วัดพระธาตุดอยสุเทพ ราชวรวิหาร


พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 1962
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2010


วัดพระธาตุดอยสุเทพ ราชวรวิหาร

เชียงใหม่


ประวัติความเป็นมา
สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๖ ในสมัยของพระญากือนามหาราช และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๒๐๑๐ โดยมีตำนานที่เล่าเกี่ยวกับวัดพระธาตุดอยสุเทพไว้ว่า ในสมัยพระญากือนา กษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์มังราย (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘) ผู้ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์บนดอยสุเทพ โดยทรงนิมนต์พระมหาสุมนเถระเจ้า จากเมืองสุโขทัย ให้มาประกาศศาสนาที่เมืองเชียงใหม่ ในครั้งนั้น พระมหาสุมนเถระเจ้า ได้นำเอาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามาด้วย พระญากือนาเกิดความเลื่อมใสมาก จึงโปรดให้มีพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุ เพื่อจะได้อัญเชิญไปบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์ของวัดบุปผาราม ในขณะที่กระทำพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุอยู่นั้นเอง พระบรมธาตุได้แยกออกเป็นสองส่วน พระญากือนากับพระมหาสวามีสุมนะ จึงได้พร้อมใจกัน ทำพิธีบรรจุพระบรมธาตุองค์ใหม่ไว้ที่วัดสวนดอก ส่วนพระบรมธาตุองค์เดิม นำไปประดิษฐานไว้ที่ดอยสุเทพ
โดยเริ่มจากการอัญเชิญผอบพระบรมสารีริกธาตุ ขึ้นสถิตเหนือเศวตคชาธารช้างมงคลแล้วอธิษฐานเสี่ยงช้างพระที่นั่งปล่อยไป หากพระบรมธาตุประสงค์จะสถิตอยู่ ณ ที่ใด ก็ขอให้ช้างมงคลหยุด ณ ที่แห่งนั้น

ในระหว่างทางที่ช้างมงคลเดินทางไป ก็ได้หยุดเดินถึงสามครั้ง ทำให้เกิดชื่อของดอยช้างนูนและดอยงาม ครั้งที่สาม ซึ่งถือเป็นครั้งสำคัญ เนื่องจากช้างมงคลได้ไต่เขาไปจนถึงยอดดอยวาสุเทพบรรพต แล้วร้องเสียงดังจนก้องสะท้านไปทั่วภูเขา เมื่อเดินประทักษิณ ๓ รอบแล้วจึงคุกเข่าหมอบลง และทันทีที่อาราธนาพระบรมธาตุลงจากหลังแล้ว ช้างมงคลนั้นล้มลงตายในทันที ซึ่งหมายความว่า จะไม่ยอมเป็นพาหนะของผู้ใดอีก

การสร้างเจดีย์ประดิษฐานพระบรมธาตุ เริ่มจากการขุดยอดดอยลึก ๓ ศอก แล้วเอาแท่งหินใหญ่ ๗ ก้อน มากรุเป็นผนังเหมือนหีบใบใหญ่ เมื่อนำพระบรมธาตุลงวางแล้ว ใช้หินถมทับให้แน่นหนาจนถึงปาก จึงก่อสถูปสูง ๕ วา ครอบปากหลุมไว้อีกชั้นหนึ่ง พระเจดีย์องค์นี้ สร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๘ โดยมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านละ ๓ วา สูง ๗ วา รูปทรงเป็นแบบรามัญต่อมาในสมัยพระเมืองแก้ว (ระหว่าง พ. ศ. ๒๐๓๘ - ๒๐๖๘) มีการเสริมองค์พระเจดีย์ใหม่โดยขยายฐานออกไปด้านละ ๖ วา สูง ๑๒ วา นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระเจ้าทรายคำ (ประมาณปี พ. ศ. ๒๑๘๑) พระองค์ได้พระราชทานทองหนัก ๑, ๗๐๐ บาท ให้ตีแผ่นเป็นทองจังโก ปิดพระบรมธาตุ ในปี พ.ศ. ๒๐๘๘ มีการก่อสร้างวิหารและในปี พ.ศ. ๒๑๐๐ พระมหามงคลโพธิ เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างบันไดนาค ซึ่งสูง ๓๐๐ ขั้น ทอดยาวขึ้นไปสู่วัดนอกจากนี้ในสมัยของพระเจ้ากาวิละ มีการสร้างวิหารขึ้น ๒ หลัง ทางทิศตะวันตกและตะวันออกของพระบรมธาตุ ตลอดจนทำการบูรณปฏิสังขรณ์ องค์พระบรมธาตุ ด้วยการสร้างฉัตรโลหะปักไว้ที่มุม และสร้างรั้วเหล็ก ล้อมรอบองค์พระธาตุ

จากนั้นก็ได้มีการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ สำเร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ รวมระยะทางทั้งสิ้น ๑๑ กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง ๕ เดือน กับอีก ๒๒ วัน โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านทั่วภาคเหนือ และมีท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา เป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับเจ้าแก้วนวรัฐซึ่งเป็นประธานฝ่ายฆราวาส   

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ •

{ พระบรมธาตุเจดีย์ }
ปูชนียวัตถุที่สำคัญมากของวัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งได้แก่ พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเจดีย์แบบสุโขทัยที่เข้ามาสู่อาณาจักรล้านนาในสมัยนั้น ลักษณะโดยละเอียดขององค์เจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ คือ องค์เจดีย์มีเนื้อที่ฐานด้านละ ๖ วา รวม ๔ ด้าน เป็นเนื้อที่ ๓๖ ตารางวาทุก ๆ ปี จะมีงานประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือน ๖ และวันเพ็ญ เดือน ๗ หรือวันวิสาขบูชา   
นอกจากปูชนียวัตถุสถานที่ได้กล่าวถึงข้างต้น วัดพระธาตุดอยสุเทพยังมีโบราณสถานในเขตระเบียงคดโดยรอบ ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน   
วัดพระธาตุดอยสุเทพ นอกจากจะมีความสำคัญ ต่อจิตใจของประชาชนชาวเชียงใหม่ในฐานะที่เป็น ศาสนสถาน อันควรเคารพแล้ว ยังมีความสำคัญทางด้านการศึกษาอีกด้วย คือมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลี วัดนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ จากเหล่าเจ้านายผู้ครองเมืองมาโดยตลอด จึงทำให้ทางวัด ได้รับพระราชทานให้ยกขึ้นเป็น พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๖   
{ พระประธาน }   
{ หลวงพ่ออุ่นเมือง }   
{ บันไดนาค ทางเดินขึ้นไปสักการะบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ }   
{ โบราณสถาน }   

- เจ้าอาวาส -
• พระธรรมเสนาบดี (ธงชัย สุวณฺณสิริ ป.ธ.๗) •


 10,668


พระอารามหลวงทั่วไทย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย