พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อปริหานิยธรรม - อปโลกน์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อปริหานิยธรรม - อปโลกน์

อปริหานิยธรรม ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม, ธรรมที่ทำให้ไม่เสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว มี ๗ อย่าง ที่ตรัสสำหรับภิกษุ (ภิกขุอปริหานิยธรรม) ยกมาแสดงหมวดหนึ่ง ดังนี้
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงช่วยกันทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ
๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระองค์บัญญัติไว้แล้วสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้
๔. ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน
๕. ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น
๖. ยินดีในเสนาสนะป่า
๗. ตั้งใจอยู่ว่าเพื่อภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาส ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุขอปริหานิยธรรมที่ตรัสแก่กษัตริย์วัชชี (วัชชีอปริหานิยธรรม)

สำหรับผู้รับผิดชอบต่อบ้านเมือง มีอีกหมวดหนึ่งคือ
๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
๒. พร้อมเพียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุมพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ
๓. ไม่ถืออำเภอใจบัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่ได้บัญญัติ ถือปฏิบัติมั่นตามวัชชีธรรม
๔. ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันพึงรับฟัง
๕. บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลายมิให้อยู่อย่างถูกข่มเหงรังแก
๖. เคารพสักการะบูชาเจดีย์ของวัชชี ทั้งภายในและภายนอก ไม่ละเลยการทำธรรมิกพลี
๗. จัดให้ความอารักขาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่พระอรหันต์ (หมายถึงบรรพชิตที่เป็นหลักใจของประชาชน) ตั้งใจให้ท่านที่ยังมิได้มา พึงมาสู่แว่นแคว้น ที่มาแล้วพึงอยู่โดยผาสุก

อปโลกน์ บอกเล่า, การบอกเล่า, การบอกกล่าวแก่ที่ประชุมเพื่อให้รับทราบพร้อมกัน หรือขอความเห็นชอบร่วมกันในกิจบางอย่างของส่วนรวม, ใช้ใน อปโลกนกรรม




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย