พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด มหาบริจาค - มหาบุรุษลักษณะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


มหาบริจาค - มหาบุรุษลักษณะ

มหาบริจาค การสละอย่างใหญ่ของพระโพธิสัตว์ตามที่อรรถกถาแสดงไว้มี ๕ อย่างคือ ๑. ธนบริจาค สละทรัพย์สมบัติเป็นทาน ๒. อังคบริจาค สละอวัยวะเป็นทาน ๓. ชีวิตบริจาค สละชีวิตเป็นทาน ๔. บุตรบริจาค สละลูกเป็นทาน ๕. ทารบริจาค สละเมียเป็นทาน

มหาบันถก ดู มหาปันถกะ

มหาบุรุษ บุรุษผู้ยิ่งใหญ่, คนที่ควรบูชา, ผู้มีมหาบุรุษลักษณะ เป็นคำใช้เรียกพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้

มหาบุรุษลักษณะ ลักษณะของมหาบุรุษมี ๓๒ ประการ มาในมหาปทานสูตร แห่งทีฆนิกาย มหาวรรค และลักขณสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก โดยย่อ คือ
๑. สุปติฏฐิตปาโท ที่ฝ่าพระบาทราบเสมอกัน
๒. เหฏฺฐาปาทตเลสุ จกฺกานิ ชาตานิ ลายพื้นพระบาทเป็นจักร
๓. อายตปณฺหิ มีส้นพระบาทยาว (ถ้าแบ่ง ๔, พระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ ๓)
๔. ทีฆงฺคุลิ มีนิ้วยาวเรียว (หมายถึงนิ้วพระหัตถ์และพระบาทด้วย)
๕. มุทุตลนหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม
๖. ชาลหตฺถปาโท ผ่าพระหัตถ์และฝ่าบาทมีลายดุจตาข่าย
๗. อุสฺสงฺขปาโท มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำอัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน
๘. เอฌิชงฺโฆ พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
๙. ฐิตโก ว อโนนมนฺโต อุโภหิ ปาณิตเลหิชณฺณุกานิ ปรามสติ เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองลูบจับถึงพระชานุ
๑๐. โกโสหิตวตฺถคุยฺโห มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก
๑๑. สุวณฺณวณฺโณ มีฉวีวรรณดุจสีทอง
๑๒. สุขุมจฺฉวิ พระฉวีละเอียด ธุลีละอองไม่ติดพระกาย
๑๓. เอเกกโลโม มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้น ๆ
๑๔. อุทฺธคฺคโลโม เส้นพระโลมาดำสนิทเวียนเป็นทักษิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน
๑๕. พฺรหฺมุชุคตฺโต พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม
๑๖. สตฺตุสฺสโท มีพระมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือหลังพระหัตถ์ทั้ง ๒, และหลังพระบาททั้ง ๒, พระอังสาทั้ง ๒. กับลำพระศอ)
๑๗. สีหปุพฺพฑฺฒกาโย มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์
๑๘. ปีตนฺตรํโส พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน
๑๙. นิโคฺรธปริมณฺฑโล ส่วนพระกายเป็นปริมณฑล ดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (พระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์)
๒๐. สมวฏฺฏกฺขนฺโธ มีลำพระศอกลมงามเสมอตลอด
๒๑. รสคฺคสคฺคี มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี
๒๒. สีหหนุ มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์)
๒๓. จตฺตาฬีสทนฺโต มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่)
๒๔. สมทนฺโต พระทนต์เรียบเสมอกัน
๒๕. อวิวรทนฺโต พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง
๒๖. สุสุกฺกทาโฐ เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธิ์
๒๗. ปหูตชิวฺโห พระชิวหาอ่อนและยาว (อาจแผ่ปกพระนลาฏได้)
๒๘. พฺรหมฺสโร กรวิกภาณี พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก
๒๙. อภินีลเนตฺโต พระเนตรดำสนิท
๓๐. โคปขุโม ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
๓๑. อุณฺณา ภมุกนฺตเร ชาตา มีอุณาโลมระหว่างพระโขนง เวียนขวาเป็นทักษิณาวัฏ
๓๒. อุณฺหิสสีโส มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย