงถูกพวกโจรทุบตีจนทำให้ท่านต้องปรินิพพาน
อธิบายว่า การปรินิพพานของพระมหาโมคคัลลานเถระ ด้วยการถูกพวกโจรทุบตี
ด้วยตะบอง เพราะถูกกรรมเก่าเข้าครอบงำและให้ผล อนึ่ง วิสัยแห่งฤทธิ์ของบุคคลผู้มีฤทธิ์
และวิบากแห่งกรรมย่อมเป็นอจินไตย คือ เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด แม้ทั้งสองอย่างนั้นเป็นอจินไตย
เหมือนกัน แต่ก็ไม่สามารถลบล้างกันได้ เพราะวิบากแห่งกรรมมีมาตรายิ่งกว่า มีกำลังมากกว่า
เหมือนพระราชาในแผ่นดินมีชาติเสมอกัน บรรดาพระราชาที่มีชาติเสมอกันเหล่านั้น
พระราชาองค์หนึ่งสามารถแผ่ขยายพระราชอำนาจออกไปข่มพระราชาทั้งหลายไว้ได้บรรดา
อจินไตยทั้ง ๔ ประการ ๒๑ กรรมวิบากอย่างเดียวเท่านั้น มีมาตรายิ่งกว่า มีกำลังมากกว่า เพราะ
สามารถยังอาชญาให้เป็นไปข่มอจินไตยทั้งหลายไว้ได้ทำให้อจินไตยนอกนั้นไม่ได้โอกาสที่
จะให้ผลแก่บุคคลผู้ที่ถูกกรรมครอบงำแล้ว
เมตตานิสังสปัญหา ๒๒ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง เมตตาที่เป็นเจโตวิมุติที่บุคคล
ให้เจริญ กระทำให้มาก ย่อมมีอานิสงส์๑๑ ประการ ๒๓ เพราะเหตุไร พระสุวรรณสาม ๒๔
ผู้เจริญเมตตาอยู่เป็นประจำจึงถูกพระยาปิลยักษ์ยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ
อธิบายว่า อานิสงส์ทั้งหลาย เป็นคุณของเมตตาภาวนา คือ การทำให้เมตตาเจริญ
ขึ้นในตนเอง พระสุวรรณสามแบกหม้อน้ำไปในขณะนั้น เป็นผู้ประมาทในเมตตาภาวนา
ไม่ได้เจริญเมตตาให้เกิดขึ้น จึงถูกพระยาปิลยักษ์ยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ก็บุคคลผู้เจริญเมตตา
ในขณะใด เพลิง ยาพิษ หรือศัสตราวุธ ย่อมไม่สามารถที่จะตกลงไปในกายของเขาได้ใน
ขณะนั้น บุคคลผู้ประสงค์จะทำลาย หรือก่อความเสียหายแก่บุคคลผู้เจริญเมตตาภาวนา เมื่อ
เข้าไปใกล้แล้ว ย่อมมองไม่เห็น หรือไม่ได้โอกาส เพราะฉะนั้น อานิสงส์ทั้งหลายจึงมิใช่เป็น
คุณของบุคคล แต่เป็นคุณของเมตตาภาวนา ก็เมตตาภาวนานี้เป็นเครื่องห้ามบาปทั้งปวง
สามารถนำกุศลและคุณทั้งปวงมาให้แก่บุคคลผู้เกื้อกูลบ้าง ผู้ไม่เกื้อกูลบ้าง เมตตาภาวนา
มีอานิสงส์มากแก่สัตว์ทั้งหลาย จึงควรส้องเสพไว้ในใจเนืองนิตย์
ฆฏิการปัญหา ๒๕ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง เรือนของช่างหม้อชื่อฆฏิการ
มีอากาศเป็นหลังคาตลอด ๓ เดือน แต่ฝนก็ไม่รั่ว ๒๖ เพราะเหตุไร กุฎีของพระกัสสปพุทธเจ้า
ฝนจึงรั่ว
อธิบายว่า นายช่างหม้อชื่อฆฏิการเป็นคนมีศีลมีธรรมอันงาม เลี้ยงดูมารดาและบิดา
ผู้แก่เฒ่าและตาบอด คนทั้งหลายนำหญ้าในเรือนของนายช่างไปมุงกุฎีของพระกัสสป
พุทธเจ้าโดยมิได้บอกกล่าวเขาก่อน แทนที่เขาจะโกรธหรือเสียใจ กลับได้ปีติอันไม่หวั่นไหว
ตั้งมั่นด้วยดีแล้ว สรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้ามากมายหลายประการ จึงทำให้ฝนไม่รั่ว
หลังคาของเขา เพราะวิบากอันเป็นไปในทิฏฐธรรมนั่นเอง ส่วนกุฎีของพระกัสสปพุทธเจ้าฝน
รั่วได้ ก็ด้วยความอนุเคราะห์ชนหมู่มาก ธรรมดาพระพุทธเจ้าเมื่อพิจารณาเห็นอำนาจ
ประโยชน์๒ ประการ คือ
(๑) พระศาสดาทรงเป็นทักขิไณยบุคคลอันเลิศ เทวดาและมนุษย์ถวายปัจจัยแด่
พระองค์จะพ้นจากทุคติทั้งปวง
(๒) บุคคลอย่าพึงติเตียนว่า พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหาริย์เพื่อแสวงหาเครื่อง
เลี้ยงชีพ
เพราะฉะนั้น พระองค์จึงไม่ทรงส้องเสพปัจจัยที่ทรงนิรมิตด้วยพระองค์เอง
หากท้าวสักกะ หรือพรหม หรือแม้แต่พระองค์เอง พึงใช้ปาฏิหาริย์เพื่อกระทำกุฎีไม่ให้ฝนรั่ว
การกระทำเช่นนั้นก็จะเป็นสาวัชชะ มีโทษอันบุคคลพึงข่มขี่ว่า พระพุทธเจ้ากระทำกรรมอัน
หยาบ ยังชาวโลกให้หลงใหล กระทำกรรมที่บุคคลทั่วไปกระทำกันอยู่แล้ว เพราะเหตุนั้น
กรรมนั้นจึงควรเว้น พระพุทธเจ้าย่อมไม่ขอสิ่งของ จึงไม่ควรถูกบริภาษในเพราะการไม่ขอ
สิ่งของ
กุสลากุสลานังพลวาพลวปัญหา ๒๗ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง วิบากของกุศล
กรรมต่างจากอกุศลกรรม คือ กุศลกรรมมีวิบากเป็นสุข ส่วนอกุศลกรรมมีวิบากเป็นทุกข์
เพราะเหตุไร พระเทวทัตผู้กระทำแต่อกุศลกรรมโดยส่วนเดียว กลับเป็นผู้เสมอกันกับพระ
โพธิสัตว์และในบางภพกลับเป็นผู้ยิ่งกว่าพระโพธิสัตว์เสียอีก
อธิบายว่า อกุศลกรรมบางอย่างย่อมให้ผลในปัจจุบัน ส่วนบุคคลผู้ทำกุศลกรรม
บางคนก็ได้รับผลในปัจจุบัน บางคนก็ได้รับผลในภพต่อ ๆ ไป คือ ยังไม่ได้รับผลทันตาเห็น
ความดีให้ผลช้าเพราะมีสภาพใหญ่ส่วนความชั่วให้ผลเร็วเพราะมีสภาพเล็กน้อย เปรียบ
เหมือนการปลูกข้าวเบาหว่านลงในนา ใช้เวลาประมาณ ๒ - ๓ เดือน ก็ได้รับผล ส่วนการปลูก
ข้าวชั้นดีจะต้องใช้เวลาถึง ๑๐ เดือน หรือ ๑ ปี จึงจะได้รับผล
เปตอุททิสสผลปัญหา ๒๘ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ทายกทำทานอุทิศให้แก่
ญาติผู้วายชนม์ ญาติจะได้รับผลของทานอุทิศหรือไม่
อธิบายว่า เมื่อทายกทำทานอุทิศให้แก่ญาติผู้วายชนม์บางพวกก็ได้รับ แต่บางพวก
ก็ไม่ได้รับ สัตว์ผู้เกิดในนรก ผู้ไปสู่สวรรค์ ผู้ไปในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ย่อมไม่ได้รับผล
ทาน ๒๙ บรรดาเปรตทั้ง ๔ จำพวก เปรต ๓ จำพวก คือ วันตาสิกเปรต ๓๐ ขุปปิปาสิกเปรต ๓๑
นิชฌามตัณหิกเปรต ๓๒ ก็ไม่ได้รับผลทานเหมือนกัน ส่วนปรทัตตูปชีวีเปรต ๓๓ จำพวกเดียว
เท่านั้น เมื่อระลึกถึงอยู่ย่อมได้รับผลทาน อนึ่ง ทานที่ทายกอุทิศไปให้แก่ญาติผู้วายชนม์
แม้พวกเขาจะไม่ได้รับ แต่ทานนั้นก็จะไม่ถือว่าเป็นของไม่มีผลไม่มีวิบาก เพราะทายกย่อม
เป็นผู้เสวยผลทานโดยแท้เปรียบเหมือนบุคคลจัดสำรับข้าวปลาอาหารและของควรเคี้ยว
นำไปสู่ตระกูลญาติแม้ญาติจะไม่รับของฝากที่นำไปให้ ของฝากก็ไม่ไร้ผลและไม่เสียหาย
ยังคงเป็นของเจ้าของนั่นเอง
กุสลากุสลานังมหันตามหันตภาวปัญหา ๓๔ พระนาคเสนตอบคำถามเรื่อง ทายกให้
ทานและอุทิศผลทานไปให้ญาติผู้วายชนม์ พวกญาติย่อมได้เสวยผลทานที่อุทิศไปให้
ถ้าบุคคลผู้กระทำปาณาติบาต มีความโลภ มีใจโหดร้าย มีความดำริในใจอันโทษประทุษร้าย
แล้ว ฆ่ามนุษย์กระทำกรรมชั่วร้ายแล้ว อุทิศผลกรรมที่ตนทำไปให้ญาติผู้วายชนม์พวกญาติ
จะได้รับผลกรรมชั่วหรือไม่
อธิบายว่า ญาติผู้วายชนม์ย่อมไม่ได้รับผลกรรมชั่วร้าย ที่บุคคลกระทำแล้วอุทิศไป
ให้ก็บาปกรรมไม่อาจแบ่งปันให้แก่คนผู้ไม่ได้กระทำด้วยตัวเอง ส่วนบุคคลผู้ไม่มีบาปกรรม
มีอณูเป็นประมาณ เปรียบเหมือนบุคคลนำน้ำไปด้วยอุปกรณ์เครื่องนำน้ำ ก็ทำให้น้ำสามารถ
ไปสู่ที่ไกล ส่วนภูเขาศิลาแท่งทึบใคร ๆ ไม่สามารถจะนำไปตามความต้องการด้วยอุปกรณ์
เครื่องนำไป เพราะฉะนั้น กุศลจึงอาจแบ่งปันให้แก่กันได้ ส่วนอกุศลไม่อาจแบ่งปันได้
อีกอย่างหนึ่ง อกุศลเป็นของเล็กน้อย ส่วนกุศลเป็นของมาก เพราะความที่อกุศลเป็นของน้อย
จึงครอบงำแต่ผู้กระทำเพียงผู้เดียว และเพราะความที่กุศลเป็นของมาก จึงครอบคลุมโลก
พร้อมทั้งเทวโลกไว้ได้
จากการศึกษาพบว่า พระนาคเสนตอบปัญหาเรื่องบุญและบาปในมิลินทปัญหา
เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า ชีวิตของแต่ละบุคคลที่เกิดมา ดำรงอยู่ได้เพราะอำนาจแห่งบุญ
กุศลและบาปกรรมที่ตนสั่งสมไว้ซึ่งทำให้ชีวิต จิตใจ ร่างกายของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน
เพราะฉะนั้น บุคคลจะเกิดความเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงต้องมีความเข้าใจใน
เรื่องของกรรม กฎแห่งกรรม และกรรมวิบาก เป็นเบื้องต้น ถ้ามีความเข้าใจในเรื่องของความดี
และความชั่วอย่างถูกต้อง ก็สามารถที่จะจำแนกถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เพราะบุญกับ
บาปที่ตนกระทำลงไปย่อมให้ผลต่างกัน แม้กำลังของบุญและบาปก็ยังมีกำลังต่างกัน คือ
บุญย่อมมีกำลังมากกว่าบาป เพราะทำให้บุคคลมีความเอิบอาบในจิตใจ
แม้พระพุทธเจ้าจะทรงสรรเสริญการปฏิบัติบูชามากกว่าอามิสบูชา แต่การบูชาทั้ง
สองอย่าง หาเป็นสิ่งไร้ค่าแก่ผู้ปฏิบัติไม่ ปฏิบัติบูชาย่อมควรแก่บรรพชิตผู้ปรารถนาความหลุด
พ้นเพื่อบรรลุพระอรหันต์ ส่วนอามิสบูชาย่อมควรแก่คฤหัสถ์ผู้หวังความสุขกายสบายใจใน
ดำรงชีวิตอยู่ และการบำเพ็ญบุญกุศลของคฤหัสถ์ก็เพื่อเป็นการอนุเคราะห์บรรพชิต   


ที่มา : พระมหาสายเพชร วชิรเวที(หงษ์แพงจิตร)

DT011129

dharma

2 มิ.ย. 2554
 เปิดอ่านหน้านี้  5298 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย