"ไม่โกรธ คือให้อภัย" (สมเด็จพระญาณสังวร)

 วิริยะ12  

 "ไม่โกรธ คือให้อภัย"

" .. "อันความไม่โกรธนั้น ไม่ได้เป็นคุณเป็นประโยชน์หรือเป็นผลดีแก่ใครยิ่งกว่าแก่ตัวเอง" จึงควรอย่างยิ่งที่จะปฎิบัติ เพื่อความไม่โกรธ ในขั้นต้นแม้เพียงเมื่อกำลังขับรถหรือนั่งอยู่ในรถ "ผู้มีธรรมถือเหตุผลเป็นสำคัญเสมอ" ไม่ว่าใครจะทำผิดมาแล้วมากน้อยเพียงไหน หากเห็นเหตุผลที่กระทำไปเช่นนั้นจักอภัยให้ได้อย่างง่ายดาย

"การตั้งใจจริงที่จะไม่โกรธขณะขับรถ พร้อมกับใช้ปัญญาหาเหตุผลมาประกอบเพื่อไม่ให้เกิดความโกรธ" ก็คือการตั้งใจจริงที่จะเข้าใจเหตุผลความจำเป็น ของคนที่ขับรถอื่น ๆ ด้วยมารยาทอันชวนให้โกรธและเมื่อเหตุผลความจำเป็นของเขาแล้ว "ก็จะอภัยให้ได้ ไม่โกรธ"

"การฝึกใจไม่ให้โกรธ จึงเท่ากับเป็นการฝึกให้อภัยในความผิดของผู้อื่น" ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่รู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม "นับเป็นการบริหารจิตอย่างยิ่งวิธีหนึ่ง" ที่จะให้ผลดีแก่ผู้บริหารเอง

เท่าที่เคยได้ยินมา "รถหรือคนขับรถที่ถูกโกรธมากที่สุดคือรถโกยสารประจำทาง" หรือคนขับรถโดยสารประจำทาง เห็นแทบทุกคัน ทุกสาย ที่พูด ๆ กันให้ได้ยิน ก็เพราะขับไม่เกรงใจใคร ชอบเบียดชอบแซง เพราะรีบร้อนจะไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา "ชนเป็นชน ตายเป็นตาย"

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้ผุ้ขับรถคันอื่น ๆ เกิดโทโส บางทีถึงคิดสู้ "คือใช้วิธีขับไม่ให้รถประจำทางขึ้นหน้าไปได้เลย บางคนเล่าว่า ถึงกับดับเครื่องรถของตนจอดขวางทางไว้เฉย ๆ" ทำให้รถที่ตามติดมาแล่นต่อไปไม่ได้ด้วยเหมือนกัน

"บางคนถึงกับลงมาจากรถไปต่อปากต่อคำกัน" ซึ่งบางทีก็ถึงได้รับบาดจ็บ เลือดตกยางออกและ "บางรายก็ถึงตายทั้งหมดนี้เกิดจากอำนาจโทสะ" ที่ไม่ได้รับการพยายามแก้ไขไม่ให้เกิดด้วยวิธีที่กล่าวแล้วข้างต้นเป็นต้น

แต่ก็เคยได้ยินมาเหมือนกัน "บางคนไม่โกรธรถประจำทางหรือคนขับรถประจำทางเลย" ไม่ว่าจะขับด้วยมารยาทชวนให้โกรธเพียงใดก็ไม่โกรธ "ทั้งยังให้ความเห็นใจอำนวยความสะดวกให้จนสุดความสามารถด้วย" เช่น เปิดทางให้ไปก่อนโดยดีเสมอ

ที่ทำเช่นนั้นบอกว่าไม่ใช่เพราะกลัวถูกชนแล้วจะแย่เพราะรถประจำทางคันใหญ่กว่ามาก ไม่ใช่เพราะรำคาญอยากจะให้ไปเสียให้พ้น ๆ ไม่ใช่เพราะประชดประชัน "แต่เพราะมีเหตุผลที่พอใจ และเห็นว่าเป็นเหตุผลที่ถูกต้องสมควร เมื่อเห็นเหตุผลเช่นนั้นแล้ว การให้อภัยก็เกิดตามมา" ไม่ว่ารถประจำทางจะแล่นอย่างไร ผิดมารยาทมากมายอย่างไร "ก็อภัยให้ได้ไม่โกรธ"

เหตุผลที่ทำให้บุคคลประเภทหลังนี้ไม่โกรธคนขับรถประจำทาง อำนวยความสะดวกให้จนสุดความสามารถเสมอ มีอยู่ว่า "เพราะได้คิดไปถึงความเหน็ดเหนื่อยของคนที่ต้องมีมากมายแน่ แล้วก็คือไปถึงบรรดาผู้โดยสารจำนวนมากที่เบียดเสียดกันอยู่แน่นรถประจำทางทุกคันเสมอ"

ทุกคนได้รับความลำบากไม่น้อย "รถยิ่งติดนานเพียงไรก็ยิ่งลำบากอยู่นานเพียงนั้น" คนขับรถส่วนตัวที่ไม่ต้องเบียดเสียดกับใคร เวลารถติดนานหน่อยยังรู้สึกเดือดร้อน ไม่เป็นสุข "คนนั่งรถประจำทางนั้นแม้รถจะไม่ติดก็มีความเดือดร้อน ไม่เป็นสุข เพราะการต้องเบียดเสียดและห้อยโหนอยู่แล้ว" เมื่อรถติดก็จะต้องเดือดร้อนมากขึ้น

"คนคนเดียวยอมรับความเดือดร้อนเพียงเล็กน้อย เพื่อความสบายขึ้นบ้างของคนจำนวนมาก ต้องเป็นสิ่งควรทำ ต้องเป็นการกระทำที่ดีแน่"

"การเสียสละประโยชน์ตนเพียงเล็กน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ยิ่งใหญ่นั้น ผู้ใดทำได้ ผู้นั้นมีฐานะของจิตใจอยู่ในระดับสูง" ผู้ใดยังทำไม่ได้ ผู้นั้นควรจะได้บริหารจิตใจให้ยิ่งขึ้นเพื่อจะได้ทำได้ ที่จริงผู้บริหารจิตจนเป็นผู้มีจิตสวยงามขึ้นเรื่อย ๆ เป็นผู้ได้ประโยชน์จากการกระทำนั้นด้วยตนเอง ยิ่งกว่าผู้ใดจะได้ .. "

วิธีฝึกใจไม่ให้โกรธ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙
 

5,580







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย