พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อุปาทิ - อุพพาหิกา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อุปาทิ - อุพพาหิกา

อุปาทิ
1. สภาพที่ถูกกรรมกิเลสถือครอง, สภาพที่ถูกอุปาทานยึดไว้มั่น, เบญจขันธ์
2. กิเลสเป็นเหตุถือมั่น, ความยึดติดถือมั่น, อุปาทาน

อุปาทินนกสังขาร สังขารที่กรรมครอบครอง พูดเข้าใจกันอย่างง่ายๆ ว่า สังขารที่มีใจครอง เช่น คน สัตว์ เทวดา (ข้อ ๑ ในสังขาร ๒)

อุปายโกศล ดู โกศล ๓

อุปายาส ความคับแค้นใจ, ความสิ้นหวัง

อุปาลิปัญจกะ ชื่อตอนหนึ่งในคัมภีร์บริวาร พระวินัยปิฎก

อุปาลิวงศ์ ชื่อนิกายพระสงฆ์ลังกาที่บวชจากพระสงฆ์สยาม (พระอุบาลีเป็นหัวหน้า นำคณะสงฆ์ไทยไปอุปสมบทกุลบุตรในประเทศลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ สมัยอยุธยาตอนปลาย)

อุปาสกัตตเทสนา การแสดงความเป็นอุบาสก คือ ประกาศตนเป็นอุบาสก โดยถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

อุปาหนา ดู รองเท้า

อุโปสถขันธกะ ชื่อขันธกะที่ ๒ แห่งคัมภีร์มหาวรรค พระวินัยปิฎกว่าด้วยการทำอุโบสถ คือ สวดปาฏิโมกข์และเรื่องสีมา

อุโปสถิกะ, อุโปสถิกภัต อาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ คือ วันพระ ในเดือนหนึ่งสี่วัน, เป็นของจำพวกสังฆภัตหรืออุทเทสภัตนั่นเอง แต่มีกำหนดวันเฉพาะคือ ถวายเฉพาะในวันอุโบสถ

อุพพาหิกา กิริยาที่ถอนนำไป, การเลือกแยกออกไป, หมายถึงวิธีระงับวิวาทาธิกรณ์ ในกรณีที่ที่ประชุมสงฆ์มีความไม่สะดวก ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งสงฆ์จึงเลือกภิกษุบางรูปในที่ประชุมนั้น ตั้งเป็นคณะแล้วมอบเรื่องให้นำเอาไปวินิจฉัย (เป็นทำนองตั้งคณะกรรมการพิเศษ)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย