มงคลที่ ๙ มีวินัยที่ดี
วินะโย จะ สุสิกขิโต

๏ อันวินัยนำระเบียบสู่เรียบร้อย
คนใหญ่น้อยเปรมปรีดิ์ดีนักหนา
วินัยสร้างกระจ่างข้อก่อศรัทธา
เพราะรักษากติกาพาร่วมมือ
ไม่พูดเท็จพูดสอดเสียดและพูดมาก
ละความยากสร้างวิบากฝากยึดถือ
คนหมู่มากมักถางถากปากข่าวลือ
ต้องสัตย์ซื่อถือวินัยใช้ร่วมกัน ๛

 

วินัย ก็คือข้อกำหนด ข้อบังคับ กฏเกณฑ์เพื่อควบคุมให้มีความเป็นระเบียบนั่นเอง มีทั้งวินัยของสงฆ์และของคนทั่วไป สำหรับของสงฆ์นั้นมีทั้งหมด ๗ อย่างหรือเรียกว่า อนาคาริยวินัย ส่วนของบุคคลทั่วไปก็มี ๑๐ อย่าง คือการละเว้นจากอกุศลกรรม ๑๐ ประการ

 

อนาคาริยวินัยของพระมีดังนี้

๑. ปาฏิโมกขสังวร คือการอยู่ในศีลทั้งหมด ๒๒๗ ข้อ การผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่าต้องโทษแล้วแต่ความหนักเบา เรียงลำดับกันไปตั้งแต่ ขั้นปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต เป็นต้น (ความหมายของแต่ละคำมันต้องอธิบายเยอะ จะไม่กล่าวในที่นี้)

๒. อินทรียสังวร คือการสำรวมอายตนะทั้ง ๕ และกาย วาจา ใจ ให้อยู่กับร่องกับรอย โดยอย่าไปเพลิดเพลินติดกับสิ่งที่มาสัมผัสเหล่านั้น

๓. อาชีวปาริสุทธิสังวร คือการหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ นั่นก็คือการออกบิณฑบาตร ไม่ได้เรียกร้อง เรี่ยไรหรือเที่ยวขอเงินชาวบ้านมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของตัวเอง

๔. ปัจจยปัจจเวกขณะ คือการพิจารณาในสิ่งของทั้งหลายถึงคุณประโยชน์โดยเนื้อแท้ของสิ่งของเหล่านั้นอย่างแท้จริง โดยใช้เพื่อบริโภค เพื่อประโยชน์ ความอยู่รอด และความเป็นไปของชีวิตเท่านั้น

 

วินัยสำหรับฆราวาส หรือบุคคลทั่วไป เรียกว่าอาคาริยวินัย มีดังนี้ (อกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ)

๑. ไม่ฆ่าชีวิตคน หรือสัตว์ไม่ว่าน้อย ใหญ่

๒. ไม่ลักทรัพย์ ยักยอกเงิน สิ่งของมาเป็นของตัว

๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม ผิดลูกผิดเมีย ข่มขืนกระทำชำเรา

๔. ไม่พูดโกหก หลอกลวงให้หลงเชื่อ หรือชวนเชื่อ

๕. ไม่พูดส่อเสียด นินทาว่าร้าย ยุยงให้คนแตกแยกกัน

๖. ไม่พูดจาหยาบคาย ให้เป็นที่แสลงหูคนอื่น

๗. ไม่พูดจาไร้สาระ หรือที่เรียกว่าพูดจาเพ้อเจ้อไม่มีสาระ เหตุผล หรือประโยชน์อันใด

๘. ไม่โลภอยากได้ของเขา คือมีความคิดอยากเอาของคนอื่นมาเป็นของเรา

๙. ไม่คิดร้าย ผูกใจเจ็บ แค้น ปองร้ายคนอื่น

๑๐. ไม่เห็นผิดเป็นชอบ เช่น เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีความสำคัญ บุญหรือกรรมไม่มีจริงเป็นต้น

 




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย