พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด จัมมขันธกะ - จารึก

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


จัมมขันธกะ - จารึก

จัมมขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๕ แห่งคัมภีร์มหาวรรค วินัยปิฎก ว่าด้วยเครื่องหนังต่างๆ มีรองเท้าและเครื่องลาด เป็นต้น

จาคะ การสละ, การให้ปัน, การเสีย สละ, การสละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ; การสละกิเลส (ข้อ ๔ ในฆราวาสธรรม ๔, ข้อ ๓ ในอธิษฐานธรรม ๔, ข้อ ๖ ในอริยทรัพย์ ๗)

จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น ดู สัมปรายิกัตถฯ

จาคานุสสติ ระลึกถึงการบริจาค คือระลึกถึงทานที่ตนบริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นจาคธรรมที่มีในตน ดู อนุสติ

จาตุมหาราช ท้าวมหาราชสี่, เทวดาผู้รักษาโลกในสี่ทิศ, ท้าวโลกบาลทั้งสี่คือ
๑. ท้าวธตรฐจอมภูต หรือจอมคนธรรพ์ ครองทิศตะวันออก
๒. ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ ครองทิศใต้
๓. ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค ครองทิศตะวันตก
๔. ท้าวกุเวร หรือ เวสสวัณ จอมยักษ์ ครองทิศเหนือ

จาตุมหาราชิกา สวรรค์ชั้นที่ ๑ มีมหาราช ๔ องค์ เป็นประธาน ปกครองประจำทิศทั้ง ๔ ดู จาตุมหาราช

จาตุรงคสันนิบาต การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ
๑. วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (เพ็ญเดือนสาม)
๒. พระสงฆ์ ๑๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
๔. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ ดู มาฆบูชา

จ่าย ในประโยคว่า “ภิกษุใดมีบาตรมีแผลหย่อน ๕ ให้จ่ายบาตรใหม่” ให้จ่ายคือให้ขอบาตรใหม่

จาร เขียนตัวหนังสือหรือเลขลงบนใบลาน เป็นต้น โดยใช้เหล็กแหลมขีด, ใช้เหล็กแหลมเขียนตัวหนังสือ

จาริก เที่ยวไป, เดินทางเพื่อศาสนกิจ

จารีต ธรรมเนียมที่ประพฤติกันมา, ประเพณี, ความประพฤติที่ดี

จารึก เขียน, เขียนเป็นตัวอักษร, เขียนรอยลึกเป็นตัวอักษรลงในใบลาน หรือลงแผ่นศิลา แผ่นโลหะ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย