พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อุปัชฌายาจารย์ - อุปาทายรูป

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อุปัชฌายาจารย์ - อุปาทายรูป

อุปัชฌายาจารย์ อุปัชฌาย์และอาจารย์

อุปัฏฐาก ผู้บำรุง, ผู้รับใช้, ผู้ดูแลความเป็นอยู่, ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุ สามเณร; อุปฐาก ก็เขียน

อุปัฏฐายิกา อุปัฏฐากที่เป็นหญิง

อุปัตติเหตุ เหตุที่เกิดขึ้น, เหตุการณ์ที่เกิด เช่น ควรเทศนาให้เหมาะแก่อุปัตติเหตุ คือ แสดงธรรมให้เข้ากับเรื่องที่เกิดขึ้น; บัดนี้เขียน อุบัติเหตุและใช้ในความหมายที่ต่างออกไป

อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน ได้แก่ กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่เข้าช่วยสนับสนุนซ้ำเติมจากชนกกรรม เหมือนแม่นมเลี้ยงทารกที่เกิดจากผู้อื่น ถ้ากรรมดีก็สนับสนุนให้ดีขึ้น ถ้ากรรมชั่วก็สนับสนุนให้เลวลงไปอีก (ข้อ ๖ ในกรรม ๑๒)

อุปัสสยะของภิกษุณี ส่วนที่อยู่ของภิกษุณีตั้งอยู่ในอาวาสที่มีภิกษุอยู่ด้วย แต่อยู่โดยเอกเทศ ไม่ปะปนกับภิกษุ; เรียกตามศัพท์ว่า ภิกขุนูปัสสยะ

อุปาทาน ความยึดมั่น, ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส มี ๔ คือ
๑. กามุปาทาน ความถือมั่นในกาม
๒. ทิฏฐุปาทาน ความถือมั่นในทิฏฐิ
๓. สีลัพพตุปาทาน ความถือมั่นในศีลและพรต
๔. อัตตวาทุปาทาน ความถือมั่นวาทะว่าตน

อุปาทานขันธ์ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน, ขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทานได้แก่ เบญจขันธ์ คือ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณที่ประกอบด้วยอาสวะ

อุปาทายรูป รูปอาศัย, รูปที่เกิดสืบเนื่องจากมหาภูตรูป, อาการของมหาภูตรูปตามหลักฝ่ายอภิธรรมว่า มี ๒๔ คือ
ก. ประสาท หรือ ปสาทรูป ๕ ได้แก่ จักขุ ตา, โสต หู, ฆาน จมูก, ชิวหา ลิ้น, กาย, มโน ใจ
ข. โคจรรูป หรือ วิสัยรูป (รูปที่เป็นอารมณ์) ๕. ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (โผฏฐัพพะ ไม่นับเข้าจำนวน เพราะตรงกับปฐวี เตโช วาโย ซึ่งเป็นมหาภูตรูป)
ค. ภาวรูป ๒ ได้แก่ อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง และปุริสภาวะ ความเป็นชาย
ง. หทัยรูป ๑ คือ หทัยวัตถุ หัวใจ
จ. ชีวิตรูป ๑ คือ ชีวิตินทรีย์ ภาวะที่รักษารูปให้เป็นอยู่
ฉ. อาหารรูป ๑ คือ กวฬิงการาหาร อาหารที่กินเกิดเป็นโอชา
ช. ปริจเฉทรูป ๑ คือ อากาศธาตุ ช่องว่าง
ญ. วิญญัติรูป ๒ คือ กายวิญญัติ ไหวกายให้รู้ความ วจีวิญญัติ ไหววาจาให้รู้ความ คือพูดได้
ฎ. วิการรูป ๕ อาการดัดแปลงต่างๆ ได้แก่ลหุตา ความเบา, มุทุตา ความอ่อน, กัมมัญญตา ความควรแก่งาน, (อีก ๒ คือ วิญญัติรูป ๒ นั่นเอง ไม่นับอีก)
ฏ. ลักขณรูป ๔ ได้แก่ อุปจยะ ความเติบขึ้นได้, สันตติ สืบต่อไปได้, ชรตา ทรุดโทรมได้, อนิจจตา ความสลายไม่ยั่งยืน (นับโคจรรูปเพียง ๔ วิการรูปเพียง ๓ จึงได้ ๒๔);

ดู มหาภูติ ด้วย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย