คนมีศิลปะ (สาลิตตกชาดก)

 DhammathaiTeam  



ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ฆ่าหงส์รูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ในเมืองพาราณสี มีพราหมณ์ปุโรหิตผู้พูดมากคนหนึ่งประจำราชสำนัก ถ้าเขาได้พูดแล้วคนอื่นจะไม่มีโอกาสได้พูดเลย สร้างความรำคาญให้แก่ผู้คนเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งพระราชา พระองค์จึงคิดหาวิธีสกัดคำพูดของปุโรหิตนั้น

วันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปพระอุทยานด้วยพระราชรถ ถึงต้นไทรทอดพระเนตรเห็นพวกเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังยืนมุงดูชายง่อยเปลี้ยผู้หนึ่ง ดีดก้อนกรวดซัดใส่ใบไม้เจาะรูเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ อยู่ จึงเสด็จเข้าไปทอดพระเนตรดู ทรงคิดได้วิธีสกัดคำพูดของปุโรหิต รับสั่งให้ชายง่อยเปลี้ยเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามว่า

" ในราชสำนักของเรา มีคนพูดมากอยู่คนหนึ่ง เจ้า สามารถทำให้เขาหยุดพูดได้ไหม ? "

เขากราบทูลว่า
" ถ้าได้ขี้แพะถังหนึ่ง อาจทำให้เขาหยุดพูดได้ พระเจ้าค่ะ "

จึงรับสั่งให้นำชายง่อยเปลี้ยเข้าวังด้วย ให้เขานั่งภายในม่านเจาะรูตรงข้ามกับที่นั่งของพราหมณ์ปุโรหิตผู้พูดมากนั้น พร้อมให้วางขี้แพะแห้งไว้ใกล้ ๆชายง่อยเปลี้ยนั้น พอได้เวลาพราหมณ์ปุโรหิตเข้าเฝ้า เขาก็เริ่มกราบทูลพูดโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่น เมื่อเขาอ้าปากพูดคำไหน บุรุษง่อยเปลี้ยก็ดีดขี้แพะที่ทำเป็นก้อนเล็กๆ ผ่านม่านเข้าปากเขาทุกคำพูด พราหมณ์ปุโรหิตจึงได้กลืนกินขี้แพะโดยไม่รู้ตัว

พระราชาทรงทราบว่าขี้แพะหมดแล้ว จึงตรัสว่า
" ท่านอาจารย์ ท่านกลืนกินขี้แพะไปตั้งถังหนึ่งแล้ว ยังไม่รู้อีกหรือ ? ท่าน จงไปถ่ายท้องก่อนที่จะตายเสียเถิด "

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พราหมณ์ปุโรหิตปิดปากสนิท แม้ใครจะพูดด้วย ก็ไม่ค่อยจะพูด พระราชาทรงสบายพระทัยแล้วรับสั่งให้พระราชทานบ้าน ๔ หลัง อยู่ในทิศทั้ง ๔ ทิศ พร้อมทรัพย์สินแก่ชายง่อยเปลี้ยนั้น

ฝ่ายอำมาตย์ ได้เข้าเฝ้าพระราชาแล้วกราบทูลว่า
"ธรรมดาศิลปะในโลก บัณฑิตทั้งหลาย พึงเรียน แม้เพียงดีดก้อนกรวด ก็ยังช่วยให้ชายง่อยได้สมบัตินี้ "

แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
" ขึ้นชื่อว่าศิลปะ แม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็สามารถให้สำเร็จประโยชน์ได้โดยแท้
ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรบุรุษง่อย ได้บ้านทั้ง ๔ ทิศ ก็ด้วยการดีดขี้แพะ "

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ศิลปะเป็นสิ่งจำเป็นกับชีวิต และไม่ควรเป็นคนพูดมาก

ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม

11,821






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย