พจนานุกรมพุทธศาสน์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา

หมวด ขจร - โขมทุสสนิคม


ขจร - โขมทุสสนิคม

ขจร ฟุ้งไป, ไปในอากาศ

ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ, สมาธิขั้นต้นพอสำหรับใช้ในการเล่าเรียนทำการงานให้ได้ผลดี ให้จิตใจสงบสบายได้พักชั่ว
คราว และใช้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนาได้ (ขั้นต่อไป คือ อุปจารสมาธิ)

ขณิกาปีติ ความอิ่มใจชั่วขณะ เมื่อเกิดขึ้นทำให้รู้สึกเสียวแปลบๆ เป็นขณะๆ เหมือนฟ้าแลบ (ปีติ ๕ ข้อ ๒)

ขนบ แบบอย่างที่ภิกษุควรประพฤติในกาลนั้น ๆ ในที่นั้น ๆ แก่บุคคลนั้น ๆ

ขนบธรรมเนียม แบบอย่างที่นิยมกัน

ขนาบ กระหนาบ

ขมา ความอดโทษ, การยกโทษให้

ขรรค์ อาวุธมีคม ๒ ข้าง ที่กลางทั้งหน้าและหลังเป็นสัน ด้ามสั้น

ขราพาธ อาพาธหนัก, ป่วยหนัก

ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งผู้ถือ ห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลัง คือ เมื่อลงมือฉันแล้วมีผู้นำอาหารมาถวายอีกก็ไม่
รับ (ธุดงค์ข้อ ๗)

ของต้องพิกัด ของเข้ากำหนดที่จะต้องเสียภาษี

ขอนิสัย ดู นิสัย

ขอโอกาส ดู โอกาส

ขัชชภาชกะ ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้มีหน้าที่แจกของเคี้ยว

ขัณฑ์ ตอน, ท่อน, ส่วน, ชิ้น, จีวรมีขัณฑ์ ๕ ก็คือมี ๕ ชิ้น

ขัณฑสีมา สีมาเล็กผูกเฉพาะโรงอุโบสถที่อยู่ในมหาสีมา มีสีมันตริกคั่น

ขัดบัลลังก์ ดู บัลลังก์

ขัตติยธรรม หลักธรรมสำหรับกษัตริย์, ธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน

ขัตติยมหาสาล กษัตริย์ผู้มั่งคั่ง

ขันติ ความอดทน คือ ทนลำบาก ทนตรากตรำ ทนเจ็บใจ, ความหนักเอาเบาสู้ เพื่อบรรลุจุดหมายที่ดีงาม

ขันธ์ กอง, พวก, หมวด, หมู่, ลำตัว; หมวดหนึ่ง ๆ ของรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดที่แบ่งออกเป็นห้ากอง คือ รูปขันธ์
กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เรียกรวมว่า
เบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕)

ขันธกะ หมวด, พวก, ตอน หมายถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระวินัย และสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ ที่จัดประมวลเข้าเป็นหมวด ๆ
เรียกว่า ขันธกะ, ขันธกะหนึ่ง ๆ ว่าด้วยเรื่องหนึ่ง ๆ เช่นอุโบสถขันธกะ หมวดที่ว่าด้วยการทำอุโบสถ จีวรขันธกะ หมวดที่
ว่าด้วยจีวร เป็นต้น รวมทั้งสิ้นมี ๒๒ ขันธกะ (พระวินัยปิฎกเล่ม ๔-๕-๖-๗) ดู ไตรปิฎก

ขันธปัญจก หมวดห้าแห่งขันธ์ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (นิยมเรียก ขันธบัญจก) ดู ขันธ์

ขันธมาร ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์
ถูกปัจจัยต่าง ๆ มีอาพาธเป็นต้น บีบคั้นเบียดเบียนเป็นเหตุขัดขวางหรือรอนโอกาส มิให้สามารถทำความดีงามได้เต็มที่
หรืออาจตัดโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง (ข้อ ๒ ในมาร ๕)

ขาทนียะ ของควรเคี้ยว, ของขบของเคี้ยว ได้แก่ผลไม้ต่างๆ และเหง้าต่างๆ เช่น เผือกมัน เป็นต้น

ข้าวสุก ในโภชนะ ๕ อย่างคือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑ ข้าวสุกในที่นี้หมายถึงธัญญชาติทุกชนิด
ที่หุงให้สุกแล้ว เช่นข้าวเจ้าข้าวเหนียว หรือที่ตกแต่งเป็นของต่างชนิด เช่น ข้าวมัน ข้าวผัด เป็นต้น

ขิปปาภิญญา รู้ฉับพลัน

ขีณาสพ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว, ผู้หมดกิเลส, พระอรหันต์

ขึ้นใจ เจนใจ, จำได้แม่นยำ

ขึ้นปาก เจนปาก, คล่องปาก, ว่าปากเปล่าได้อย่างว่องไว

ขึ้นวัตร โวหารเรียกวินัยกรรมเกี่ยวกับวุฎฐานวิธีอย่างหนึ่ง คือเมื่อภิกษุต้องครุกาบัติชั้นสังฆาทิเสสแล้วอยู่ปริวาสยังไม่
ครบเวลาที่ปกปิดอาบัติไว้หรือประพฤติมานัตอยู่ยังไม่ครบ ๖ ราตรี พักปริวาสหรือมานัตเสียเนื่องจากมีเหตุอันสมควร
เมื่อจะสมาทานวัตรใหม่เพื่อประพฤติปริวาสหรือมานัตที่เหลือนั้น เรียกว่าขึ้นวัตรคือการสมาทานวัตรนั่นเอง ถ้าขึ้น
ปริวาสพึงกล่าวคำในสำนักภิกษุรูปหนึ่งว่า ปริวาสํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นปริวาส วตฺตํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นวัตร ถ้าขึ้น
มานัต พึงกล่าวว่า มานตฺตํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นมานัต หรือ วตฺตํ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าขึ้นวัตร

ขุชชโสภิตะ ชื่อพระเถระองค์หนึ่งในการกสงฆ์ผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๒

ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย, ความอิ่มใจอย่างน้อย เมื่อเกิดขึ้นทำให้ขนชันน้ำตาไหล (ข้อ ๑ ในปีติ ๕)

เขต 1. แดนที่กันไว้เป็นกำหนด เช่น นา ไร่ ที่ดิน แคว้น เป็นต้น 2. ข้อที่ภิกษุระบุถึงเพื่อการลาสิกขา เช่น พระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น

เขนง เขาสัตว์, ภาชนะที่ทำด้วยเขา

เขมา พระเถรีมหาสาวิการูปหนึ่งประสูติในราชตระกูลแห่งสาคลนครในมัททรัฐ ต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระ
เจ้าพิมพิสาร มีความมัวเมาในรูปสมบัติของตน ได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องราคะ และการกำจัดราคะ
พอจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต แล้วบวชเป็นภิกษุณี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก
และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา

เขฬะ น้ำลาย

เข้าที่ นั่งภาวนากรรมฐาน

เข้ารีต เปลี่ยนไปถือศาสนาอื่น (มักใช้แก่ศาสนาคริสต์), ทำพิธีเข้าถือศาสนาอื่น

โขมะ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้ ใช้เปลือกไม้ทุบเอาแต่เส้น แล้วนำเส้นนั้นมาทอเป็นผ้า

โขมทุสสนิคม นิคมหนึ่งในแคว้นสักกะ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย