เปลี่ยนกระแสความอยากให้เปลี่ยนช่องจากช่องตัณหาให้เป็นช่องฉันทะให้มากขึ้น ให้มีความอยากทำหน้าที่ อยากทำงาน อยากทำสิ่งที่ดีงามในสังคม เมื่อมีความอยากแบบนี้เพิ่มมากขึ้น ความคิดและความต้องการในทางที่เป็นบาปเป็นอกุศลก็จะน้อยลง


พุทธศาสนาไม่ได้ตำหนิและไม่ได้วิจารณ์ความอยาก ความอยากนั้นมี ๒ ประเภท ความอยากที่เป็นกุศลและความอยากที่เป็นอกุศล ความอยากที่เป็นอกุศลเกิดจากอวิชชา ความไม่รู้ไม่เข้าใจสิ่งใดก็ตามหรือความเข้าใจผิดในสิ่งนั้น ซึ่งจะนำไปสู่ความอยาก อยากได้ อยากมี อยากเป็น ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ความอยากที่เกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจหรือรู้ผิดเข้าใจผิดนั้นเรียกว่าตัณหา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เป็นสิ่งที่ต้องละ แต่ในทางตรงกันข้าม เรื่องใดก็ตามที่เรารู้เห็นตามความเป็นจริงและเข้าใจในสิ่งนั้นถูกต้องแล้วเกิดความอยาก นี่เรียกว่า ฉันทะ ซึ่งพระพุทธองค์ไม่ทรงตำหนิ ไม่ทรงสอนให้เราละ หากทรงว่าเป็นส่วนประกอบของชีวิตที่ดีงาม พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องฉันทสัมปทา ถึงพร้อมด้วยฉันทะความพอใจ เรามีกิจหน้าที่ใด เราต้องใช้ความฉลาดให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อหน้าที่ของเรา เราเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูกเป็นหลาน เราก็มีหน้าที่ มีภาระ แต่คำว่าภาระนั้นมันก็แฝงอยู่ในความรู้สึกที่ไม่ค่อยจะดี ถ้าเราสามารถเปลี่ยนมุมมองให้การรับภาระเป็นการทำหน้าที่ ความพอใจก็จะเกิดขึ้นทันที มีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ สามสี่เดือนที่ผ่านมานี้เมืองไทยประสบปัญหามากมาย เรื่องอุทกภัย เรื่องน้ำท่วมนั้น มีคนไทยจำนวนมากที่มีฉันทะ มีความต้องการอยากจะช่วยเหลือเพื่อนคนไทยที่กำลังเป็นทุกข์ เดือดร้อนใจเพราะน้ำท่วม ความอยากเช่นนี้ไม่ผิดหลักพุทธศาสนา และคนเข้าวัดส่วนมากก็เป็นผู้นำในเรื่องนี้

การที่จะปล่อยวางตัณหาหรือความอยากในชีวิตคฤหัสถ์ลงทีเดียวเป็นไปได้ยาก แม้แต่พระก็ทำได้ยาก มีวิธีหนึ่งที่เหมาะสม และเป็นหนทางที่ไม่ฝืนจนเกินไป คือเปลี่ยนกระแสความอยากให้เปลี่ยนช่องจากช่องตัณหาให้เป็นช่องฉันทะให้มากขึ้น ให้มีความอยากทำหน้าที่ อยากทำงาน อยากทำสิ่งที่ดีงามในสังคม เมื่อมีความอยากแบบนี้เพิ่มมากขึ้น ความคิดและความต้องการในทางที่เป็นบาปเป็นอกุศลก็จะน้อยลง เพราะความมุ่งมั่น ความใคร่จะทำ และความต้องการของเราหันเหไปในทางที่ดีงามมากขึ้น เพราะความอยากเป็นพลังอย่างหนึ่ง เราจึงไม่ควรจะเก็บกดพลังนั้นไว้ แต่สมควรใช้ไปในทางสร้างสรรค์ แทนที่จะใช้ไปในทางที่ทำให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ทั้งของตนเองและคนอื่น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

พระอาจารย์ชยสาโร

3,127







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย