ผู้ที่จะรับผิดชอบต่อสังคม ก็ต้องทำตนให้เป็นผู้พร้อมที่จะรับผิดชอบเสียก่อน


สิ่งที่พบเห็นบ่อยที่สุดอย่างหนึ่งในสมัยปัจจุบัน คือ การตำหนิติเตียนทัศนะที่ขัดแย้งตลอดจนถึงการโจมตี จากบุคคลต่อบุคคล หรือต่อคนอีกพวกหนึ่ง หรือต่อสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ การตำหนิและการแสดงทัศนะเหล่านี้ เมื่อเกิดจากความหวังดีเป็นการเตือนสติ เสนอแนะ แนะนำชี้ช่องทางให้ ตลอดถึงทำให้สำนึกโดยต้องให้มีการปรับปรุง ทำให้ดีขึ้น ย่อมเป็นประโยชน์และมีส่วนดีอยู่มาก แต่ถ้าจะให้ดีจริง เป็นประโยชน์ และเกิดผลสำเร็จจริง ควรจะมีความเอาจริงเอาจังกับปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้งและแน่วแน่ในใจจริงไม่ใช่เพียงการโวยวายชั่วผ่านเผินหรือพ้นตา
...

การติเตียนโจมตีประเภทนี้ เป็นภาพและเสียงชินหูชินตาในชีวิตประจำวัน จนดูเหมือนทุกคนเป็นเจ้าทุกข์ มีคนอื่นสิ่งอื่นสถาบันอื่นเป็นจำเลยเรื่อยไป เมื่อทุกคนเป็นเจ้าทุกข์ ผู้อื่นที่เป็นจำเลยจึงหาตัวไม่ได้ การลงมือทำหรือลงมือแก้ไขจึงไม่มี การกระทำอย่างนี้ก็คือการเกี่ยงกัน และการซัดทอดกัน ซึ่งแสดงว่าสังคมนั้นประกอบด้วยผู้ไม่มีความสำนึกในความรับผิดชอบทั้งสิ้น หรือไม่ก็เป็นสังคมของคนใจแคบที่ทุกคนไม่มีใครยอมทำก่อน เพราะกลัวตนเองจะเสียเปรียบ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่น่าละอาย ความจริงทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในปัญหาทุกอย่างที่กระทบกระเทือนสังคม หรืออาจพูดได้ว่าทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในการทำให้ปัญหาแต่ละอย่างนั้นเกิดขึ้น ตามระดับและอัตราที่สัมพันธ์ใกล้หรือห่าง ตรงหรืออ้อมของแต่ละคนๆ ความจริงจังที่ต้องการในเรื่องนี้ก็คือการคิด สำรวจความรับผิดชอบนั้น
...

เพราะผู้ที่จะรับผิดชอบต่อสังคม ก็ต้องทำตนให้เป็นผู้พร้อมที่จะรับผิดชอบเสียก่อน

หนังสือ อุดมคติของคนหนุ่มสาว
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

3,173







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย