คลังแสงแห่งธรรม
สมาธิ

สมาธิ : เรื่องที่ ๑๘ : วิธีเพ่งกสิณ ( ๒ )
โดย : พระอริยคุณาธาร สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนกวาง


๙. อากาสกสิณ วงกลมอากาศ
วิธีทำ เจาะฝาเป็นรูปกลม วัดเส้นผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว หรือเจาะเสื่อลำแพนขนาดเดียวกัน นั้นก็ได้ เพ่งดูอากาศภายในช่องวงกลมนั้น หรือจะขดไม้เป็นวงกลมขนาดนั้นตั้งไว้บน ปลายหลักในที่แจ้งแล้วเพ่งดูอากาศภายในวงกลมนั้นก็ได้

๑๐. อาโลกกสิณ วงกลมแสงสว่าง
วิธีทำ เจาะก้นหม้อเป็นรูกลม วัดเส้นผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว ตามตะเกียงหรือเทียนไว้ภายใน หม้อ ให้แสงสว่างส่องออกมาตามรูที่เจาะไว้ และหันทางแสงสว่างนั้น ให้ไปปรากฏที่ฝา หรือกำแพง แล้วเพ่งดูแสงสว่าง ที่ส่องเป็นลำออกไปจากรูที่ไปปรากฏ ที่ฝาหรือกำแพง นั้น อาโลกกสิณนี้ ปรากฏในสมถกรรมฐาน ตามที่พระโบราณาจารย์ ประมวลไว้ แต่ที่ ปรากฏใน พระบาลี ในพระไตรปิฎก หลายแห่งหลายที่ ข้อนี้เป็นวิญญาณกสิณ คือ เพ่งวิญญาณ

ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะ กสิณ ๑ - ๘ เป็นรูปกสิณ ส่วนกสิณ ๙ - ๑๐ เป็นอรูปกสิณ ซึ่งใช้เป็น อารมณ์ของอรูปฌาน คืออากาสานัญจายตนะ และ วิญญาณัญจายตนะ ตามลำดับกัน แสงสว่าง น่าจะใกล้ต่อเตโช หรือมิฉะนั้นก็ใกล้ต่อวิญญาณ ซึ่งมีลักษณะสว่างเช่นเดียวกัน เมื่อเพ่งลักษณะ สว่างแล้วน่าจะใกล้ต่อวิญญาณมากกว่า ถ้าเป็นวิญญาณกสิณ จะทำวงกลมด้วยวัตถุไม่ได้ ต้อง กำหนดดวงขึ้นในใจที่เดียว ให้เป็นดวงกลมขนาดวัดเส้นผ่าศูนย์กลางคืบ ๔ นิ้ว อาโลกะ และ วิญญาณ มีลักษณะใกล้กันมาก และอำนวยผลแก่ผู้เพ่งทำนองเดียวกัน คือนำทางแห่งทิพยจักษุ อย่างดีวิเศษ ผิดกันแต่ลักษณะการเพ่งเท่านั้น คือ วิญญาณกสิณ ต้องเพ่งข้างใน ไม่ใช่เพ่งข้าง นอกเหมือนอาโลกกสิณ และอำนวยตาทิพย์ดีกว่าวิเศษกว่า อาโลกกสิณ วิธีปฏิบัติ พึงชำระตนให้ สะอาดนุ่งห่มผ้าสะอาด ไปสู่ที่เงียบสงัด ปัดกวาดบริเวณให้สะอาดตั้งตั่งสูง คืบ ๔ นิ้วสำหรับ นั่งอันหนึ่ง สำหรับวางวงกสิณอันหนึ่ง นั่งห่างจากวงกสิณประมาณ ๔ ศอกนั่งในท่าที่สบาย วางหน้าให้ตรงทอดตาลงแลดูดวงกสิณพอสมควร แล้วหลับตานึกดูถ้ายังจำไม่ได้ ก็พึงลืมตา ขึ้นดูใหม่แล้วหลับตานึกดู โดยทำนองนี้ จนกว่าจะเห็นวงกสิณในเวลาหลับตาได้

เมื่อได้แล้ว พึงไปนั่งเพ่งดวงกสิณในที่อยู่ให้ชำนาญ จนสามารถทำการขยายดวงกสิณให้ใหญ่ และย่นให้เล็กได้ตามต้องการ เพียงเท่านี้ก็ชื่อว่า สำเร็จกสิณแล้วจิตใจจะสงบเป็นสมาธิตาม ลำดับ คือชั่วขณะ เฉียดฌาน และเป็นฌาน ๑ - ๒ - ๓ - ๔ ตามลำดับไป

ในการเลื่อนชั้นของฌานนั้น ต้องค่อยๆเลื่อนไป อย่าด่วนก้าวหน้า ในเมื่อฌานที่ได้แล้ว ตนยัง ไม่ชำนาญในการเข้า-ออก การยั้งอยู่ การนึกอารมณ์ของฌาน และการพิจารณาองค์ของฌาน เพราะถ้าพลาดพลั้งแล้ว จะเสียผลทั้งข้างหน้า-ข้างหลังส่วน วาโยกสิณ เป็นกสิณที่ทำวงกลม ไม่ได้ และยกไปมาไม่ได้ ท่านแนะว่าพึงแลดูลมที่พัดไปมาโดยปกตินั้น แล้วจดจำลักษณะอาการ เอาไว้ แล้วไปสู่ที่สงัด ปฏิบัติตน โดยนัยที่กล่าวมาแล้ว นั่งนึกถึงอาการลมพัด จนอาการนั้น ปรากฏชัดแก่ใจชื่อว่าได้กสิณข้อนี้แล้ว ต่อไปก็พึงปฏิบัติตามนัยที่กล่าวมาแล้ว




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย