วัดสังข์กระจาย วรวิหาร


พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2300
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2326


วัดสังข์กระจาย วรวิหาร

กรุงเทพมหานคร


วัดสังข์กระจายวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของถนนอิสรภาพ บนฝั่งเหนือคลองบางกอกใหญ่ ใกล้สะพานเจริญพาศน์ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

ตำแหน่งที่วัดตั้งอยู่นี้แต่เดิมเป็นที่ลุ่มราบ น่าจะเป็นด้วยอยู่ริมคลองน้ำขึ้นท่วมถึงได้ มีต้นไม้ขนาดคนสามคนโอบ เช่น ต้นไทร ต้นตะเคียน ต้นยาง ยืนต้นเคียง ยืนต้นมากมาย ไม่ผิดกับป่าลึกดงร้าง ก่อนสร้างวัดขึ้นใหม่ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดสังข์กระจายเป็นวัดโบราณมาก่อน ได้เคยขุดพบลูกนิมิตหลายลูกฝังอยู่ทางด้านนอกกำแพงแถบเหนือพระอุโบสถ มีข้าราชการตำแหน่งนายสารบบ (ในกรมพระสุรัสวดี) ชื่อนายสังข์ ตั้งบ้านเรือนอยู่บนฝั่งห่างจากปากคลองบางวัวทอง มีจิตศรัทธา ดำริจะสร้างวัด จึงได้ไปปรึกษากับนายพลับ เพื่อขอไม้ซุงมาสักต้นหนึ่ง เมื่อตอนล่องซุงในคลองบางวัวทอง นายสังข์ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า หากซุงที่ข้าพเจ้าปล่อยให้กระแสน้ำพัดล่องไปตามลำคลองนี้ลอยไปติด ณ ที่ใด ก็จะสร้างวัดขึ้นที่นั้น ซุงได้ลอยมาติดตรงหน้าวิหารในปัจจุบัน จึงได้สร้างวัดที่ตำแหน่งนี้ โดยค่อย ๆ สร้างวัด ค่อยทำค่อยไปตามกำลังทรัพย์และเวลา

ต่อมาเจ้าจอมแว่น ในรัชกาลที่ 1 ได้ส่งข้าหลวงสนิทคนหนึ่งเป็นหญิงชื่อ จ่าย ให้ไปเฝ้าสวนของตนซึ่งมีเนื้อที่ติดกับที่ของนายสังข์ ภายหลังนางสังข์สนิทชอบพอกับหญิงคนนี้ จึงดำริร่วมใจกันที่จะสร้างวัดนี้ต่อไป นางจ่ายถึงกับขันอาสาไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าจอมแว่น เจ้าจอมแว่นได้มอบทุนให้มาจำนวนหนึ่ง เมื่อจะขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ผู้สร้างก็เกิดทะเลาะเกี่ยงแย่งกันจะเอาชื่อตนมาเป็นชื่อวัด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระราชดำรัสว่า วัดที่นายสังข์ นางจ่ายสร้างขึ้นนั้น ไม่สมเกียรติกับพระสนมเอกเช่นเจ้าจอมแว่น ทรงรับจะสร้างพระราชทานใหม่ ยังโปรดเกล้าให้กรมหมื่นไกรสรวิชิตมาเป็นนายงานควบคุมสร้างพระอุโบสถขึ้น พร้อมกับได้สร้างกุฏิขึ้นใหม่

เมื่อแรกขุดพระอุโบสถนั้น พบพระกัจจายน์หนึ่งองค์ กับสังข์หนึ่งตัว เฉพาะสังข์ชำรุดเพราะแรงจอบเสียมที่ขุด ส่วนพระกัจจายน์ได้เก็บรักษาคู่อาราม พอสร้างสำเร็จเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงพระราชทานนามว่า วัดสังข์กระจาย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์วัด

วัดสังข์กระจายเป็นสำนักที่ให้กำเนิดวรรณคดี เช่น มหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ชูชก กล่าว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อทรงนิพนธ์มหาเวสสันดรชาดก ได้ทรงนิพนธ์กัณฑ์อื่น ๆ ใหม่เป็นส่วนมาก แต่กัณฑ์ชูชกไม่ทรงนิพนธ์ โดยรับสั่งว่าให้ใช้ของเก่าที่สำนักวัดสังข์กระจายแต่งไว้   

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• หลวงพ่อกัจจายน์ •

{ พระอุโบสถ }
ขนาดย่อม ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันมีรูปเทพแกะสลักไม้นั่งบนดอกบัว ล้อมด้วยลายก้านขดปิดทอง ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างเป็นปูนปั้นแบบหน้าบันประดับกระจกปิดทองมีเครื่อง ดินเผาปน มีหลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผา ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง รูปเทวดายืนประนมมือบนแท่น มีพญาวานรแบกภาพเขียนสีที่ผนังทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้าพระประธาน เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ และหุ้มกลองด้านหลังพระประธาน เป็นภาพพุทธประวัติตอนเปิดโลก ผนังด้านขวาเป็นภาพเวสสันดรชาดก ด้านซ้ายเป็นภาพพุทธประวัติ ชั้นบนของผนังทั้งสองด้าน เป็นภาพเทพชุมนุม พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอก บนชุกชีหน้าพระประธานมีพระอัครสาวกทั้งขวาและซ้าย   
กำแพงแก้ว มีประตูเข้าออก 4 ด้าน ซุ้มประตูเป็นแบบรัชกาลที่ 3 ตรงประตูด้านหน้าพระอุโบสถนอกกำแพงแก้วมีตุ๊กตาหินสีเขียว เป็นรูปหมูข้างละตัว ภายในกำแพงแก้วมีตุ๊กตาหินชนิดเดียวกันที่เชิงบันไดหน้าพระอุโบสถมีตุ๊กตาจีนข้างละ 2 ตัว และที่เชิงบันไดหลังพระอุโบสถอีกข้างละตัว ด้านนอกอุโบสถมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง   
{ ด้านนอกกำแพงแก้ว }   
{ พระประธานในพระอุโบสถ }   
{ พระวิหารหลวงพ่อกัจจายน์ }
มีพระพุทธรูปทั้งยืนและนั่งรวมด้วยกัน 24 องค์ หลวงพ่อกัจจายน์องค์ที่ขุดได้เมื่อคราวสร้างวัด เดิมประดิษฐานไว้ที่พระวิหาร แต่เมื่อมีคนร้ายขโมยหลวงพ่อกัจจายน์ ไป แต่นับว่าโชคดีที่ได้กลับมาคืน จึงได้หล่อองค์จำลองขึ้นใหม่ประดิษฐานแทนไว้ในพระวิหาร   

 10,527


พระอารามหลวงทั่วไทย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย