พระอารามหลวง
ชั้นตรี
ชนิดวรวิหาร
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2315
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2315
วัดสังเวชวิศยาราม วรวิหาร
กรุงเทพมหานคร
วัดสังเวชวิศยาราม : นามพระราชทาน
วัดสังเวชวิศยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เดิมชื่อวัดสามจีนเหนือ และวัดบางลำพู ดังทราบแล้ว เป็นพระอารามที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ กาลล่วงมาถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ด้านภาษา มีความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อจากวัดบางลำพูเสียใหม่ว่า "วัดสังเวชวิศยาราม"
ความหมายของวัดซึ่งเป็นนามพระราชทานนี้ หลายคนนักมักเข้าใจผิด แปลให้ผิดคลาดเคลื่อนจากความหมายรากศัพท์เดิม คำว่า สังเวช ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ตั้งเป็นมงคลนามขึ้นต้นและต่อท้ายด้วยคำว่า "วิศยาราม" นี้ มาจากคำว่า "สังเวคะ" แปลว่า "กระตุ้นเตือน, ปลุกเร้า, คึกคัก, เกิดกำลัง, แกล้วกล้า, แข็งขัน" คือ "ปลุกเร้ากระตุ้นเตือนใจให้นึกถึงความจริงแห่งชีวิต พิจารณาอารมณ์เป็นธรรมสังเวช คือกฎแห่งไตรลักษณ์ อันได้แก่ ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความเป็นทุกข์ทนได้ยาก และความไม่มีตัวตนแห่งชีวิตนั่นเอง
"
ผู้ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง มักจะแปลออกไปในทำนองเศร้าสร้อย หงอยเหงา.. แท้ที่จริง คำว่า "สังเวช" ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า "สังเวคะ" มิได้มีความหมายเช่นนั้นเลย ถ้าแปลตามที่เข้าใจผิดๆ กันมานั้นท่านเรียกว่า "ถีนมิทธะ" ซึ่งเป็นนิวรณ์ตัวขวางกั้นมิให้บรรลุคุณงามความดี ส่วนคำว่า "วิศยะ" แปลว่า "อารมณ์" รวมความว่า "วัดสังเวชวิศยาราม" ก็คือ "อารามเป็นที่อยู่ของผู้มีอารมณ์แกล้วกล้า แข็งขัน เกิดแรงบันดาลใจให้รีบเร่งทำคุณงามความดี ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต "
อีกประการหนึ่ง คำว่า "สังเวชวิศยาราม" มีรากศัพท์และนิยามศัพท์ตรงกับคำว่า "สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล" อันเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และเสด็จดับ ขันธปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชน เมื่อมีโอกาสจำจักต้องไปนมัสการด้วยตนเอง เมื่อตายไปก็จักไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ดังพระดำรัสที่มาในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๐ ฑีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ซึ่งสรุปเป็นใจความว่า "ก็ชนที่มีโอกาสได้ไปนมัสการสังเวชนียสถาน ด้วยจิตที่เลื่อมใสแล้ว เมื่อตายไป พวกเขาจักไปสู่สุคติ โลกสวรรค์"
จากพระพุทธพจน์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ด้วยนามอันเป็นมงคลนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ "วัดสังเวชวิศยาราม"
วัดสังเวชวิศยาราม : วัดที่มีความสำคัญตั้งแต่ประวัติศาสตร์
กล่าวถึงความสำคัญ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันแล้ว วัดสังเวชวิศยารามเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย มีหน้าประวัติศาสตร์ที่ควรจารึกจดจำมาโดยตลอด นอกจากเป็นวัดในพระบรมราชูปถัมภ์ เจ้านายพระองค์ชั้นสูงได้ทรงอุปถัมภ์บำรุง เป็นพระอารามหลวง ยังมีหลักฐานที่บันทึกแผ่นไมโครฟิล์ม ในหอสมุดแห่งชาติว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินหลวง ณ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) หลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามจากวัดบางลำพู มาเป็น "วัดสังเวชวิศยาราม"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คราที่เกิดเพลิงไหม้แถวบางลำพู ลุกลามไปไหม้วัดสังเวชวิศยาราม ก็ได้เสด็จมาประทับ ณ สะพานฮงอุทิศ ทรงบัญชาการดับเพลิงด้วยพระองค์เอง เมื่อเสนาสนะเสียหายเพราะไฟไหม้ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้รื้อพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วให้นำไม้ไปสร้างเสนาสนะถวายพระสงฆ์ที่วัดสังเวชวิศยาราม แห่งนี้ และมีพระราชกุศลจิตเลื่อมใสศรัทธา นำผ้าพระกฐินพระราชทานไปถวายพระสงฆ์ผู้จำพรรษา ณ พระอารามหลวงแห่งนี้ถึง ๕ ครั้ง คือพ.ศ. ๒๔๑๘, ๒๔๑๙, ๒๔๒๒, ๒๔๒๙ และ ๒๔๓๑ ตามลำดับ ด้วยความเลื่อมใสเป็นอเนกอนันต์ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสังเวชวิศยาราม โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ทรัพย์ โฆสกมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยารามเป็นองค์ครองผ้าพระกฐินเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
วัดสังเวชวิศยาราม: วัดแห่ง ศ.ต.ภ.
เมื่อพูดถึง คำว่า ศ.ต.ภ. ขึ้นมาทีไร พระภิกษุสามเณรทั่วประเทศไทย หน่วยงานราชการของรัฐ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานเอกอัครราชทูต กรมการกงสุลต่างๆ ทั่วโลก ตลอดถึงบริษัทจัดทัวร์ซึ่งถวายความสะดวกแด่พระภิกษุสามเณรทำพาสปอร์ตเดินทางไปต่างประเทศ จะต้องนึกถึงวัดสังเวชวิศยารามขึ้นมาทันที...คำว่า ศ.ต.ภ. ย่อมาจากคำว่า "ศูนย์ควบคุมการเดินทางไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร" ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "The Center of Ecclesiastical External Mission" ชื่อย่อว่า "CEEM" เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาเถรสมาคม มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองและอนุมัติการเดินทางไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณรแห่งคณะสงฆ์ไทย มีสำนักงานตั้งอยู่ที่วัดสังเวชวิศยาราม ซึ่งมี พระธรรมสิทธิเวที เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิศยาราม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๒ เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่ง ศ.ต.ภ. แห่งนี้จะมีการประชุมพิจารณาและอนุมัติการเดินทางไปต่างประเทศของพระภิกษุสามเณรแห่งคณะสงฆ์ไทยทุกวันที่ ๑ และ ๑๕ ของเดือน โดยมีพระพรหมเวที วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธาน ประกอบด้วยกรรมการคือ พระธรรมวรเมธี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, พระธรรมปัญญาภรณ์ วัดปากน้ำ, พระเทพปริยัติสุธี วัดบพิตรพิมุข มีการทำงานเป็นระบบ รวดเร็วทันสมัย และเชื่อมโยงประชาสัมพันธ์เครือข่าย Internet ไปทั่วโลก เมื่อประชุมแล้วจักประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุมัติผ่านเว็บไซด์ www.sortorpor.com ซึ่งผู้สนใจสามารถคลิกเข้าชมเยี่ยมได้ตลอดเวลา
.
- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานในพระอุโบสถ •
{ พระอุโบสถ }
พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีพาไลด้านหน้าและด้านหลัง หลังคามุงประเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันปูนปั้นลายดอกไม้จีน ผนังภายในเขียนเป็นลายประแจจีน ดอกไม้ร่วง เพดานล่องชาดลอยดาวฉลุทอง บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ พัทธสีมาอยู่ในซุ้มก่ออิฐถือปูนรูปมณฑป กำแพงแก้วก่ออิฐถือปูน สร้างในรัชกาลที่ 3
{ พระประธานปางมารวิชัย }
พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ฝีมือช่างสมัยทวารวดี ขนาดสูง 3 เมตร หน้าตักกว้าง 4.35 เมตร
{ พระวิหาร }
พระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีพาไลหน้าหลังเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา ทำด้วยไม้ ลงรักปิดทอง บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ เพดานล่องชาด ลอยดาวฉลุทอง
{ พระปรางค์ }
มี 9 องค์ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ พระปรางค์องค์ใหญ่ล้อมรอบด้วยพระปรางค์องค์เล็ก 8 องค์ ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว
{ เจดีย์ทรงปรางค์วัดสังเวชวิศยาราม }
มีลักษณะทั่วไปเดียวกับเจดีย์ทรงปรางค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่พบได้จากอื่น ๆ ในเขตเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ พระปรางค์วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) พระปรางค์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น อันเป็นเจดีย์ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ลักษณะเจดีย์ทรงปรางค์วัดสังเวชฯ ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน มีจำนวน 9 องค์ เป็นกลุ่มเจดีย์ ที่ตั้งอยู่พื้นที่ระหว่างบริเวณด้านหลังพระอุโบสถกับพระวิหาร ได้รับ การบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง โดยยังคงรักษาและสืบทอดลักษณะรูปแบบเจดีย์ทรงปรางค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ไว้ค่อนข้างดี การวางตำแหน่งองค์เจดีย์ในลักษณะผังสี่เหลี่ยมสมมาตรอย่างเป็นระเบียบประกอบด้วย เจดีย์ปรางค์ประธานองค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง เจดีย์ปรางค์บริวาร จำนวน 8 องค์ ตั้งอยู่บนแนวกำแพงแก้วล้อมรอบเจดีย์ปรางค์ประธาน โดยมีเจดีย์ประจำมุม 4 องค์ เจดีย์ประจำด้าน 4 องค์
{ หอพระไตรปิฏก }
เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ลักษณะทรงไทย สร้างสมัยรัชกาลที่ 1
{ หอระฆัง }
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 6.50 เมตร ยาว 6.50 เมตร
- เจ้าอาวาส -
• พระเทพเวที (พล อาภากโร) •
วัดสังเวชวิศยาราม วรวิหาร
ที่ตั้ง : |
110 ซอย สามเสน 1 แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 |
ประเภท : |
พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร |
สังกัด : |
มหานิกาย |
วันตั้งวัด : |
พ.ศ. 2315 |
วันรับวิสุงคามสีมา : |
พ.ศ. 2315 |
สิ่งสำคัญ : |
พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานในพระอุโบสถ |
เจ้าอาวาส : |
พระเทพเวที (พล อาภากโร) |
โทรศัพท์ : |
022828880 |
เว็บไซต์ : |
https://sortorpor.com/ |
แผนที่ : |
https://goo.gl/maps/bn5tQAgpnTGmFdJS6 |