ทาน
เรื่องที่ ๑๙ : สารพันปัญหา ว่าด้วยเรื่อง ทาน ๗

เรื่องที่ ๑๙ : สารพันปัญหา ว่าด้วยเรื่อง ทาน ๗
โดย ท่านเจ้าคุณพระราชพรหมยาน


ผู้ถาม "กระผมอยากจะทำบุญใส่บาตรเหมือนกันครับ แต่คิดว่าของที่จะใส่ บาตรทำบุญมันไม่ดี ก็เลยอาย ไม่อยากใส่ กะไว้ว่าถ้ามีอาหารดีเมื่อไหร่ ก็จะใส่บาตร ผมคิดอย่างนี้ถูกไหมครับ ?"

หลวงพ่อ "การทำบุญ ทำไมจะต้องอาย เคยมีนักเทศน์เขาถามกันว่า "มียายกับตา ๒ คน เขาหุงข้าวแฉะแล้วแฉะอีก ไอ้แกงก็เปรี้ยวแล้วเปรี้ยวอีก แกกินไม่ลง ของมันกินไม่ได้ เวลาพระมาบิณฑบาตแกก็บอกว่า ใส่บาตรดีกว่า" พระนักเทศน์ เขาก็ถามกันว่า "อย่างนี้จะได้อานิสงส์ไหม ?" ก็ต้องตอบว่า "ได้อานิสงส์ แต่ผลที่เขาจะได้รับ ก็เป็น "ทาสทาน"

ผู้ถาม ทาสทาน เป็นยังไงครับ ?

หลวงพ่อ "คำว่า "ทาสทาน" หมายความว่า ให้ของเลวกว่าที่เรากิน เราใช้...เวลาที่เราได้ของใช้สอยมันก็ต้องเลวกว่าที่เขากินเขาใช้กัน ได้ก็ได้ของเลวถ้าให้ของเสมอที่เรากินอยู่ หรือที่เราใช้อยู่ เขาเรียกว่า สหายทาน ผลที่เราจะได้รับ ก็เสมอกับที่เรากินเราใช้ถ้าให้ของที่ดีกว่าที่เรากินเราใช้ เขาเรียกว่า สามีทาน สามีทาน เขาไม่ได้แปลว่า ผัวทานนะ สามีเขา แปลว่า นาย เวลาที่จะได้รับผล เราก็จะได้ของเลิศ ถ้าจะถามว่า ทาสทานมีอานิสงส์ไหม ก็ต้องดูตัวอย่าง ท่านอาฬวีเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐีมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ พระราชาตั้งเป็นมหาเศรษฐี แต่ว่าผ้าที่แกนุ่งนี้ ผ้าใหม่แกนุ่งไม่ได้ นุ่งผ้าช้ำแล้วใกล้จะขาด แกจึงนุ่งได้ ข้าวที่จะกิน เม็ดสวยๆก็กินไม่ได้ ต้องเป็นข้าวหัก หรือเป็นปลายข้าวแกจึงจะกินได้ ของทุกอย่างที่แกใช้ ต้องเป็นของเลว แต่อย่าลืมว่า เขาก็เป็นมหาเศรษฐีได้นะ

อนึ่ง การตั้งใจว่าจะใส่บาตรด้วยของดีๆ น่ะดี แต่ว่าวันไหนมีอาหารที่เราคิดว่าไม่ดีก็ใส่บาตรได้การให้ทาน พระพุทธเจ้าบอกว่า อย่าให้เบียดเบียนตัวเองถ้าเบียดเบียนตัวเอง เป็น "อัตตกิลมถานุโยค" เป็นการทรมานตัว และการให้ทาน พระพุทธเจ้าให้ดูอีกว่า ควรให้หรือไม่ควรให้ถ้าให้ในเขตของคนเลว อานิสงส์ก็น้อย อาจจะไม่มีเลยรู้ว่าคนนี้ควรจะให้ เราก็ให้ ถ้าไม่ควรให้ เราก็ไม่ให้ ให้แล้ว ไปกินเหล้าเมายา ไปสร้างอันตรายกับคนอื่น เราไม่ให้ดีกว่าเป็นการต่อเท้าโจร ให้พลังแก่โจรเวลาจะให้ ท่านวางกฎไว้ดังนี้

๑.ผู้ให้บริสุทธิ์ บริสุทธิ์หรือไม่ เขาจึงให้สมาทานศีลก่อน ถ้าสักแต่ว่าสมาทาน นี่ซวยเวลานั้นต้องตั้งใจรักษาศีลจริงๆ จิตตอนนั้นมันจึงจะบริสุทธิ์ คืออยู่ในช่วงว่างจากกิเลสถ้าตั้งใจสมาทานศีลด้วยดี จิตตอนนั้นบริสุทธิ์
๒.ผู้รับบริสุทธิ์ หมายความว่า ถ้าผู้รับเป็นพระ ก็พยายามให้เป็นพระจริงๆนะ
๓.วัตถุทานบริสุทธิ์ ถ้าไม่ได้ฆ่าสัตว์เอามาทำบุญ ไม่ได้ขโมยสตางค์เขามาทำบุญเป็นของ ๓ อย่าง ถ้าลดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง อานิสงส์ก็ลดตัวลงมาถ้าลดเสียหมดเลย ก็ไม่มีอานิสงส์ แต่ว่าการให้ทานพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อีกประการหนึ่งต้องให้ครบ ๓ กาล จึงจะมี อานิสงส์สูง คือ
๑. ก่อนจะให้ก็ตั้งใจว่าจะให้
๒. ขณะที่ให้ก็ดีใจ
๓. เมื่อให้แล้วก็เกิดความเลื่อมใส

มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยหนึ่ง เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีจนลง ขนาดข้าวเป็นแทบไม่มีกินต้องกินปลายข้าว แต่ศรัทธาท่านยังไม่ถอย ท่านนิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมไปด้วยพระสงฆ์ ไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ท่านก็เอาปลายข้าวละเอียด เรียกว่าข้าวปลายเกวียนต้ม แล้วก็เอาน้ำผักดอง เปรี้ยวๆ เค็มๆ ทำเป็นกับ มาถวายพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า
"เวลานี้ ทานของข้าพระพุทธเจ้าเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าข้า"
พระพุทธเจ้าถามว่า "เธอมีเจตนาในการถวายทานอย่างไรล่ะ ?"
ท่านบอกว่า "ก่อนจะให้ เต็มใจพร้อมเสมอ ในขณะที่ให้ก็ปลื้มใจ เมื่อให้แล้วก็เกิดความเลื่อมใสดีใจว่าให้แล้ว พระพุทธเจ้าข้า"
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า "ดูก่อนมหาเศรษฐี "ลูขัง วา ปณีตัง วา" หมายความว่า ถ้าคนให้ทานมีเจตนาพร้อมเพรียงทั้ง ๓ กาลอย่างนี้ ของดีก็ตาม ของเลวก็ตาม ย่อมมีอานิสงส์เลิศมีอานิสงส์สูง แต่ที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีท่านทำนั้น ท่านถวายพระพุทธเจ้า และพระที่ฉันก็เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด นับเป็นยอดของทาน ถ้าหากว่า เราไม่รู้จะเลือกยังไง องค์นี้จะเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อรหันต์หรือเปล่า หรือเป็นพระโปเก พระเชียงกง ถ้าเราไม่รู้ ก็ ถวายเป็นสังฆทานเลย เพราะสังฆทานมีอานิสงส์สูงมากรองจากวิหารทาน"




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย