ตัณหาคือความอยากเสพ ส่วนฉันทะคือความอยากสร้าง




ตามความจริงนั้นความอยากมี ๒ อย่าง คือ ความอยากที่ชอบธรรมกับความอยากที่ไม่ชอบธรรม หรือจะเรียกว่าความอยากที่เป็นกุศลกับความอยากที่เป็นอกุศล ซึ่งทางธรรมะมีศัพท์เฉพาะ แต่เรามักเข้าใจอย่างเดียวกันว่าความอยากนี้เป็นตัณหา ฉะนั้นเราก็เลยพยายามเลี่ยงว่าฉันเป็นคนไม่มีตัณหา หรือลดตัณหาแล้ว ละตัณหาแล้ว หมดตัณหาแล้ว พยายามแสดงว่าฉันเป็นคนไม่มีความอยาก โดยลืมไปว่าความอยากที่ดีก็มี แล้วก็เลยลืมศัพท์คำนี้ไป หรือไม่ลืมแต่ว่าไม่มอง ไม่เอามาใช้ มองข้ามไปเสีย ความอยากอีกอันหนึ่งที่เป็นกุศล คือ ฉันทะ ซึ่งเป็นคู่กัน เมื่อมองตัณหาแล้ว ต้องมองฉันทะคู่กันไปเสมอ แล้วก็รู้จักพิจารณาว่าจะใช้อันไหน ถ้าจะใช้ตัณหาก็อาจจะเอามาเร้าในการสร้างสรรค์ความเจริญได้บ้าง โดยใช้เป็นอุบาย คือ เป็นการใช้กุศลมาเร้ากุศล ซึ่งมีผลข้างเคียงในทางร้ายด้วย

ทีนี้ถ้าจะใช้ให้ถูกต้องจริง ๆ ก็ต้องสร้างฉันทะขึ้นมา ฉันทะคือความอยาก ความต้องการที่จะทำให้ดี ความอยากในทางสร้างสรรค์ ความอยากที่จะรู้ให้เท่าถึงความจริง นี่คือ ฉันทะ ซึ่งประกอบด้วยปัญญาที่รู้คิดรู้พิจารณาว่า อะไรดี อะไรถูกต้อง แต่ก็เป็นความอยากอย่างหนึ่งเหมือนกัน อาตมภาพอยากจะใช้คำสั้น ๆ ว่า ตัณหาคือความอยากเสพ ส่วนฉันทะคือความอยากสร้าง

หนังสือ จริยธรรมสำหรับคนรุ่นใหม่
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)   




 2,778 


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย