มงคลที่ ๗ ความเป็นพหูสูตร
พาหุสัจจัญจะ

๏ การสนใจใฝ่คว้าหาความรู้
ให้เป็นผู้แก่เรียนเพียรศึกษา
มีศีลดีสติมั่นเกิดปัญญา
ย่อมนำพาตัวรอดเป็นยอดดี ๛

 

พหูสูตร คือเป็นผู้ที่ฟังมาก เล่าเรียนมาก เป็นผู้รอบรู้ โดยมีลักษณะดังนี้คือ

 

๑. รู้ลึก คือการรู้ในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ อย่างหมดจดทุกแง่ทุกมุม อย่างมีเหตุมีผล รู้ถึงสาเหตุจนเรียกว่าความชำนาญ

๒. รู้รอบ คือการรู้จักช่างสังเกตในสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่นเหตุการณ์แวดล้อมเป็นต้น

๓. รู้กว้าง คือการรู้ในสิ่งใกล้เคียงกับเรื่องนั้นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน สัมพันธ์กันเป็นต้น

๔. รู้ไกล คือการศึกษาถึงความเป็นไปได้ ผลในอนาคตเป็นต้น

 

ถ้าอยากจะเป็นพหูสูตก็ควรต้องมีคุณสมบัติดังว่านี้คือ

 

๑. ความตั้งใจฟัง ก็คือชอบฟัง ชอบอ่านหาความรู้ และค้นคว้าเป็นต้น

๒. ความตั้งใจจำ ก็คือรู้จักวิธีจำ โดยตั้งใจอ่านหรือฟังในสิ่งนั้นๆ และจับใจความให้ได้

๓. ความตั้งใจท่อง ก็คือท่องให้รู้โดยอัตโนมัติ ไม่ลืม ในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญ

๔. ความตั้งใจพิจารณา ก็คือการรู้จักพิจารณา ตรึกตรองในสิ่งนั้นๆอย่างทะลุปรุโปร่ง

๕. ความเข้าใจในปัญหา ก็คือการรู้อย่างแจ่มแจ้งในปัญหาอย่างถ่องแท้ด้วยปัญญา

 




• จงถามเด็กไทยให้น้อยลงว่า “อยากได้อะไร?” แต่จงถามเด็กไทยให้มากขึ้นว่า “อยากทำอะไร?” จาก “อยากทำอะไร?” ก็ก้าวต่อไปว่า “อยากรู้ว่าจะทำอย่างไร” และ “จะต้องรู้อะไร?”

• ผู้ไม่รู้เท่าทันตามเป็นจริง หลงยึดติดในสมมติ ถือมั่นตัวตนที่สมมติขึ้นเป็นจริงจัง ก็จะถูกความยึดติดถือมั่นนั้นแหละบีบคั้นกระทบกระแทกเอา ทำให้ได้รับความรู้สึกทุกข์เป็นอันมาก

• ยิ่งจัดการกับปัญหาด้วยความยึดอยากมากเท่าใด ความทุกข์ก็ยิ่งรุนแรงเท่านั้น แต่ถ้าจัดการด้วยปัญญาถูกตรงมากเท่าใด ปัญหาก็หมดไปเท่านั้น

• พอพ้นสมมติ อัตตาก็หมด พอเลิกยึด อัตตาก็หาย


จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย