พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด มิจฉาญาณ - มิตตปฏิรูป

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


มิจฉาญาณ - มิตตปฏิรูป

มิจฉาญาณ รู้ผิด เช่น ความรู้ในการคิดอุบายทำความชั่วให้สำเร็จ

มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด, ความเห็นที่ผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี มารดาบิดาไม่มี เป็นต้น และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ (พจนานุกรม เขียน มิจฉาทิฐิ)

มิจฉาวณิชชา การค้าขายไม่ชอบธรรม, การค้าขายที่ผิดศีลธรรม หมายถึงอกรณียวณิชชา (การค้าขายที่อุบาสกไม่ควรทำ) ๕ อย่าง คือ ๑. สัตถวณิชชา ค้าอาวุธ ๒. สัตตวณิชชา ค้ามนุษย์ ๓. มังสวณิชชา ค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร ๔. มัชชวณิชชา ค้าของเมา ๕. วิสวณิชชา ค้ายาพิษ

มิจฉาวาจา วาจาผิด, เจรจาผิด ได้แก่ ๑. มุสาวาท พูดปด ๒. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด ๓. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ๔. สัมผัปปลาป พูดเพ้อเจ้อ

มิจฉาวายามะ พยายามผิด ได้แก่พยายามทำบาป พยายามทำอกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เป็นต้น

มิจฉาวิมุตติ พ้นผิด เช่น การระงับกิเลสบาปธรรมได้ชั่วคราว เพราะกลัวอำนาจพระเจ้าผู้สร้างโลก การระงับกิเลสนั้นดี แต่การระงับเพราะกลัวอำนาจพระเจ้าสร้างโลกนั้นผิดทาง ไม่ทำให้พ้นทุกข์ได้จริง

มิจฉาสติ ระลึกผิด ได้แก่ระลึกถึงการอันจะยั่วให้เกิดราคะ โทสะ โมหะ

มิจฉาสมาธิ ตั้งใจผิด ได้แก่จดจ่อ ปักใจแน่วในกามราคะ ในพยาบาท เป็นต้น

มิจฉาสังกัปปะ ดำริผิด ได้แก่ดำริแส่ไปในกาม ดำริพยาบาท ดำริเบียดเบียนเขา

มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพผิด ได้แก่หาเลี้ยงชีพในทางทุจริตผิดวินัยหรือผิดศีลธรรม เช่น หลอกลวงเขา เป็นต้น

มิตตปฏิรูป คนเทียมมิตร, มิตรเทียมไม่ใช่มิตรแท้ มี ๔ พวก ได้แก่
๑. คนปอกลอก มีลักษณะ ๔ คือ ๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๒. ยอมเสียน้อยโดยหวังจะเอาให้มาก ๓. ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน ๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว
๒. คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔ คือ ๑. ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย ๒. ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย ๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๔. เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง
๓. คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔ คือ ๑. จะทำชั่วก็เออออ ๒. จะทำดีก็เออออ ๓. ต่อหน้าสรรเสริญ ๔. ลับหลังนินทา
๔. คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔ คือ ๑. คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา ๒. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน ๓. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น ๔. คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย