พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ - วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ. หนองคาย

ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้เทศน์ให้ศิษย์ฟังเสมอ ๆ เรื่องสมเด็จพระบรมศาสดาทรงสอนให้มนุษย์รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ ๓ อย่าง ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายภาคหน้า และ ประโยชน์อย่างยิ่ง


ประวัติ : พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ - วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ. หนองคาย
นามเดิม : จวน นรมาส

กำเนิด : เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก

สถานที่เกิด : ณ บ้านเหล่ามันแกว บ้านเลขที่ ๒๘ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี

บิดา : ลา มารดาชื่อ แหวะ สกุลเดิม วงศ์จันทร์

อุปสมบท : อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายมหานิกาย ที่วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี พระอุปัชฌายะชื่อ บุ พระกัมมวาจาจารย์ชื่อ พระมหาแจ้ง ได้ฉายาว่า "จวน กลฺยาณธมฺโม"

มรณภาพ : วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ สิริรวมอายุ ๕๙ ปี ๙ เดือน ๑๘ วัน พรรษา ๓๘


ประวัติพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
จากหนังสือ "กุลเชฏโฐอนุสรณ์"
คณะศิษยานุศิษย์พิมพ์ถวายเป็นธรรมบูชา เนื่องในงานเสด็จพระราชทานเพลิงศพ
ณ วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ จ. หนองคาย
วันเสาร์ที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๔

 

   พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ มีชาติกำเนิดในสกุล "นรมาส" เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก ณ บ้านเหล่ามันแกว บ้านเลขที่ ๒๘ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี

   บิดาท่านชื่อ ลา มารดาชื่อ แหวะ สกุลเดิม วงศ์จันทร์ บรรพบุรุษของท่านอพยพมาจากเวียงจันทน์ เป็นอุปฮาดของเมืองเวียงจันทน์ เมื่อมีภัยสงครามเกิดขึ้น เวียงจันทน์แตก อุปฮาดผู้เป็นต้นตระกูลก็พาครอบครัวอพยพมา ครั้งแรกตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลหนองวัวลำภู ต่อมาย้ายถิ่นฐานบ้านช่อง กระทั่งท้ายที่สุดมาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี

   บิดามีอาชีพทำนา และมีความรู้ทางด้านสมุนไพรมาก เพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงได้อาศัยเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย คือเป็นหมอประจำหมู่บ้าน เป็นที่รักใคร่นับถือ และได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งบิดาของท่านก็ดำรงตำแหน่งนี้มาตลอดจนถึงแก่กรรม ขณะนั้นท่านอายุได้ 16 ปี
     ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คนด้วยกัน มีชื่อตามลำดับดังนี้
           ๑. นายเหีย นรมาส ถึงแก่กรรม
           ๒. นายแดง นรมาส
           ๓. นายโลน นรมาส ถึงแก่กรรม
           ๔. นางน้อยแสง หมายสิน
           ๕. นายอ่อนจันทร์ นรมาส.
           ๖. พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
           ๗. นายนวล นรมาส

    ตามชนบทในสมัยนั้นโรงเรียนมีน้อยมาก ตั้งอยู่ห่างไกลกัน ในตำบลหนึ่ง ๆ มิได้มีโรงเรียนครบทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านใดไม่มีโรงเรียนเด็กก็ต้องมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนในหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งต้องเดินนับเป็นสิบ ๆ กิโลเมตร ผู้ปกครองจะยอมให้บุตรหลานไปเรียนหนังสือจึงต้องให้โตพอประมาณ คือ อายุ ๙-๑๐ ท่านอาจารย์ก็เช่นเดียวกันเริ่มเข้าเรียนหนังสือเมื่ออายุครบ ๙ ขวบเต็ม ต้องเดินไปโรงเรียนที่อีกหมู่บ้าน คือที่บ้านดงมะยาง จนขึ้นชั้นประถมปีที่ ๓ โรงเรียน จึงย้ายมากอยู่ที่วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ติดกับบ้านเหล่ามีนแกว อันเป็นบ้านเกิด ท่านได้เรียนรู้ที่โรงเรียนนี้จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของตำบลชนบทละแวกนั้น ระหว่างเรียนเป็นผู้เรียนดี ฉลาดและขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่ง สอบไล่ได้ที่ ๑ โดยตลอด ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๑ จนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ได้รับคำชมเชยยกย่องจากครูบาอาจารย์ ทั้งในด้านการเรียนและในด้านความประพฤติจนครูเชื่อถือรักใคร่ให้ช่วยสอนเพื่อนนักเรียนแทนครูตลอด เป็นประจำทุกชั้นเรียน

   หลังจากจบการศึกษาแล้ว อายุย่างเข้า ๑๘ ปี ท่านได้เข้าทำราชการกรมทางหลวงแผ่นดิน อยู่เป็นเวลา ๔ ปี จึงได้ลาออกเพื่อเตรียมอุปสมบท

   กล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้มีนิสัยฝักใฝ่ในทางธรรมะมาแต่เด็ก นอกจากการวิ่งเล่นซุกซนสนุกสนานตามวิสัยเด็กน้อยแล้ว สำหรับนิสัยทางสร้างบาปสร้างกรรมไม่มีเลย ท่านเล่าเสมอว่าท่านไม่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ส่วนการหยิบฉวยลักขโมยนั้น แม้แต่เข็มสักเล่มเดียวก็ไม่เคยหยิบฉวยของใครเลย

   เมื่อท่านอายุได้ ๑๔-๑๕ ปี ได้พบพระธุดงค์ มาปักกลดอยู่ใกล้บ้านก็บังเกิดความเลื่อมใสตั้งปณิธานว่าต่อไปจะบวชอย่างท่านบ้าง พระธุดงค์ได้มอบหนังสือ "ไตรสรณาคมน์" ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แห่งวัดป่าสาละวัน นครราชสีมา มาให้ หนังสือนี้นอกจากสอนให้พุทธศาสนิกชน รู้จักการเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริงแล้ว ได้สอนวิธีปฏิบัติภาวนาด้วย ท่านบังเกิดความคิดเลื่อมใสศรัทธา จึงจะลองปฏิบัติตามหนังสือนั้น เริ่มสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรต่อ แล้วนั่งสมาธิหัดบริกรรม "พุทโธ ...พุทโธ...พุทโธ" จนกระทั่งปรากฏว่าจิตรวม จิตกับกายแยกกัน ไม่เหมือนกัน จิตอยู่เฉพาะจิต กายอยู่เฉพาะกาย เวทนาใดก็ไม่มีปรากฏเลย

   ท่านเล่าว่า เวลานั้นก็ไม่รู้จักอะไรลึกซึ้ง ด้วยหัดเอง ทำเอง ทำตามลำพังคนเดียวไม่มีผู้รู้มาสอนให้ก้าวหน้าขึ้น ได้แต่รู้สึกว่านั่งสมาธิแล้วก็สบายดี กายเบา จิตขาวนิ่มนวลผ่องใส เหมือนนั่งนอนอยู่อากาศอันนิ่มนวล ทำให้จิตใจดูดดื่มมาก นึกอยากจะภาวนาเสมอ ๆ ถ้าวันไหนใจไม่สบาย ก็ต้องเข้าที่นั่งภาวนา สงบใจเสมอ

   ภายหลังระหว่างทำงานได้รับหนังสือ "จตุราลักษณ์" ของท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล มาอ่านเพิ่มเติมสติปัญญาอีก เมื่อท่านอ่านไปถึง มรณานุสติ จิตก็สลดสังเวชว่า เราก็ต้องมีตายอยู่นั่นเองและในหนังสือนั้นท่านพระอาจารย์เสาร์ฯ ก็ได้ย้ำถึงเรื่องกรรมว่า คนเราต่อมมีกรรมเป็นของของคน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เมื่อยังมีชีวิตอยู่ กรรมนั้นจักเป็นทายาทให้เราได้รับผลกรรมนั้นต่อ ๆ ไป คือ หมายความว่า กรรมต่อมจำแนกสัตว์ให้เป็นไปต่างๆ นานา ให้เลว ให้ดี ให้ชั่ว ให้ประเสริฐ เมื่ออ่านกันถึงตอนนี้ ท่านก็บังเกิดความสลดสังเวชใจอย่างยิ่ง นึกว่าคนเราที่เกิดมาถ้าไม่ประกอบคุณงามความดี ก็ไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตของตน และไม่มีโอกาสที่จะได้รับความสุขต่อไปในชาติหน้าอีก ศรัทธาในพระศาสนาก็เพิ่มพูนขึ้น เมื่ออายุเพียง 20 ปีถึงกับสละเงินที่เก็บหอมรอมริบระหว่างทำงานอยู่กรมทางหลวงทั้งหมดเป็นเจ้าภาพสร้างมหากฐินคนเดียว สร้างพระประธาน สร้างส้วม ในวัดจนหมดเงิน

   เมื่อท่านอาจารย์อายุ 21 ปีบริบูรณ์ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายมหานิกาย ที่วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ตำบลดงมะยาง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี พระอุปัชฌายะชื่อ บุ พระกัมมวาจาจารย์ชื่อ พระมหาแจ้ง ได้ฉายาว่า "จวน กลฺยาณธมฺโม" ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรม และสอบได้นักธรรมตรีในพรรษานั้น

   ระหว่างที่บวชเป็นพระบ้านอยู่นั้น ท่านปรารถนาจะออกธุดงค์เจริญรอยยามพระธุดงคกัมมัฏฐานที่เคยกราบคารวะเมื่อยังเด็ก จึงคิดจะญัตติเป็นธรรมยุตเพื่อออกธุดงค์ เมื่อไปขอลาอุปัชฌาย์ท่านไม่ให้ญัตติให้สึกเสียก่อน ท่านจึงตัดสินใจลาสิกขาบทออกมาเป็นฆราวาสก่อนชั่วคราว


พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๖
วัดบ้านพอก อำเภออำนาจเจริญ

หลังจากสึกมาเป็นฆราวาสแล้ว ท่านได้เดินทางไปแสวงหาอาจารย์ฝ่ายธรรมยุตกัมมัฏฐาน ได้มาพบที่สำนักวัดป่าสำราญนิเวศน์ อำเภออำนาจเจริญ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝายธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ณ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ท่านพระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌายะ ท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตโต เป็นพระกัมมวาจาจารย์ อุปัชฌาย์เพิ่งได้รับแต่งตั้งและมาบวชท่านเป็นองค์แรก จึงตั้งฉายาให้ท่านว่า "กุลเชฏโฐ" แปลว่า พี่ชายใหญ่ที่สุดของวงศ์ตระกูลนี้ องค์ที่สองที่อุปัชฌาย์บวชต่อมา คือท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมมวโร แห่งวัดป่าแก้ว บ้านชุมพล ซึ่งท่านอาจารย์จวนได้มานั่งหัตถบาถอยู่ด้วย

      เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้รับคำสั่งให้ท่องปาฏิโมกข์ และเจ็ดตำนานให้ได้หมดภายในหนึ่งเดือน ท่านก็พยายามท่องจำทั้งกลางวันกลางคืน จนสามารถท่องได้ตามที่อาจารย์ของท่านกำหนดไว้ จึงได้รับคำชมเชยจากอาจารย์เป็นอันมาก

      ท่านได้เร่งทำความเพียรอย่างขะมักเขม้น เดินมาก นั่งมาก ฉันน้อย บางวันก็ไม่ฉันสลับกันไป ท่านพระอาจารย์เกิ่ง เห็นว่าท่านรู้สึกจะซูบผอมลงไปมาก จึงตักเตือนให้ฉันอาหารเสียบ้าง

      เมื่อจะเริ่มเข้าพรรษา ปรากฏว่าที่วัดป่าบ้านพอก หนองคอน ทั้ง อำเภอเลิงนกทา ไม่มีพระสวดปาฏิโมกข์ได้ พระอาจารย์บัง จึงได้ขอตัวท่านอาจารย์ไปอยู่ที่วัด ในพรรษานั้นโยมมารดาได้มาบวชเป็นชีอยู่ด้วย ท่านได้อธิษฐานฉันเจ ไม่ฉันเนื้อสัตว์ อดอาหาร ๔ วันสลับกับอดนอน ๔ คืนบ้าง อดอาหาร ๘ วัน สลับกับอดนอน ๘ คืนบ้าง และได้ออกบิณฑบาตมาเลี้ยงโยมมารดาเพื่อสนองคุณ

      ในระหว่างพรรษาขณะนั่งฟังเทศน์ จิตของท่านสงบลง เกิดภาพนิมิตขึ้นในจิต ปรากฏร่างของท่านเน่าเปื่อยเป็นอสุภ เห็นขาของตัวเองเน่าเปื่อย มีน้ำเหลืองไหล เหมือนมองดูด้วยตาเนื้อ ท่านอาจารย์จึงได้พิจารณาอสุภะต่อไปเป็นประจำ

     ในพรรษานี้เกิดภาพนิมิตแปลก ๆ ขณะกำลังทำความเพียรเสมอ วันหนึ่งก่อนจิตจะรวมได้เกิดภาพนิมิตขึ้นว่า มีแม่ไก่ลายมาจิกกินอุจจาระอยู่ตรงหน้า ท่านจึงได้กำหนดจิตถามว่า จิกกินอะไร แม่ไก่ตอบว่า จิกกินอุจจาระ แล้วถามว่าแม่ไก่เป็นใคร ก็ตอบว่าเป็นเทวดา ท่านจึงกำหนดจิตถามต่อไปว่า เทวดาทำไมกินอุจจาระ แม่ไก่ตอบว่า มนุษย์เราทุกชาติทุกภาษาต้องกินอุจจาระกันทั้งนั้น ท่านจึงน้อมเอานิมิตนั้นมาพิจารณา ก็เห็นว่า มนุษย์เรานี้ก็ต้องกินขี้กันทั้งสิ้น จึงทำให้เกิดความสลดสังเวชอย่างยิ่งในพรรษานั้น

      อยู่มาวันหนึ่งหลังจากฉันอาหารเช้าแล้ว ก่อนจะขึ้นไปบนกุฏิเพื่อเก็บเครื่องบริขาร ท่านมองไปบนหน้าจั่ว ได้เห็นหญิงสาวคนหนึ่งนุ่งห่มแต่งกายด้วยเสื้อผ้าลาย ๆ เหมือนแม่ไก่ที่เคยปรากฏในนิมิต ยืนถือตะกร้าหมากอยู่บนหน้าจั่ว มองดูเป็นหญิงที่มีรูปร่างสวยงามมาก ใจหนึ่งก็บอกว่าเป็นเทวดา ท่านก็ไม่สนใจเก็บเครื่องบริขารต่อไปเรื่อย ๆ ครั้งที่สองหันไปมอง ก็ยังเห็นยืนอยู่ที่เก่า ท่านก็เก็บเครื่องบริขารของตนให้เรียบร้อย ครั้งที่สามมองดูใหม่รูปที่ปรากฏนั้นหายไปแล้ว ขณะนั้นจิตของท่านก็นึกขึ้นมาได้ว่า นี่ละหนอ...พวกที่ภาวนาแล้วเห็นภาพนิมิตต่าง ๆ มาปรากฏก็เข้าใจว่าตนได้ญาณ บรรลุมรรคผลทำให้เกิดหลงงมงาย ผลที่สุดก็เสื่อมไปไม่ได้ประโยชน์อะไรจากธรรมะ

      ออกพรรษาแล้ว โยมมารดาซึ่งบวชเป็นชีได้ลาสิกขาบทกลับไปอยู่บ้านกับลูกหลาน เสร็จกิจแล้วท่านปรารถนาจะออกเดินธุดงค์ จึงหาเพื่อไปด้วย เป็นสามเณรองค์หนึ่ง ออกเดินจากวัด จากอำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี จะเดินทางไปนมัสการพระธาตุพนม เดินทางผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ใช้เวลาธุดงค์ถึง ๗ วัน ๗ คืน จึงถึงพระธาตุพนม หลังจากนมัสการพระธาตุพนมแล้ว ได้เดินทางต่อไปเมืองเว หรือเมืองเรณูนคร พักอยู่ประมาณ ๒ เดือน จึงเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี

      ขณะเดินทางกลับ ท่านกลับองค์เดียว เณรไม่ได้กลับด้วย ได้เดินจากเรณูนคร ผ่านพ้นดงมะอี่ เขตอำเภอลิงนกทา ระหว่างบ้านไร่กับบ้านหนองยางต่อกัน ก็ได้กลิ่นเหม็นที่กลางดง ท่านจึงได้เดินสำรวจดู ได้พบซากศพคนตายอยู่ข้างทาง ท่านมีความยินดีเป็นอันมาก และคิดว่าควรจะเพ่งอสุภะให้ได้ ร่างนั้นเน่าเปื่อย ตับไต ไส้พุง มีหนอนชอนไช ท่านยืนเพ่งแล้วน้อมเข้ามาดูตัวว่า อีกหน่อยตัวเราก็ต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ต่อมาก็เกิดความคิดขึ้นว่า ควรจะเผาศากศพนี้เสียให้หายอุจาดตา จึงได้ไปหากิ่งไม้เล็ก ๆ มาเตรียมจะเผา แล้วท่านจึงเกิดคิดขึ้นมาได้ว่า ตัวท่านเป็นพระ จะเผาศพนี้ได้อย่างไร เพราะดินและหญ้ายังเขียวสด ปละในศพก็ยังมีสัตว์มีชีวิตอยู่มากมาย ถ้าเผาก็จะต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทำบุญจะได้บาป คิดแล้วก็ตกลงไม่เผา

      ท่านได้กลับมายืนพิจารณาศพ โดยถือเป็นอสุภะต่อไป นับเวลาตั้งแต่เดินทางมาถึงเป็นเวลาเที่ยง จนกระทั่งเวลาบ่าย ๓ โมง ไม่มีความกลัวเลย และตั้งใจจะค้างคืนพิจารณาอสุภะนั้นอีกด้วย แต่ได้มีชาวบ้าน ๒ คนเดินมา ท่านจึงได้สอบถามดูได้ความว่า เจ้านายใช้ให้ชายทั้ง ๒ มาดูแลศพไว้ เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองยังไม่ได้มาชันสูตรศพ ท่านจึงขอค้างคืนเพื่อพิจารณาศพและขอชักบังสุกุลสิ่งของที่อยู่กับศพ ชายทั้งสองก็ไม่เห็นด้วยกลับนิมนต์ให้ท่านหลีกไป มิจะนั้นอาจสงสัยว่าม่านฆ่าคนตาย เมื่อชาวบ้านยืนยันปฏิเสธเช่นนั้น ท่านจึงได้ออกเดินทางต่อไป

      ตกเย็น ท่านได้เดินทางถึงบ้านโพนหนามแท่ง อำเภออำนาจเจริญ ได้หยุดพักปักกลดอาบน้ำชำระร่างกาย เวลาพลบค่ำ ไหว้พระสวดมนต์ พิจารณาซากอสุภะที่เห็นเมื่อกลางวันแล้วน้อมเข้าหาตัว ปรากฏว่าจิตใจสงบ สบาย เยือกเย็นมีความสุขมาก นั่งภาวนาอยู่ตั้งแต่ปฐมยามจนถึงตี ๒ ต่อจากนั้นได้เกิดลมพายุฝนตกหนัก ท่านจึงปลดมุ้งออกพับเก็บพร้อมทั้งสังฆาฏิไว้ในบาตรปิดฝา และนั่งภาวนาต่อไปเรื่อย ๆ รู้สึกว่าฝนเย็น ลมเย็น จิตใจก็เย็นสบายดี ฝนตกประมาณ ๑ ชั่วโมงก็หายไป


พรรษาที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๗
วัดทุ่ง บ้านชาติหนองอีนิน อำเภอเลิงนกทา

     ในพรรษาที่ 2 ท่านอาจารย์จำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่ง บ้านชาติหนองอีนิน ซึ่งท่านพระอาจารย์เกิ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ท่านได้ทำความเพียรพอสมควร ในพรรษานี้ได้มีเหตุการณ์แปลกเกิดขึ้นคือ มีหญิงคนหนึ่งซึ่งในสมัยที่ท่านยังทำราชการอยู่กรมทางหลวง ได้เคยเห็นหญิงคนนี้เดินทางไปมาระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับอำเภออำนาจเจริญอยู่บ่อย แต่ไม่ทราบว่าเป็นคนบ้านไหน เมื่อท่านมาจำพรรษาที่วัดนี้ได้เห็นหญิงผู้นี้อีก แต่ตอนนี้มีร่างกายทรุดโทรมผอมลงมาก ถือหม้อยามาอาศัยต้มยาและนอนที่ลานวัด ใต้ร่มไม้ฉำฉา อยู่มาไม่นานหญิงคนนี้ก็นอนตายใต้ร่มไม้นั้นเอง ตอนเช้าท่านมองเห็นศพก็จะเข้าไปพิจารณาอสุภะใกล้ๆ แต่ญาติโยมมาเล่าให้ท่านฟังว่าศพของหญิงนั้นมีหนอนมาเจาะไชเจาะกินทั่วทั้งตัวโดยเฉพาะที่ทวารเบา เป็นที่น่าสลดสังเวชมากเพราะเป็นคนเจ้าชู้ เป็นโรคบุรุษ ประพฤติผิดมิจฉากาม เมื่อตายจึงถูกลงโทษทันตาเห็นมีหนอนขึ้นชอนไชเต็มไปหมด เมื่อท่านได้ยินเช่นนี้ท่านจึงเกิดความสลดสังเวชเบื่อหน่ายมาก นับเป็นซากศพที่ 2 ที่ท่านเคยเห็น


พรรษาที่ ๓พ.ศ. ๒๔๘๘
วัดบ้านนาจิก ดอนเมย บ้านหนองปลิง ต.นาจิก

     ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ วัดป่าบ้านนาจิก ซึ่งเป็นสถานที่ท่านอาจารย์ได้เข้าไปบ่รับปรุงและสร้างเป็นวัด อันเป็นวัดแรกที่ท่านสร้างขึ้น ในพรรษานั้น ได้อธิษฐานทำความเพียรจะไม่นอนและฉันเลยตลอดพรรษา การอธิษฐานไม่นอนนี้ นอกจากจะไม่ยอมให้หลังแตะพื้นแล้ว จิตต้องทำความรู้ตัวตลอดเวลา ไม่ให้ตกภวังค์แม้แต่ขณะจิตเดียว ไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถ เดิน ยืน หรือนั่ง ในระยะนั้นยังใช้คำบริกรรม "พุทโธ" เป็นพื้น มีการพิจารณาร่วมไปด้วย พอกลางพรรษาเกิดวิปริตทางธาตุ คือ มีน้ำมันสมองไหลออกทางจมูกเป็นน้ำเหลือง ท่านเจ้าอาวาสจึงขอร้องให้ท่านนอนพักผ่อนเสียบ้าง และต่อมาถึงกับบังคับให้ท่านนอนพัก มิจะนั้นต่อไปตาอาจจะบอดได้ ท่านอาจารย์จึงได้ยอมพักผ่อนหลับนอนบ้างเล็กน้อย แต่ก็ยังทำความเพียรอยู่

      ในระหว่างพรรษานี้ ท่านได้เกิดปฏิพัทธ์รักใคร่หญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งเคยเอาจังหันมาถวายปอย ๆ แค่ยังทำความเพียรตลอดไม่หยุดและไม่บอกให้ใครทราบ ต่อมาจึงคิดอุบายขึ้นมาได้ โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้ายังมีบุญวาสนาอยู่ในพรหมจรรย์แล้ว ขอให้ได้นิมิตเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งท่านเคยได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณมานานแล้ว ขอให้ได้ไปกราบไหว้ท่าน สนทนาได้ฟังธรรมจากท่าน แต่ถ้าไม่มีบุญวาสนาแล้ว ขออย่าให้บรรลุธรรม หรืออย่าได้พบเห็นท่านพระอาจารย์มั่นเลย และให้เห็นนิมิตแต่สิ่งที่ลามกน่ารังเกียจเถิด

      หลังจากนั้น ๓ วัน ท่านได้นิมิตว่า ได้เดินทางไปสู่สำนักท่านพระอาจารย์มั่น เห็นท่านกำลังกวาดลานวัดอยู่ พอเห็นก็รู้ว่านี่คือท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเหลือบมาเห็นเข้าก็ทักท่านอาจารย์จวนอย่างดีใจว่า "อ้อ...ท่านจวนมาแล้ว ท่านจวนมาแล้ว" มีความรู้สึกคล้ายกับพ่อเห็นลูก ลูกเห็นพ่อ พอท่านตรงเข้าไปจะกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่นก็โก่งหลัง บอกให้ท่านขึ้นขี่หลังท่านอาจารย์มั่นเหมือนขี่ม้า แล้วท่านจึงพาเหาะขึ้นบนอากาศจนลิบเมฆ แล้วพามาลงที่กลางภูเขาลูกหนึ่งแล้วบอกว่า "เอาละ ลงนี่แหละ พอดีพอควรแล้ว" เมื่อตื่นจากนิมิต ท่านมาพิจารณาดูก็เกิดปีติยินดีว่า คงจะมีวาสนาบารมีอยู่ในพรหมจรรย์ จึงเร่งทำความเพียรต่อไป

      หลังออกพรรษาได้ ๕ วัน ท่านเจ้าคุณ อริยคุณาธาร (มหาเส็ง ปุสโส) ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะภาค มาตรวจงานคณะสงฆ์ทางภาคอีสาน ได้มาแวะเยี่ยมที่วัดป่าบ้านนาจิก นัยว่าท่านพระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิต เทวิโร) อุปัชฌาย์ของท่าน ได้ฝากท่านไว้กับท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร ขอให้ช่วยนำไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นด้วย ท่านอาจารย์จึงได้ติดตามท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารไป เมื่อได้กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดกลนคร ท่านก็ประหลาดใจอย่างยิ่งที่เมื่อได้เห็นตัวจริงของท่าน ลักษณะรูปร่าง กิริยาท่าทางต่าง ๆ มิได้แตกต่างจากในนิมิตเลย


พรรษาที่ ๔
อยู่ด้วยท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ

     ท่านอาจารย์จวนได้มีโอกาสศึกษาอบรมอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ตั้งแต่ออกพรรษาที่ ๓ ได้เพียง ๓ วัน แอยู่ตลอดมาจนตลอดฤดูแล้ง และได้อธิษฐานพรรษาอยู่กับท่านจนตลอดพรรษาที่ ๔ โอวาทของท่านจะแนะนำให้ประพฤติปฏิบัติทางพระวินัย ให้เคร่งครัด รวมทั้งการุดงค์ การภาวนาให้พิจารณากายเป็นส่วนมาก พิจารณากายส่วนใดส่วนหนึ่งให้ถูกกับจริตนิสัยของตัวเอง ถ้าจิตไม่สงบมีความฟุ้งซ่าน ให้น้อมนึกเข้ามาด้วยความมีสติ นึกภาวนาแต่พุทโธ เมื่อจิตสงบแล้วให้พักพุทโธไว้ให้อยู่ในความสงบแต่มีสติ ฝึกให้ชำนิชำนาญ แล้วให้นึกน้อมเข้ามาพิจารณากายของตนเองด้วยความมีสติ มิให้พลั้งเผลอ เมื่อจิตรวมก็ให้มีสติ รู้ว่าจิตรวม อย่าบังคับให้จิตรวม ให้มีสติอยู่ว่าจิตรวม อย่าถอนจิตที่รวมอยู่ ให้จิตถอนออกเอง พอจิตถอน ให้น้อมเข้ามาพิจารณากายที่เคยพิจารณาอยู่ ให้มีสติอยู่ตลอดเวลา ส่วนนิมิตที่เกิดขึ้น แสดงเป็นภาพภายนอก หรือนิมิตภายใน ก็ให้น้อมเข้ามาพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งใดมีเกิดก็ต้องมีดับ อย่าพลั้งเผลอลุ่มหลงไปตามนิมิตที่เกิดขึ้น แล้วน้อมเข้ามาพิจารณากายให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ว่ามิใช่ของตน ให้พิจารณาอย่างมีสติ เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้วก็ให้พักอย่างสงบเมื่อสงบพอสมควรแล้วก็ให้พิจารณาต่อ ท่านเล่าให้ฟังว่า คำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นจะเป็นในหลักนี้เสมอ

      ท่านอาจารย์ได้เล่าถึงความน่าขายหน้าของตัวท่านเอาไว้ ในเรื่องเกี่ยวกับท่านพระอาจารย์มั่นดังนี้

      เวลานั้นท่านยังเป็นพระผู้น้อยไปอยู่วัดป่าบ้านหนองผือใหม่ ๆ ใจก็อดคิดตามประสาปุถุชนไม่ได้ว่า "เขาเล่าลือกันว่า ท่านพระอาจารย์ใหญ่เป็นพระอรหันต์ เราก็ไม่ทราบว่าจริงไม่หรือ ถ้าเป็นอรหันต์จริง คืนนี้ก็ให้มีปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏด้วย"

      ในคืนวันนั้นเอง พอท่านภาวนา ก็ปรากฏนิมิตเห็นท่านพระอาจารย์มั่นเดินจงกรมอยู่บนอากาศ และแสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา และเวลานอนหลับก็ยังฝันเห็นท่านเดินอยู่บนอากาศเช่นเดียวกัน

      ท่านจึงยกมือไหว้ และว่าเชื่อแล้ว.....

      อย่างไรก็ดี หลังจากวันนั้น ท่านก็เกิดคิดขึ้นมาอีกว่า " เอ...เขาว่าท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของลูกศิษย์ทุกคน จริงไหมหนอ ? เราน่าจะทดลองดู ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของเรา ขอให้ท่านอาจารย์ใหญ่มาหาเราที่กุฏิคืนวันนี้เถอะ" พอท่านคิดได้ประเดี๋ยวเดียว ก็ได้ยินเสียงไม้เท้าเคาะใกล้เข้ามา และกระแทกเปรี้ยงเข้าที่ฝากุฏิของท่าน พร้อมกับเสียงของท่านพระอาจารย์มั่นเอ็ดลั่นว่า " ท่านจวน...ทำไม่จึงไปคิดอย่างนั้น นั่นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ รำคาญเรานี่"

      ท่านเล่าว่าคืนนั้น แม้จะตัวสั่น กลัวแสนกลัว แต่ต่อมา ก็ยังดื้อไม่หาย คืนหลังเกิดความคิดขึ้นอีก

      "ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่ เป็นผู้รู้วาระจิตของเรา เราบิณฑบาตได้อาหารมาขอให้ท่านรอเราทุกวัน ๆ ขออย่าเพิ่งฉันจนกว่าเราจะหย่อนบาตรท่านก่อน"

      เป็นธรรมดาที่พระทั้งหลาย พอบิณฑบาตได้ ก็จะเลือกสรรอาหารอย่างเลิศอย่างดีที่สุดที่บิณฑบาตได้มา สำหรับไปใส่บาตรพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เคารพ วันนั้นท่านอาจารย์จวนก็พยายามประวิงเวลากว่าจะนำอาหารไปใส่บาตรก่อน ก็ออกจะล่าช้ากว่าเคย จนกระทั่งหมู่เพื่อนใส่บาตรกันหมดแล้ว จึงค่อย ๆ ไปใส่บาตรต่อภายหลัง ท่าน

      พระอาจารย์มั่นก็มักจะมีเหตุช้าไปด้วย จนท่านอาจารย์จวนหย่อนบาตรแล้ว ท่านจึงเริ่มฉัน เป็นเช่นนี้อยู่หลายวัน ท่านอาจารย์จวนเล่าว่า ท่านยิ่งได้ใจ มักอ้อยอิ่งอยู่ทุกวัน จนเช้าวันหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่นคงเหลืออดเหลือทนเต็มที จึงออกปาก

      "ท่านจวน อย่าทำอย่างนั้น ผมรำคาญ ให้ผมรอทุกวัน ๆ ทีนี้ผมไม่รออีกแล้วนะ"

      คืนหนึ่งขณะที่ท่านอาจารย์จวนตั้งใจภาวนาทำความเพียรอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ปฐมยาม อธิษฐานนั่งในกลด ตั้งใจภาวนา ไม่นอนตลอดคืน พอจิตค่อยสงบลง ก้เกิดนิมิตผุดขึ้นว่า "ปททฺทา ปททฺโท" ท่านได้กำหนดจิตแปลอยู่ ๓ ครั้ง จึงแปลได้ความว่า "อย่าท้อถอยไปในทางอื่น" แล้วปรากฏว่ากายของท่านไหวไปเลย จากนั้นจิตก็เริ่มรวมลงสู่ภวังค์ คือจิตเดิมทีเดียว ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าจิตสู่ภวังค์ และจิตเดิมเป้นอย่างไร รู้แต่ว่า ขณะจิตรวมนั้น จิตใสบริสุทธิ์ หมดจด หาที่เปรียบได้ยาก แสนที่จะสบายมากที่สุด เป็นจิตปราศจากอารมณ์ใด ๆ จิตรวมอยู่อย่างนั้นตลอดคืนจนรุ่งเช้า จิตจึงถอนออก และได้รับความเบิกบานทั้งกายและใจ มีความปีติเหมือนลอยอยู่ในอากาศ กายและใจเบาที่สุด

      วันต่อมาขณะที่พระเณรได้ไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย่ใหญ่มั่น เมื่อมีโอกาสท่านอาจารย์จวนจึงได้กราบเรียน เล่าเรื่องที่เป็นมาให้ท่านฟัง ท่านพระอาจารย์มั่นได้พิจารณาดูจิตของท่านว่าเป็นจริงหรือไม่แล้วจึงบอกว่า "อ้อ...จิตท่านจวนนี่รวมทีเดียวถึงฐีติจิต คือจิตเดิมเลยทีเดียว" ท่านพระอาจารย์มั่นชมเชยว่าดีนัก จะได้กำลังใหญ่ แต่ถ้าสติอ่อน กำลังจะไม่มี ท่านจึงกราบเรียนถามต่อว่า ก่อนจิตรวมได้เกิดนิมิตว่า "ปททฺทา ปททฺโท" ขอกราบเรียนให้ท่านอาจารย์มั่นแปลให้ฟัง ซึ่งท่านตอบว่า แปลให้กันไม่ได้หรอก สมบัติใคร สมบัติมัน คนอื่นแปลให้ไม่ได้ ต้องแปลเอาเอง นับว่าท่านอาจารย์มั่นได้ใช้อุบายฉลาดหลักแหลมมากนัก ต้องการให้ศิษย์ฝึกหัดใช้สติปัญญาแปลให้ได้เอง ต่อไปจะได้เป็นสันทิฏฐิโก คือเป็นผู้รู้เอง เห็นเอง

      เมื่อท่านได้รับโอวาทจากท่านพระอาจารย์มั่นเช่นนั้น ก็ได้เร่งทำความเพียรตามสติปัญญา เข้าใจว่าท่านพระอาจารย์มั่นคงเฝ้าดูการปฏิบัติและจิตของท่านอาจารย์จวนอยู่ตลอด อยู่มาวันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นจึงกล่าวว่า ได้กำหนดจิตดูท่านจวนแล้ว ได้ความเป็นธรรมว่า "กาเยนะ วาจายะ วะเจต วิสุทธิยา" ท่านจวนเป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม

      เมื่อออกพรรษาเสร็จกิจทุกอย่างก็กราบลาท่านพระอาจารยืมั่นออกวิเวกธุดงค์ ท่านพระอาจารย์มั่นแนะนำให้ท่านไปอยู่ถ้ำยาง บ้านลาดกระแอ จังหวัดสกลนคร บ้านลาดกระเฌอเป็นหมู่บ้านชาวป่าชาวเขา ตัวถ้ำยางซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านราว ๒ กิโลเมตร ท่าได้ทำความเพียรอยู่ที่นี้ ๗ วัน ๗ คืน ไม่ได้หลับนอนเลย จิตรวมโดยง่าย เกิดภาพนิมิตต่าง ๆ ทั้งนิมิตภายในและนิมิตภายนอกเกิดขึ้นเสมอ พิจารณาดูก็รู้ว่า นิมิตนี้เกิดจากจิตที่สอดส่ายไป ผู้ไม่มีสติก็จะทำให้ลุ่มหลงไปตามสภาพนิมิต สำคัญผิดว่าตัวเองได้ญาณเกิดทิฏฐิมานะว่าได้หูทิพย์ ตาทิพย์ ซึ่งอาจจะทำให้ธรรมะแตกได้

      ต่อจากนั้นท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปแถวภูพาน จังหวัดสกลนคร ได้พบท่านพระอาจารย์มหาทองสุข สุจิตโต เจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส สมัยนั้น ได้ชวนกันไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ซึ่งกำลังอยู่ที่บ้านห้วยหีบ

     เมื่อได้ฟังเทศน์ท่านอาจารย์กงมาแล้ว ท่านได้แยกทางกับท่านมหาทองสุข เดินทางผ่านภูพานไปจังหวัดอุบลราชธานี ต่อมาท่านตั้งใจจะเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยขึ้นรถไฟที่สถานีอำเภอวารินชำราบ มาต่อรถที่บ้านภาชี ไปถึงจังหวัดเชียงใหม่


พรรษาที่ ๕-๖ พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๑
วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงโหม่

     ท่านมาถึงเชียงใหม่ ได้เข้าพักที่วัดเจดีย์หลวง ซึ่งเป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่ พักผ่อนวิเวกที่วัดนี้ประมาณ3 เดือน คืนหนึ่งขณะนั่งภาวนาในโบสถ์มีนิมิตเกิดขึ้นว่ามีพระเถระไปหนึ่งได้มาให้โอวาทตักเตือนว่า "ท่านจวน ถ้าท่านจะเป็นผู้ใหญ่เขานั้น ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ" ท่านได้มาพิจารณาดู แผ่นดินแปลว่า ให้มีความหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน เมื่อถูกกระทบกระเทือนจากอารมณ์ก็อย่างวอกแวก ตั้งใจให้เป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวฟุ้งซ่าน ท่านจึงได้กราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นว่า "กราบเรียนพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง เกล้ากระผมได้นั่งภาวนาแล้วเกิดนิมิต ปรากฏพระเถระผู้ใหญ่มาตักเตือนว่า - ท่านจวน ถ้าท่านจะเป็นผู้ใหญ่เขานั้น ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ... ดังนี้ เกล้ากระผมเป็นผู้มีสติปัญญาน้อย ไม่สามารถจะรู้ว่าอะไรเป็นแผ่นดิน ขอนิมนต์พ่อแม่ครูอาจารย์โปรดประทานให้โอวามตักเตือนด้วย"

      ท่านพระอาจารย์มั่นได้ตอบจดหมายมาว่า "ถึงท่านจวนที่อาลัยยิ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้แนะนำให้ท่านนั้น ขอให้ท่านจงตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติดำเนินไปตามคำที่ผมแนะนำ อย่าได้ประมาทเพื่อจะได้เป็นเกียรติยศแก่พระพุทธศาสนาต่อไป"

      หลังจากนั้นท่านได้ออกวิเวกนอกเมืองเชียงใหม่ ท่านได้ธุดงค์ไปอยู่ที่วัดอุโมงค์ ใกล้สนามบินเชียงใหม่ ท่านและพรรคพวกพากันไปพักวิเวกที่นั้น ตกกลางคืนนิมิตว่า ท่านและท่านพระอาจารย์มั่นได้กำลังทำหีบศพอยู่บนเจดีย์ ขณะนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ท่านเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ได้เหาะลอยมาในอากาศ แล้วมาหยุดที่ข้างหน้าท่าน และได้ให้โอวาทว่า "ท่านจวน อุเปกฺขินทริยํ" ท่านจึงกำหนดจิตแปลดูได้ความว่า ให้วางตัวเป็นอุเบกขาต่ออินทรีย์ทั้ง ๖ คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจ อย่าเอาใจใส่ลุ่มหลงในอารมณ์ที่มากระทบ ท่านกำหนดจิตคิดตามนิมิตก็รู้ว่า พรุ่งนี้อาจมีอันตรายหรือเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นแน่

      พอรุ่งขึ้น หลังจากฉันเพลเสร็จแล้ว หมู่พวกได้ออกไปชมสถานที่ต่าง ๆ กันหมด เหลือท่านอาจารย์อยู่ในถ้ำองค์เดียว ขณะนั้นมีสีกาสาว ๆ มาเที่ยวเล่นค้นหาพระบริเวณนั้น เพื่อหลบพวกหญิงเหล่านั้น ท่านก็ปลดมุ้งกลดลงเสีย แต่ก็ยังมีหญิงใจกล้าคนหนึ่งมาเปิดมุ้งกลดออก ยิ้มให้ท่าน แล้วร้องเรียกเพื่อน "ตุ๊เจ้าอยู่นี่...ตุ๊เจ้าอยู่นี่" แล้วเข้ามายืนเพ่งดูท่าน ท่านจึงเห็นว่าหญิงผู้นี้นุ่งผ้านุ่งบาง ๆ เป็นซิ่น เสกิร์ต เห็นหน้าอกของเขาเต็มอก เกิดความรู้สึกวูบขึ้น ท่านจึงคิดถึงโอวาทของท่านเจ้าคุณอุบาลี "อุเปกฺขินทริยํ" พิจารณาอุบายนี้ จิตก็คลายความกำหนัดลง ต่อมาภายหลัง ได้มีพวกหญิงสาวมารบกวนท่านมาก ท่านเห็นว่าไม่สงบ จึงได้หนีออกจากที่นั้นไป

      ท่านอาจารยืได้อยู่จำพรรษาที่จังหวัดเชียวใหม่ ๒ พรรษา โดยวิเวกอยู่ตามดอย ป่าเขาที่สงัดห่างจากหมู่ชุมชนโดยตลอด ออกพรรษาแล้วธุดงค์ไปจังหวัดเชียงราย ตั้งใจจะไปให้ถึงเชียงตุง ได้เดินทางออกทางอำเภอแม่สาย เดินด้วยเท้า ๗ วัน ๗ คืน จึงถึงเชียงตุง ท่าเดินธุดงค์เป็นทางเดินไปตามยอดดอยล้วน ๆ มีเณรและโยมคนหนึ่งเดินทางไปด้วย ได้พักวิเวกบนดอยแห่งหนึ่ง เรียกว่าดอยแตง ซึ่งสงบสงัดดีมาก ท่านพักที่ดอยแตงนี้ ๓ เดือนจึงธุดงค์ต่อไป ระหว่างธุดงค์อยู่ในจังหวัดภาคเหนือและเชียงตุงนี้ ท่านมักจะประสบภัยร้ายจากมาตุคามเสมอ แต่ท่านก็ได้ใช้ขันติและอุบายหลบหลีกมาได้ทุกระยะ จึงสามารถครองเพศพรหมจรรย์ได้ตลอดมา

      ขณะที่อยู่เชียงตุงนั้น ท่านตั้งใจจะธุดงค์ไปให้ถึงอินเดีย ระหว่างเตรียมตัวเดินทาง ท่านได้อธิษฐานจิตดูว่า ถ้าสมควรจะได้ไปอินเดีย ขอให้ได้นิมิตที่ดี ถ้าไม่ควรไป ขอให้ได้นิมิตที่ร้าย

      อยู่ต่อมาท่านจึงได้นิมิตว่า ปรากฏเห็นพระพุทธเจ้า พระอานนท์ พระมหากัสสปะ และช้าง เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จไป พระอานนท์เสด็จตามห่างประมาณ ๑๐ เมตร องค์สุดท้ายคือพระมหากัสสปะ ตามหลังมาเป็นช้างตัวใหญ่ ช้างนั้นพอเดินมาถึงท่านอาจารย์ ก็วิ่งตรงเข้ามาจะทำร้าย ท่านได้วิ่งหนีขึ้นต้นโพธิ์ ช้างจึงทำอะไรไม่ได้ เมื่อช้างไปแล้ว ท่านจึงลงมาจากต้นโพธิ์ ที่ใต้ต้นโพธิ์มีอาสนะพร้อมทั้งหมอนและหนังสือวางอยุ่ ท่านจึงลงมานั่งที่อาสนะและอ่านหนังสือ เมื่อตื่นจากนิมิต ท่านจึงมาพิจารณาเห็นว่า แม้นิมิตตอนต้นที่เห็นพระพุทธเจ้าจะเป็นมงคล แต่ตอนกลางนั้น แสดงถึงอุปสรรค จึงไม่ควรไปอินเดีย จึงตัดสินใจเดินทางกลับจากเชียงตุง นั่งรถไฟกลับจังหวัดอุบลราชานี

      เมื่อกลับมาถึง ได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดบ้านหนองผือ จังหวัดสกลนคร ท่านอาจารย์มั่นได้ถามว่า การภาวนาเป็นอย่างไรบ้าง ท่านอาจารย์ได้กราบเรียนท่านว่า "ไม่ดีเหมือนอยู่กับพ่อแม่ครูบาอาจารย์" ท่านอาจารย์มั่นจึงบอกว่า ต่อไปให้ภาวนาอยู่ทางภาคอีสานนี้แหละ อย่าไปที่อื่นอีกเลย


พรรษาที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๙๒
วัดป่าบ้านเหล่ามันแกว สงเคราะห์โยมมารดา

     เมื่อกลับมาอุบลราชธานีแล้ว ได้ไปรับมารดามาบวชเป็นชีที่วัดป่าบ้านเหล่ามันแกว ท่านพระอาจารย์มั่นได้จัดให้ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านเดิมเพื่อสงเคราะห์โยมมารดา และท่านยังได้สั่งกำชับว่า "เมื่อออกพรรษาแล้ว ให้รีบกลับมาหาผมนะ เดี๋ยวจะไม่ทันผม" เพราะท่านอาจารย์มั่นกำหนดอายุของท่านไว้ ๘๐ ปีเท่านั้น และปีนั้นท่านอาจารย์มั่นมีอายุได้ ๘๐ ปีพอดี

      ในระหว่างพรรษานั้น โยมน้าซึ่งเป็นน้องสาวโยมมารดา พวกญาติและลูกหลานได้ไปนิมนต์ขอให้ท่านลาสิกขาบท เพราะเกิดความสงสาร เห็นท่านลำบากต้องอยู่ในป่าดงทุกข์ยาก ไม่มีเงินทองใช้สอยไม่มีลูกมีเมีย ท่านจึงขอความเห็นญาติและลูกหลานที่มาว่า ผู้ใดที่มานี้ฝ่ายไหนอยากให้สึก ฝ่ายไหนอยากให้อยู่ ปรากฏว่าฝ่ายอยากให้สึกมีมากกว่า ท่านจึงว่า เมื่อครั้งบวช ท่านหาเครื่องบวชมาเอง ถ้าอยากให้สึก ต้องหาเครื่องสึกมาให้พร้อมดังนี้
     ๑. เครื่องแต่งตัวครบชุด เขาก็ว่า ได้
     ๒. การซักรีดเสื้อผ้า เขาก็ว่า ได้
     ๓. รถจักรยานยนต์ ๑ คัน เขาก็ว่า ได้
     ๔. รถยนต์ฟอร์ด ๑ คัน ราคาขณะนั้น ๖๐,๐๐๐ - ๑๐๐,๐๐๐ บาทเขาก็ชักพูดไม่ออก
     ๕. เมื่อสึกแล้วต้องมีลูกเมีย น้าคนหนึ่งรับจะยกลูกสาวให้
     ๖. ให้ปลูกบ้านเป็นปราสาทลอยอยู่ในอากาศ อยากไปไหนก็ลอยไปได้ เขาก็ตอบว่า ไม่ได้หรอก
     ๗. หายาป้องกันการเจ็บ แก่และตาย ให้ร่างกายเป็นหนุ่มอยู่เสมอ เขาก็ตอบว่าไม่ได้

      เมื่อหาเครื่องสึกได้ไม่ครบ เนื่องจากท่านไม่เต็มใจสึก จึงแกล้งแต่งกองสึกให้พิสดาร ทำให้การนิมนต์ลาสิกขาบทเป็นอันยุติลงโดยปริยาย เพราะไม่มีใครสามารถหาเครื่องสึกได้

      หลังจากออกพรรษาแล้ว นึกถึงคำที่ท่านอาจารย์มั่นได้เคยกำชับ เตือนให้ท่านรีบกลับไปหาเดี๋ยวจะไม่ทัน ท่านจึงได้รีบเดินทางมานมัสการท่านอาจารย์มั่น พอมาถึงบ้านดงมะอี่ มีญาติมาส่งข่าวว่าโยมมารดาและพี่ชายเจ็บหนัก จึงต้องเดินทางกลับ อยู่พยาบาลได้ ๑ เดือน พี่ชายได้ถึงแก่กรรม ต่อมาดยมมารดาก็ได้เสียชีวิตลงอีก จึงได้จัดการฌาปนกิจท่านทั้งสอง

      สำหรับประวัติโยมมารดาของท่านนี้ ท่านเล่าว่าเดิมเป็นหญิงชาวบ้านธรรมดาไม่ได้รับการศึกษา ไม่ได้เข้าโรงเรียนและเป็นคนถือผีไท้ผีฟ้า ตั้งศาลบูชาไว้ในบ้าน ต่อมาท่านตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กนักเรียนได้หาอุบายให้มารดาเลิกนับถือผี โดยทำลายศาลบูชาผีในบ้านเสียและไม่ยอมให้ตั้งศาลในบ้านอีก และท่านได้หาอุบายหาหนังสือ "หลานสอนปู่" ซึ่งสอนให้คนเลิกถือผี เข้าวัดทำบุญรู้จักบาปบุญคุณโทษมาอ่านให้มารดาฟัง ท่านอาจารย์ในสมัยยังเป็นเด็กชายได้แกล้งอ่านให้ฟังทุกวัน ๆ มารดาจะไม่ฟังก็แกล้งอ่านเรื่อยไป จนกระทั่งมารดาเกิดความเลื่อมใส เลิกนับถือผี กลับเข้าวัดฟังเทศน์ถือศีล

      เมื่อครั้งโยมมารดาบวชเป็นชีแล้ว ท่านได้อยู่สงเคราะห์อบรมสั่งสอนโยมมารดาตามแนวคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งโยมมารดาก็ได้ตั้งอกตั้งใจนำไปปฏิบัติภาวนา จนกระทั่งสามารถพิจารณากายจนเห็นชัดว่ามันเน่าเปื่อยผุพังลงไป จนในที่สุดโยมมารดาก็อุทานว่า "คุณลูก โยมรู้แล้ว รู้จักทางแล้ว คุณลูกจะไปไหนก็ไปเถอะ อย่าเป็นห่วงโยมเลย.....มันบ่มีผู้ตายหรอก จิตมันก็ตายไม่เป็นหรอก มันละใสบริสุทธิ์ มีแต่ผู้รู้ ไม่มีผู้ตาย ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรานะ เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ นะคุณลูก"

      หลังจากโยมมารดาเจ็บหนัก และท่านได้กลับมาพยาบาลแล้วไม่นาน โยมมารดาได้สิ้นลมด้วยอาการอันสงบที่สุด โดยสามารถบอกกำหนดวันและเวลาที่จะสิ้นลมได้ล่วงหน้าอย่างถูกต้อง

      ในภายหลังเมื่อมีโอกาสจำพรรษากับหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้กราบเรียนเรื่องการภาวนาของโยมมารดาถวายให้หลวงปู่ฟัง หลวงปู่ได้พิจารณาอยู่ 3 วัน แล้วได้เล่าให้ท่านฟังว่า โยมมารดาของท่านไปอยู่สูงแล้ว ไปถึงสุทาวาสพรหมโลก ได้สำเร็จอนาคามี

      เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจศพโยมมารดาและพี่ชายแล้ว ท่านได้รีบเดินทางไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น แต่ไม่ทันเห็นใจ เพราะได้มรณภาพเสียก่อนแล้ว ได้แต่ไปช่วยงานฌาปนกิจศพของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เป็นเวลาเดือนเศษ

      หลังเสร็จงานศพท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านได้ปรึกษากับท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม (ท่านเจ้าคุณอุดมสังวรวิสุทธิเถระ-ในภายหลัง) แห่งวัดถ้ำอภัยดำรงธรรม ปรึกษากันว่าจะไปเที่ยวภาคใต้ที่ภูเก็ตด้วยกัน เพราะขณะนั้นท่านพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี หรือ พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ แห่งวัดหินหมากเป้งในปัจจุบัน จะไปประกาศศาสนาที่นั่น ปรากฏว่าหลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล ซึ่งไม่เคยได้พบกับท่านมาก่อน ได้เรียกท่านไปพบ และสนทนาไต่ถามว่า เสร็จงานศพแล้วจะไปไหน ท่านได้กราบเรียนว่า จะไปภาคใต้กับท่านอาจารย์วัน เพื่อติดตามท่านพระอาจารย์เทสก์ไป หลวงปู่ขาวจึงว่า อย่าไปเลย ให้อยู่กับท่านที่ถ้ำเป็ด ท่านอาจารย์ยืนกรานว่า จะไปปักษ์ใต้กับท่านอาจารย์วัน ผลที่สุด หลวงปู่ขาวจึงเล่าให้ฟังว่า ท่านพระอาจารย์มั่นได้ฝากฝังท่านไว้กับหลวงปู่ขาว ให้ช่วยดูแลรักษาด้วย เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ท่านจึงได้รับคำด้วยความเคารพ และได้ติดตามไปอยู่กับหลวงปู่ขาวที่ถ้ำเป็ด อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร


พรรษาที่ ๘ พ.ศ. ๒๔๙๓
จำพรรษาที่ถ้ำพวง อ.ส่องดาว จ.สกลนคร

     พอถึงเวลาเข้าพรรษา หลวงปู่ขาวได้ให้ท่านอาจารย์ไปอยู่ที่ถ้ำพวง ซึ่งปัจจุบันคือวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมตอนบน ส่วนหลวงปู่ขาวจำพรรษาอยู่ที่เชิงเขา บริเวณที่เรียกว่าหวายสะนอย ใกล้กับภูเหล็กปัจจุบัน ท่านอาจารย์อยู่บนถ้ำพวงแต่ลำพังองค์เดียว ตั้งแต่เดือน ๑ ถึงเดือน ๗ ตอนเช้าไปบิณฑบาตที่บ้านหนองบัว ห่างจากถ้ำ ๑๓๐ เส้น บางวันก็ฉันอาหารที่ตีนเขาแล้วถึงขึ้นไปถ้ำพวง

      ที่ถ้ำพวงนี้ ท่านพระอาจารย์มั่นเคยเล่าให้ฟังว่า เป็นถ้ำที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เคยมีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อ พระนรสีห์ มานิพพานที่นี่ ใครเข้ามาใกล้ที่นี่ต้องถอดรองเท้า และแต่ก่อนมีช่องลึกลงไปใต้เขา ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคดม ได้ไปวิเวกและไปพบว่า ข้างล่างนั้นเป็นถ้ำพญานาคอาศัยอยู่ ท่านจึงเอาก้อนหินมาปิดทางช่องนั้นไว้ ขณะนี้เรียบไปหมดไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนแล้ว ขณะอยู่ที่ถ้ำพวงนี้ จิตสงบ เวลาภาวนาจิตก็รวมดี บางทีจิตรวมถึงคืนละ ๓ ครั้งก็มี

      การภาวนาที่ถ้ำพวงนี้มีปรากฏการแปลกคือ ทุกวันเวลาบ่ายสามโมงท่านอาจารย์ออกเดินจงกรม จะมีกระต่ายน้อยตัวหนึ่งมานั่งนิ่งหลับตาอยู่ข้างทางจงกรม กระต่ายน้อยนี้จะนั่งเช่นนี้ทุกวันน่ารักมาก ทำกิริยาเหมือนมานั่งภาวนาไปด้วย พอท่านเลิกเดินจงกรมเข้าไปนั่งพักในร้านยกแคร่ กระต่ายน้อยก็จะเข้าไปนั่งพักอยู่ใต้ร้านแคร่นี้ด้วย แต่พอได้ยินเสียงคนเดินมาก็จะวิ่งหนีเข้าป่าไปทันที

      ต่อมามีญาติโยมของสามเณรที่มาอยู่กับท่านได้ขึ้นมาส่งอาหารถวายพระทุกวัน ญาติคนหนึ่งเป็นหญิงสาว นอกจากส่งอาหารได้ส่งสายตาให้ท่านด้วยทุกวัน เวลาภาวนาจิตของท่านก็ไม่สงบเห็นแต่ภาพสายตาหวานของหญิงสาว พอดีมีโยมผู้ชายขึ้นมาคุยว่ามีช้างถูกฆ่าตายอยู่ข้างบนนี้ กำลังเผาศพช้าง ท่านจึงขอเอากระดูกช้างมาท่อนหนึ่ง ร้อยเชือกแขวนคอไว้ตลอดเวลา ทั้งเวลาเดินจงกรม นั่งภาวนาเพราะเกิดอุบายว่า ถ้าควายตัวไหนมันดื้อด้าน ไม่เชื่อฟังเจ้าของเขาก็จะแขวนไม้ไว้ทรมานมัน บางทีท่านก็บ้วนน้ำหมากไปถูกกระดูกช้างนั้นเป็นสีแดงเหมือนสีเลือด ใครเห็นเข้า ก็คิดว่าท่านคงมีสติวิปลาสไปแล้ว แต่หลวงปู่ขาวทราบเรื่องก็ค้านว่าคงไม่ใช่คนบ้าหรือวิปริตหรอก คงมีเหตุจำเป็นจึงต้องใช้อุบายนี้ ให้คอยดูกันไปก่อน.

      ต่อมาเมื่อท่านจิตสงบเป็นปกติดี ไม่มีความรู้สึกในสีกาคนนั้นอีกแล้ว ท่านจึงได้เอากระดูกช้างออก ต่อมาเมื่อได้ไปกราบนมัสการท่านหลวงปู่ขาว หลวงปู่จึงถามว่า ทำไม่จึงเอากระดูกช้างไปแขวนคอ ท่านจึงเล่าเรื่องราวถวาย หลวงปู่ชมเชยมากว่า อุบายดีนัก

      ขณะจำพรรษาที่ถ้ำพวงนี้ ได้เกิดนิมิตว่า ท่านได้นั่งภาวนาในกุฏิหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่ง และกำลังนั่งเพ่งพิจารณากระดูกอยู่ มีเด็กคนหนึ่ง ถือดาบวิ่งเข้ามาจะแทงทำร้ายท่านอาจารย์ แต่ไม่สามารถทำร้ายท่านได้ เด็กนั้นจึงไปบอกพี่ชายให้เข้ามาทำร้ายท่านแทน พี่ชายได้เข้ามาจะฆ่าท่านให้ตาย ท่านอาจารย์จึงถาว่า ท่านมีความผิดอะไร จึงจะมาฆ่าให้ตาย เขาก็ไม่ตอบ ตรงเข้ามาดึงผมท่าน (ในนิมิตอยู่ในเพศฆราวาส) เอาดาบมาเถือคอ หมายจะฟันให้ตาย แต่ทำอย่างไร ๆ ก็ฟันไม่เข้า ไม่มีแผลแม้แต่น้อย ท่านจึงบอกว่า ท่านไม่มีความผิด ฆ่าอย่างไรก็ไม่ตาย ท่านยึดถือพระรัตนตรัยฆ่าไม่ตาย เขาจึงวางดาบลง แล้วประกาศว่า ต่อไปนี้ ขอเป็นเพื่อน เป็นมิตรกัน จะไม่อิจฉาพยาบาทกันเลย

      ต่อมามานาน เช้าวันหนึ่ง ท่านออกไปบิณฑบาต มีสุนัขตัวหนึ่งอยู่หน้าถ้ำพวง ได้เข้ามากัดท่านแต่ไม่เข้า อีก ๓ วันต่อมา ชาวบ้านได้มาบอกว่า สุนัขตัวที่กัดท่านครุบาจวนนั้นตายเสียแล้ว

      หลังจากออกพรรษาแล้ว ได้กราบลาหลวงปู่ขาวออกวิเวกไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยท่านและพรรคพวกอีก ๒ องค์ เดินทางจากอำเภอสว่างแดนดิน ไปอำเภอหนองบัว อำเภอผือ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แล้วย้อนมาพักวิเวกอยู่กับท่านพระอาจารย์หล้าฯ ซึ่งอยู่วิเวกองค์เดียวบนหลังภูพานหลายปีมาแล้ว โดยอาศัยชาวป่าชาวไร่ ๒ - ๓ ครอบครัว ท่านเล่าประวัติของท่านพระอาจารย์หล้าว่า เกิดที่เมืองจันทน์ ประเทศลาว มีครอบครัว ต่อมาบุตรภรรยาของท่านเสียชีวิต จึงข้ามมาบวชธรรมยุตในประเทศไทย ได้ติดตามไปอุปฐากท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโลอย่างใกล้ชิดถึง ๙ พรรษา จนท่านพระอาจารย์เสาร์มรณภาพ ขณะท่านพระอาจารย์เสาร์ยังมีชีวิต ได้ให้โอวาทท่านพระอาจารย์หล้าว่า นิสัยของท่านสมควรอยู่องค์เดียว ไม่ควรอยู่ปะปนกับหมู่นะ ต่อไปให้วิเวกภาวนาอยู่องค์เดียว

      ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านพระอาจารย์หล้าเล่าว่า ตัวท่านไม่เคยเรียนหนังสือไทย เพราะอยู่ประเทศลาว ที่อ่านเขียนภาษาไทยได้ เพราะเวลานั่งภาวนาจิตสงบ จะเห็นหนังสือไทยอยู่บนกระดานทุกวัน จึงได้เรียนภาษาไทยจากการภาวนา จนสามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้คล่องไม่ติดขัด

      ท่านอาจารยืจวนได้อยู่ศึกษาธรรมะและฟังเทศน์ของท่านพระอาจารย์หล้าเป้นเวลา ๑ เดือน ก็กราบลาท่านพระอาจารย์หล้าออกธุดงค์ต่อไป โดยเดินทางผ่านอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ลงเรือล่องแม่น้ำโขงที่อำเภอโพนพิสัย มาขึ้นที่อำเภอบึงกาฬ มากับหมู่พระอีก ๓ องค์ มุ่งหน้าเดินทางมาภูสิงห์และภูวัว เดินทางผ่านไปทางอำเภอเซกา อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าบ่อ ศรีสงคราม ขึ้นรถผ่านนครพนม ไปหยุดพักที่อุบลราชธานี แล้วเดินทางต่อไปที่บ้านนาผือ อำเภออำนาจเจริญ เดินทางผ่านภูเขาไปพักวิเวกที่ถ้ำพู บ้านเชียงเครือ พักที่ถ้ำพู ๗ วัน ได้เกิดป่วยหนัก เมื่อหายป่วยแล้ว พากันออกเดินทาง มุ่งหน้าไปบ้านดงมะอี่ กิ่งอำเภอชานุมาน ใกล้จะเข้าพรรษาจึงไปถึงภูละโกฏ บ้านหนองเม็กนามน


พรรษาที่ ๙ พ.ศ. ๒๔๙๔
ภูสะโกฏ บ้านหนองเม็กนามน

     เมื่อไปถึงภูสะโกฏนี้ ท่านเห็นว่าชัยภูมิดี น้ำท่าบริบูรณ์ ร่มไม้สงบร่มเย็นดี จึงคิดจะจำพรรษาที่นี้ ได้ขอให้ญาติโยมช่วยปรับปรุงเสนาสนะ ญาติโยมได้ปลูกกุฏิให้ ๒ หลัง เพราะมีพระ ๒ องค์เท่านั้น ภูสะโกฏอยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียง ๑ กิโลเมตร การบิณฑบาตจึงได้รับความสะดวกดี

      ระหว่างพรรษา ได้ทำความเพียรเต็มความสามารถ จิตรวมเป็นประจำ และมีนิมิตว่า เจ้าภูมิเจ้าฐานมาบอกให้ท่านไปเอาพระพุทธรูปทองคำที่อยู่ในถ้ำสะโกฏ ๗ องค์ คืนแรกที่มาบอก ท่านไม่เชื่อก็ไม่ไป คืนที่ ๒ มาบอกอีกก็ยังไม่ไป คืนที่ ๓ มาบอกซ้ำอีก ท่านจึงถามญาติโยมและพระเณรในวัดบ้านดูว่า แถวนี้มีถ้ำจริงไหม เณรวัดบ้านบอกว่ามีจริง ท่านจึงขอให้เณรพาไป แต่เณรบอกว่า "ได้ครับ แต่ท่านอาจารย์ไปเอาเองนะ ผมไม่เข้าไปด้วย ผมกลัวผี" เมื่อไปถึงถ้ำ เห็นหินก้อนใหญ่ปิดปากถ้ำอยู่ มีเถาวัลย์รากไม้คลุมแน่นหนา ท่านจึงเอาก้อนหินออก เข้าไปภายใน เห็นพระพุทธรูปนอนเรียงกันอยู่ ๗ องค์ เป็นทองคำทั้งสิ้นขนาดนิ้วหัวแม่มือ ท่านจึงนิมนต์ออกมาสักการบูชา พอออกพรรษา ท่านได้ให้ญาติโยมนำพระพุทธรูปไปคืนที่เดิม ไม่ได้เอาติดตัวออกไปด้วย ท่านเล่าว่า ไม่ทราบว่า ปัจจุบันจะยังคงอยู่หรือไม่

      ขณะจำพรรษาที่ภูสะโกฏนี้ เกิดนิมิตว่า เจ้าภูมิเจ้าฐานผีทางเชียงตุงมาเยี่ยมท่านเป็นขบวน และผีเชียงตุงสั่งฝากฝังฝีดงมะอี่ว่า ให้ดูแลรักษาพระองค์นี้ให้ดี อย่าราวีอย่าเบียดเบียนพระองค์นี้ ผีดงมะอี่รับคำและว่าจะรักษาคุ้มครองท่านไม่ให้มีอันตรายเลย ท่านเล่าว่า ก็แปลกอยู่ เพราะนับแต่นั้นมา ท่านก็สุขสบายดี ไม่มีเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรจนตลอดพรรษา

      ครั้นออกพรรษา ท่านก็ออกเที่ยววิเวกตามวิสัยของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน พอไปถึงอำเภอสว่างแดนดิน ได้ข่าวว่าหลวงปู่ขาวมาจำพรรษาที่ถ้ำค้อ ดงหลุบหวาย หลุบเทียน เลยพากันไปกราบนมัสการหลวงปู่ขาว ถ้ำค้ออยู่ไหลจกหมู่บ้าน ๓๐๐ เส้น จึงได้อาศัยชาวบ้านช่วยกันทยอยส่งเสบียงอาหารขึ้นไปให้แม่ชีทำอาหารถวาย ท่านอาจารย์ไปพำนักอยู่กับหลวงปู่ขาวประมาณ ๒ เดือน จึงได้กราบลาหลวงปู่ เพราะอยู่กันหลายองค์ ลำบากเรื่องอาหารขบฉัน อยู่ห่างไกลหมู่บ้าน

      ท่านได้เดินทางไปพร้อมกับท่านพระอาจารย์คำบุ ธมฺมโร ผ่านอำเภอวานรนิวาส มุ่งหน้าไปดงหม้อทอง เมื่อไปถึงได้ไปอาศัยหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งมี ๓ ครอบครัว เขาเป็นผู้มีศรัทธาดีมาก เขาช่วยกันปลูกกระต๊อบเป็นเสนาสนะให้อยู่องค์ละหลัง

      ดงหม้อทองเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอุดม ทั้งฝูงช้าง เสือ หมี มีอยู่เป็นประจำ คืนหนึ่งในเดือนมิถุนายน เวลาประมาณตี ๓ ปรากฏมีฝูงช้างออกมาหากินใกล้กับกุฏิพระ เฉพาะตัวจ่าฝูงได้เดินมาหยุดยืนหน้ากระต๊อบ ห่างจากท่านอาจารย์ประมาณ ๖ - ๗ เมตร ช้างนั้นทั้งสูงและใหญ่ มาหยุดยืนนิ่งแล้วก็ส่งเสียงร้องแปร๋นโกญจนาท ท่านตกใจตื่น เห็นเป็นช้างก็แทบสิ้นสติ เรื่องนี้ท่านชอบเล่าเป็นอุทธาหรณ์ให้ศิษย์สังวรเรื่องสติเสมอ ท่านว่าครั้งแรกตั้งสติไม่ทัน เกิดความกลัว ลุกขึ้นจุดโคมไฟมือไม้สั่น ถืออกมาข้างนอกทั้งที่ยังกลัวอยู่ ท่านคิดว่า ถ้าช้างเข้ามาจะกระโดดหนีขึ้นต้นไม้ แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่า เราเป็นพระกัมมัฏฐานจะกลัวช้างไปทำไม ช้างยังไม่กลัวเราเลย เราเป็นพระธุดงค์ เป็นผู้เสียสละในชีวิตแล้ว แล้วยังจะไปหลัวช้างทำไม เราเป็นพระ เป็นมนุษย์ ช้างมันเป็นสัตว์ ช้างยังไม่กลัวเรา แล้วก็คิดถึงคำที่พระพุทธเจ้าท่านสอยไว้ว่า ภิกษุที่เกิดความกลัว ไปอยู่ป่าหรือป่าช้าก็ดี เมื่อเกิดความกลัว ขนพองสยองเกล้า ให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เมื่อระลึกถึงเราตถาคตอย่างนี้ ความกลัวนั้นจะหายไป

      พอท่านเตือนสติตัวเอง ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วความกลัวนั้นก็คลายไป ปละพิจารณาถึงความตายต่อไปว่า กลัวก็ตาย ไม่กลัวก็ตาย อยู่ที่ไหนก็ต้องตาย ความตายไม่มีใครผ่านพ้นไปได้ ไม่ว่าจะตายด้วยอะไร พอพิจารณาถึงความตายอย่างนั้นแล้ว จิตก็ค่อยสงบเป็นลำดับ ไม่มีความกลัวตายเหลืออยู่ในจิต ช้างก็ไม่กลัว ความตายก็ไม่กลัว จิตสงบเยือกเย็น เป็นจิตที่กล้าหาญ ไม่สะทกสะท้าน จึงกลับเพ่งจิตที่สงบไปพิจารณาดูช้างว่า มันคิดอะไร กระแสจิตที่สงบแล้วขณะนั้นคงจะรุนแรงมาก ช้างจึงตกใจร้องแปร๋นก้องไปทั้งป่า แล้ววิ่งหนีเข้าป่าไป ตั้งแต่วันนั้นมา ไม่เป็นฝูงช้างหรือช้างตัวใดเข้ามาที่บริเวณนั้นอีกเลย

      เมื่อใกล้จะเข้าพรรษา ท่านอาจารย์คำบุ ก็ลาท่านอาจารย์กลับไปจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย คงเหลือท่านอาจารย์อยู่จำพรรษาที่ดอนสะพุง ชายป่าดงหม้อทองนั้นต่อไปองค์เดียว


พรรษาที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๔๙๕
ดอนกระพุง ชายป่าดงหม้อทอง อ. วานรนิวาส

     พรรษาที่ ๑๐ นี้ ท่านอยู่จำพรรษาองค์เดียว ที่ดงหม้อทอง อาศัยชาวบ้าน ๓ ครอบครัวบิณฑบาตเลี้ยงชีวิต พวกเขาเป็นคนจน แต่มีศรัทธามาก มีความอดทนแม้จะต้องหาเช้ากินค่ำ

      ที่บริเวณนั้น เขาถือกันว่าเป็นที่ไม่ดี มีผีมาก เป็นทุ่งร้างอยู่ห่างจากแม่น้ำ ปลุกอะไรก็ไม่ขึ้น เป็นที่แห้งแล้ง เขาเรียกว่าทุ่งหนองอีดอนและทุ่งโซ่ง เพราะเคยเป็นที่อยู่ของคงโซ่ง คนป่ามาก่อน แต่เกิดเจ็บป่วยล้มตายมาก ต้องอพยพหนีไป

      เมื่อท่านอาจารย์บอกชาวบ้านว่าจะจำพรรษาอยู่ที่นี่ ชาวบ้านตกใจมาก บอกว่าอยู่ไม่ได้ เพราะผีดุ ผีอาจจะแกล้วให้เจ็บป่วยถึงตายได้ ที่ร้างไปก็เพราะเหตุนี้ พวกเขาตั้งบ้านเรือนกันอยู่ก็แต่บริเวณรอบนอกหรอก ท่านก็ไม่ฟังเสียง คงอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น

      พอถึงกลางพรรษา เกิดนิมิตว่า พวกผีโซ่งพากันถืออาวุธจะเข้ามาฆ่าท่านให้ตาย เอาปืนมายิงก็ไม่เข้า เอาดาบมาฟันก็ไม่เข้า เอาอะไรมาทำอันตรายก็ไม่ตาย สุดความสามารถของพวกเขา หัสหน้าผีเลยประกาศกับบริวารผีว่า เมื่อทำอะไรท่านไม่ได้ ก็ต้องยอมท่านเสีย เลยพากันแต่งดอกไม่ธูปเทียนมาบูชาท่านอาจารย์ แม้จะเป็นนิมิต แต่ก็ประหลาดที่ต่อมา ไม่มีการเจ็บไข้กัน มีคนหลั่งไหลเข้ามาจับจองที่ว่างเหล่านั้น ตั้งบ้านเรือนและทำไร่กลายเป็นไร่นาที่อุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกบ้านเรือน ปลูกข้าวทำนาได้ผลดี

      หลังออกพรรษา ท่านอาจารย์ได้ปรารภกับญาติโยมแถวนั้นว่า อยากจะไปอยู่ที่ในดงหม้อทอง เพราะบริเวณนั้นสงบสงัดและได้ข่าวว่ามีถ้ำใหญ่ ๆ อยู่มาก มีพลาญหินสวยงาม ท่านจึงขอให้ญาติโยมช่วยพาไปดูสถานที่

      ท่านได้ออกเดินทางไปกับญาติโยม ในตอนเช้าหลังจากฉันอาหารเสร็จ เดินทางตลอดวัน จนค่ำจึงถึงถ้ำที่ตั้งใจจะไป ท่านตรวจดูเห็นว่าชัยภูมิน่าอยู่มาก จึงขอให้ญาติโยมช่วยถางหญ้าและเถาวัลย์ที่ขึ้นปกคลุมอยู่และพักนอนที่นั่น ตอนกลางคืนได้ยินเสียงสัตว์ป่ามาร้องระงม และคืนนั้นมีเสียงเสือมาร้องคราง คำรามอยู่ใกล้ ๆ

      เดือนแรกที่ดงหม้อทอง มีญาติโยมตามไปอยู่ด้วย เขาอยากจะตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในดงหม้อทอง ท่านจึงช่วยเขาเลือกสถานที่ปลุกบ้านเรือน เขาก็บอกกันต่อ ๆ ไปว่า ท่านอาจารย์ "เจาะดง" เข้าไปอยู่แล้ว คงไม่มีอาเพศใดอีก ชาวบ้านจากถิ่นต่าง ๆ ก็ทยอยมาตั้งถิ่นฐานบ้านช่อง เพราะเห็นว่า ดงหม้อทองเป็นที่อุดมสมบูรณ์ ที่ทำเลทำมาหากินสะดวก แต่เดิมที่กลางดงนั้นไม่มีหมู่บ้าน ท่านก็ช่วยตั้งหมู่บ้านให้เรียกว่า "บ้านดงหม้อทอง" ต่อมาภายหลัง บ้านเรือนก็เป็นปึกแผ่นแน่นหนามากขึ้นแล้ว แต่ละคนก็มีไร่นาสาโท มีโรงสี โรงเรือน ไม่ยากจนข้นแค้นกันอีกต่อไป


พรรษาที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๔๙๘
ดงหม้อทอง อ.วานรนิวาส

     ตั้งแต่พรรษาที่ ๑๑ ถึงพรรษาที่ ๑๓ ท่านอาจารย์จำพรรษาที่ดงหม้อทองโดยตลอดเพราะเป็นที่สงบสงัดดี สภาพของป่าดงดิบหนาทึบ เต็มไปด้วยไม้ใหญ่ มีถ้ำ เงื้อมหินผาและพลายหิน พร้อมทั้งสัตว์ป่าอันดุร้าย เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องช่วยในการภาวนาทั้งสิ้น

      พรรษาที่ ๑๑ มีพระ ๒ องค์ เณร ๑ องค์ จำพรรษาอยู่ด้วย ท่านได้ชักชวนญาติโยมช่วยกันตัดถนนจากดงหม้อทอง ออกมาบ้านมายบ้านคู่ โดยใช้เวลา ๓ เดือน พอออกพรรษา หลวงปู่ขาว อนาลโย ให้คนมาส่งข่าวว่า ให้ไปรับหลวงปู่ออกมาวิเวกด้วย พอดีท่านอาจารย์สอน อุตฺตรปญฺโญ ธุดงค์มาถึงจึงชวนให้อยู่เป็นเพื่อน ช่วยกันเตรียมเสนาสนะสำหรับหลวงปู่และพระที่ติดตามท่านมา

      หลวงปู่ขาวออกมาวิเวก ท่านพอใจความสงัดเงียบ เงื้อมถ้ำและพลายหินที่ดงหม้อทองมาก จึงอยู่ต่อไปจนเข้าพรรษา

      พรรษาที่ ๑๒ หลวงปู่ขาว พร้อมด้วยพระติดตามมาอีก ๗ - ๘ องค์ ผ้าขาว ๒ คน แม่ชี ๔ - ๕ คน ได้อธิษฐานพรรษาอยู่ที่ดงหม้อทองด้วยกันหมด ต่างองค์ต่างปรารภความเพียรอย่างเต็มความสามารถ ปละได้ฟังเทศน์จากหลวงปู่ ในพรรษานี้ บางวันกลางวันท่านนั่งอยู่บนกุฏิก้อนหิน เห็นฝูงช้างมากินน้ำที่หนองน้ำโคนก้อนหินในบริเวณวัด แต่ไม่ได้ทำอันตรายใด ๆ และบางคืนมีเสือมาหยอกเล่นกัดกันขณะพระสวดปาฏิโมกข์ก็มี

      พอออกพรรษา ท่านอาจารย์ได้ออกเกินวิเวกมาทางภูวัว ส่วนหลวงปู่ขาวได้เดินทางกลับไปอยู่วัดแก้ว บ้านชุมพล

      พรรษาที่ ๑๓ จำพรรษาที่ดงหม้อทองมีหลวงปู่คำอ้าย ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น มาจำพรรษาอยู่ด้วย ในพรรษานี้ คืนหนึ่งท่านได้นิมิตว่า มีภิกษุณีซึ่งเป็นพระอรหันต์องคืหนึ่งหนึ่งเข้ามาหาและก้มกราบท่านอาจารย์ และได้เทศน์ให้ท่านฟังอีกด้วย โอวาทที่ภิกษุณีเทศน์ให้ฟังนั้น มีอรรถรสดื่มด่ำ น่าฟังอย่างยิ่ง

      พอออกพรรษาได้ร่ำรากันไปหาที่วิเวก ท่านอาจารย์ได้เดินทางไปภูวัว ขณะนั้นหลวงปู่ขาวจำพรรษาอยู่ที่บ้านเลื่อม เมื่อออกพรรษาหลวงปู่ได้ให้คนมาส่งข่าง ขอให้ท่านอาจารย์ไปรับหลวงปู่เพื่อจะไปจำพรรษาที่ภูวัวด้วยกัน ท่านอาจารย์จึงไปรับหลวงปู่ไปจำพรรษาที่ภูวัว


พรรษาที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๔๙๙
ที่ถ้ำแก้ว ตาดปอ บ้านทุ่งทรายจก ภูวัว

     ที่ภูวัวนี้ เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน บนหลังเขาเป็นที่ราบ บริเวณกว้าง มีดขดหิน น้ำตก แอ่งน้ำสวยงามมาก และเคยเป็นที่ครูบาอาจารย์เคยมาวิเวกทำความเพียรกันมาแล้ว เช่น พระอาจารย์เสาร์ กันตะสีโล พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์วัง ซิติสาโร ท่านพระครูอุดมธรรมคุณ (ทองสุข สุจิตโต) เป็นอาทิ ในพรรษานี้ มีพระเณรรวมกัน ๑๔ องค์ สมัยนั้น ภูวัวยังมีสัตว์ป่านานาชนิด บางวันมี ช้าง หมี เสือ เข้ามาในเขตวัดจำนวนมาก และบนตาดปอยังมีพวกภูตผีปีศาจมารบกวนพระเณรอยู่เสมอ มีพระเณรเจ็บป่วยกันมาก หลวงปู่ขาวจึงให้ท่านนำเรื่องนี้ไปพิจารณา

      ท่านพิจารณาแล้ว จึงได้กราบเรียนหลวงปู่ว่า "เยสนฺตา" แปลว่า ผู้สงบ ไม่เดือดร้อน ไม่มีความทุกข์ใด ๆ จะเกิดแก่ผู้สงบ หลวงปู่จึงเห็นว่า จริง ถูกทีเดียว ปละยังได้กล่าวต่อไปว่า "นตฺถิ สนฺติ ปรํสุขํ" ความสุขใดยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี ผู้มีความสงบแล้ว ไม่มีความทุกข์ ความเดือดร้อนอะไร ท่านจึงกำชับให้ทุกคนเร่งทำความสงบ และภายหลังการเจ็บไข้ได้ป่วยของพระเณรก็หมดไป

      ในระหว่างพรรษา ท่านอาจารย์ได้เกิดเป็นโรคฝีหัวดำ ที่นิ้วหัวแม่มือ เป็นฝีที่ร้ายแรงและเจ็บปวดมาก ตัวร้อนเป็นไข้สูง ท่านไม่ได้นอนมาตลอด ๓ วัน ๓ คืน เพราะปวดตลอดเวลา พอนั่งภาวนา จิตกำลังจะสงบ ได้มีนิมิตว่า มีโยมแก่คนหนึ่ง มาเป่าที่ฝีหัวแม่มือนั้น และบอกว่า พรุ่งนี้จะเอายามาใส่ให้ พอรุ่งเช้า มีโยมคนหนึ่ง เป็นหมอผีประจำหมู่บ้าน ขึ้นมาถวายจังหันพระ มาเห็นฝีหัวแม่มือของท่าน ก็ได้เข้าป่า ไปหายามาฝนใส่ให้ท่าน หลังจากนั้นก็หายขาด

      ในระหว่างพรรษาได้เกิดนิมิตสำคัญ ๒ คราว คราวแรก นิมิตว่า มีแม่ชี ๓ องค์ ซึ่งเป็นพรหมมาบอกชาติกำเนิดที่ท่านเกี่ยวพันกับท่านพระอาจารย์มั่นในชาติก่อน ๆ อีกคราวหนึ่ง ปรากฏขึ้นว่า ท่านกำลังเดินทาง พอออกมาพ้นหมู่บ้าน ก็ถึงแม่น้ำกว้างสายหนึ่งขวางหน้าอยู่ ท่านตั้งใจจะข้ามไปฝั่งตรงข้าม พิจารณาดูเห็นแม่น้ำนั้นกว้างมาก ไหลเชี่ยว และท่าทางคงจะลึกมาก ฝั่งแม่น้ำลาดเหมือนฝั่งทะเล ค่อย ๆ เทลงและชันเข้าที่ฝั่งเป็นโคลนตมเละ ท่านคิดว่า ถ้าลงไปที่นั่นคงจะจมโคลนมิดตัวเลย ท่านมองเห็นรอยเท้าคนที่เพิ่งเดินข้ามไปใหม่ ๆ ท่านคิดจะเดินข้ามบ้าง เลยนึกอธิษฐานขึ้นว่า "เออ....นี่ถ้าเราจะข้ามน้ำไปถึงฝั่งโน้นได้ ขอให้เราเดินข้ามโคลนตมนี้ไปให้ได้ อย่าให้จมลงเลย อย่างลึกมากที่สุด ก็ให้จมลงในโคลนตมนี้เพียงแค่เข่าเท่านั้น ถ้าเราจะข้ามแม่น้ำนี้ให้ได้"

      อธิษฐานแล้ว ท่านก็เริ่มค่อย ๆ เดินไป ปรากฏว่า โคลนค่อย ๆ ลึกขึ้นทีละน้อย แต่ก็สูงเพียงแค่เข่าพอดี ก็พ้นจากโคลนตม และมีสะพานข้ามน้ำถึงฝั่งโน้น ท่านจึงขึ้นเดินบนสะพาน และได้ข้ามแม่น้ำถึงฝั่งตรงข้ามได้ พอขึ้นฝั่งได้แล้ว ก็เห็นม้าสีขาวบริสุทธิ์ รูปร่างสูงใหญ่ สวยงามมาก กำลังยืนกินหญ้าอยู่ ท่านคิดจะเข้าไปขี่ม้า พอดีมีคนมาบอกว่า พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จไป ให้รีบตาม ท่านจึงไม่สนใจม้า รีบออกเดินทางตามรอยพระพุทธเจ้าไปทันที...แล้วจิตก็ถอนจากนิมิต

      ออกพรรษา พวกญาติโยมได้มานิมนต์หลวงปู่ขาว ให้กลับวัดป่าแก้วบ้านชุมพล ส่วนท่านอาจารย์ได้รับนิมนต์ ให้ไปช่วยงานฌาปนกิจศพท่านอาจารย์อ่อนศรี ที่เวียงจันทน์ เมื่อเสร็จงานศพแล้ว ท่านได้เดินทางกลับมาวิเวกที่ภูวัว และได้กลับไปจำพรรษาที่ดงหม้อทองเช่นเดิม


พรรษาที่ ๑๕ - ๑๖ พ.ศ. ๒๕๐๐ -๒๕๐๑
ดงหม้อทอง

     พรรษาที่ ๑๕ กลับมาจำพรรษาที่ดงหม้อทอง ร่วมกับท่านพระอาจารย์สอน อุตฺตรปญฺโญ ได้พากันตั้งอธิษฐานไม่นอนอยู่ ๒ เดือน ทำความเพียรกันอย่างเด็ดเดี่ยว ภาวนาจิตสงบดี ในพรรษานั้นท่านเกิดอาพาธหนัก เป็นไข้ป่า เอาหมอมาฉีดยารักษา ก็ไม่ถูกโรคกัน ทำให้อาเจียนขนานใหญ่ หมดแรงแทบประดาตาย เกิดธาตุวิปริต ตามืด ตามัว เวียนศีรษะ พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ภาษา เป็นอยู่ ๙ วันจึงสงบ ท่านมีวิธีรักษาโรคของท่าน โดยเอาปี๊บมา ๒ ใบ ตั้งอยู่บนพลาญหิน ใช้กระดานปู ๒ แผ่น วางบนปากปี๊บ ท่านได้นั่งพิจารณาความตายบนกระดานนั้น ท่านอาจารย์สอนและพระเณร ได้คอยผลัดเวรกันมาเฝ้าด้วยความเป็นห่วงอยู่หลายคืน จนโรคของท่านหายขาด

     ออกพรรษา ท่านได้กลับไปนมัสการหลวงปู่ขาว ฟังเทศน์และรับการอบรมธรรมจากท่านตามเคย

      พรรษาที่ ๑๖ ท่านได้ชวนท่านอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต (เจ้าอาวาสวัดถ้ำกองเพลปัจจุบัน) มาจำพรรษาที่ดงหม้อทองอีก พรรษานี้มีพระเณรจำพรรษา ๔ องค์ สัตว์ป่าก็ชักจะคุ้นเคยกัน ไม่เป็นข้าศึกแก่กัน พากันทำความพากความเพียรเต็มความสามารถของตน

      ครั้นออกพรรษา ท่านได้ออกกวิเวกไปทางดงศรีชมภู เขตอำเภอโพนพิสัย พบสถานที่แห่งหนึ่งมีลักษณะคล้าย ๆ ซากเมืองเก่า และบริเวณแห่งนี้เต็มไปด้วยต้นจันทน์นานาพันธุ์ ท่านจึงขอให้ญาติโยมช่วยยกแคร่ ปลูกเป็นร้านเล็ก ๆ ที่ถ้ำจันทน์นี้อยู่ห่างจากบ้านคนมาก ที่ใกล้ที่สุด คือ บ้านพวกข่า ๒ หลังคาเรือน ซึ่งไกลไปประมาณ ๑๐๐ เส้น ทางไปบิณฑบาตต้องเดินไปทางช้างเดิน กว่าจะถึงทางเกวียนก็ต้องเดินอีก ๒๐ เส้น พอพวกญาติโยมกลับไปแล้ว ท่านก็อยู่องค์เดียว กลางคืนได้ยินเสียงเสือมาร้องใกล้ ๆ บางคืนก็ได้ยินเสียงเหมือนคนพูดคุยอยู่ตามพลาญหินก็มี บางวันได้ยินเสียงเหมือนคนสวดมนต์ไหว้พระทำวัตร ที่ถ้ำจันทน์มีวัตถุโบราณ เช่น พระโบราณฝังอยู่ใต้ดิน เมื่อไปขุดดู ได้เศียรพระ แขนพระ องค์พระ แต่ก่อนถ้ำจันทน์เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่ามากมาย

      ระยะแรกมาปักกลด ได้อาศัยบิณฑบาตจากพวกข่า ๒ ครอบครัวนั้นประทังเลี้ยงชีวิตตลอดมา


พรรษาที่ ๑๗ พ.ศ. ๒๕๐๒
ถ้ำจันทน์ ดงศรีชมภู อ.โพนพิสัย

     ที่ถ้ำจันทน์ ท่านจำพรรษาอยู่องค์เดียว ถ้ำจันทน์เป็นสถานที่ซึ่งสัปปายะในการภาวนาเป็นอย่างยิ่ง จิตรวมดี ค้นคิดดี ค้นในร่างกายของเราอย่างไม่ลดละ สามารถบำเพ็ญเพียรภาวนาได้อย่างเต็มที่

      หลังออกพรรษาแล้ว ในระหว่างฤดูแล้ง ท่านเกิดอาพาธหนัก เป็นไข้ป่า ไม่มียารักษา ปล่อยให้ธาตุขันธ์มันรักษาตัวเองไปตาธรรมชาติ เป็นอยู่เช่นนี้ถึง ๑ เดือน ระหว่างที่เป็นไข้อยู่นั้น วันหนึ่งขณะจะเคลิ้มหลับ ได้นิมิตภาพว่า โยมบิดาซึ่งสิ้นชีวิตไปแล้ว ตั้งแต่ท่านอาจารย์อายุ ๑๖ ปี โยมบิดาเป็นหมอพื้นบ้าน ได้เข้ามาหาปละได้ฝนยามาถวายให้ท่านดื่ม กลิ่นของยาหอมน่าดื่มจริง ๆ พอฉันเสร็จก็รู้สึกตัวตื่นขึ้น มีความรู้สึกเหมือนได้ฉันยาจริง ๆ ต่อมาอาการเจ็บป่วยก็หายสนิท ร่างกายมีกำลัง ฉันอาหารได้ตามปกติ และตั้งแต่นั้นมา อาการเจ็บป่วยแบบนั้นก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลย


พรรษาที่ ๑๘ - ๒๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ - ๒๕๐๕
ถ้ำจันทน์ ดงศรีชมภู

     ก่อนเข้าพรรษา มีเณรองค์หนึ่ง พ่อขาวเฒ่าคนหนึ่ง และแม่ชีแก่คนหนึ่งมาอยู่ด้วย ก่อนเข้าพรรษา ๗ วัน โยมอุปฐาก ๒ ครอบครัวนั้นได้มานิมนต์ท่านไม่ให้อยู่จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์ เพราะพวกเขาจน กลัวจะเลี้ยงพระเณรไม่ไหว จึงนิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่อื่น ท่านจึงได้แจ้งเรื่องนี้ให้เณรผ้าขาวและแม่ชีทราบ ทั้งเณร ผ้าขาว และแม่ชี ก็ว่าจะไปอยู่จำพรรษาที่ดงหม้อทอง ท่านจึงว่าดีแล้ว พากันไปเสีย แต่สำหรับท่านไม่ไป เพราะตั้งใจนะจำพรรษาที่ถ้ำจันทน์นี้ เมื่อเห็นท่านอาจารย์ไม่ยอมไป พวกเณร ผ้าขาวและแม่ชีจึงตกลงไม่ไป จะอยู่กับท่าน รุ่งขึ้นโยมอุปฐากทั้ง ๒ ครอบครัวได้มาหา ร้องไห้ด้วยความเสียใจ และขอนิมนต์ให้ท่านอาจารย์อยู่จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์ต่อไป ท่านจึงได้อนุโมทนาในศรัทธาของเขา และปลอบใจเขาว่า ทุกอย่างก็คงจะเป็นไปด้วยดีเอง ไม่ต้องกังวล

      ต่อมาข่าวที่ว่ามีพระมาอดข้าวอดน้ำที่ถ้ำจันทน์ ชาวบ้านนิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่อื่นก็ไม่ยอมไป ข่าวนี้ได้แพร่ไปถึงชาวบ้านรอบ ๆ นอกด้วย พวกชาวบ้านไกล ๆ รอบนอก จึงช่วยกันส่งอาหารมาให้ แม้การเดินทางติดต่อจะลำบาก ก็ได้เพียรพยายามมาส่งเสบียงอาหารให้ทุก ๗ สัน นับว่ามีศรัทธาอันแรงกล้า ในพรรษานั้น แทนที่จะอดอยาก กลับได้รับความสะดวกสบาย อาหารการขบฉันก็อุดมสมบูรณ์ คงจะเป็นอานิสงส์ร่วมด้วย เพราะได้ข่าวว่าถ้ำจันทน์นี้ภาวนาดีนัก

      เมื่อออกพรรษาแล้ว พวกเณร ผ้าขาว และแม่ชีได้พากันเดินทางกลับหมด เหลือท่านอยู่องค์เดียว ต่อมามีหลวงปู่องค์หนึ่งได้มาอยู่ร่วมด้วย เพราะได้ข่าวว่าถ้ำจันทน์นี่ภาวนาดีนัก

      ระหว่างอยู่รวมกับหลวงปู่นี้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึงเดือนกรกฎาคม นั้น ได้สนทนาปฏิบัติธรรมร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หลวงปู่ได้เล่าประวัติการปฏิบัติภาวนาให้ฟังว่า ในสมัยที่ยังจำพรรษาที่วัดของท่านที่อุดรธานี ได้เข้านิโรธสมาบัติกำหนด ๓ วันบ้างจึงออกจากการภาวนา ท่านฟังแล้วก็ทราบว่า เป็นการเข้าใจผิด เพราะเรื่องทำนองนี้ ท่านพระอาจารย์มั่นเคยสอนอยู่ และยกตัวอย่างมาให้ฟังมากมายว่า นิโรธน้อม นิโรธสมมติ มิใช่แนวทางของพระอริยเจ้า ซึ่งต้องพิจารณาทุกข์ ท่านอาจารย์จึงได้ใช้อุบาย นำโอวาทซึ่งท่านอาจารย์มั่นเคยเล่าให้ฟัง มาเล่าให้หลวงปู่ฟัง พอใกล้จะเข้าพรรษา หลวงปู่ได้ลากลับไปจำพรรษาที่สำนักเดิมของท่าน ต่อมาภายหลังพระลูกศิษย์ของหลวงปู่ได้กลับมาเล่าให้ท่านอาจารย์ฟังว่า หลวงปู่ได้ชมว่า สมัยอยู่ถ้ำจันทน์นั้นดีนัก ถ้าไม่ได้ท่านจวนอยู่ร่วมด้วยจะเสียเลย และท่านชมเชยในธรรมสากัจฉา ซึ่งกันและกัน หลวงปู่องค์นั้นว่า ท่านหายสงสัยในธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว

      ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่ถ้ำจันทน์ ได้มีผู้เข้าใจผิดคิดว่า ท่านเป็นหัวหน้าคอมมิวนิสต์ เป็นพระก่อการร้าย อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีบุคคลคนหนึ่งซึ่งเคยได้รับคำสั่งให้ติดตามฆ่าท่าน ต่อมาได้กลับใจ เล่าให้ท่านฟัง

      ท่านอาจารย์ถามว่า "จะฆ่าเพราะอะไร"
     เขาตอบว่า "เพราะได้ข่าวว่าท่านเป็นหัวหน้าคอมมิวนิสต์"
     ท่านจึงถามว่า "คอมมิวนิสต์เป็นอย่างไร"
     เขาตอบว่า คอมมิวนิสต์เป็นพวกไม่มีศาสนา ไม่ให้คนมีทุกข์ ไม่ให้มีคนมี ให้มีเสมอกัน ไม่ให้มีสมบัติเป็นกรรมสิทธิ์ ให้มีแต่ของส่วนกลาง
     ท่านถามต่อไปว่า "เขานุ่งห่มอย่างไร กินอย่างไร มีลูกมีเยไหมไ
     ขาตอบว่า "ใส่เสื้อ นุ่งกางเกง เหมือนชาวบ้าน กินอาหารธรรมดา ลูกเมียก็มีครับ"
     ท่านถามว่า "เขากินอาหารวันหนึ่งกี่มื้อ เขามีโกนหัวไหม"
     เขาตอบว่า "เขากินอาหารวันหนึ่ง ๓ มื้อ ไม่มีโกนหัวครับ"
     ท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า ในเมื่อท่าน ลูกเมียไม่มี กินข้าวหนเดียว โกนศีรษะโล้น ห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ไม่มีศาสตราวุธ จะหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้อย่างไร คอมมิวนิสต์ไม่มีศาสนา แต่ท่านบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าสงสัยว่า พระธุดงคกัมมัฏฐานผู้ปฏิบัติอยู่ตามป่าตามเขาเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว จะหาพระที่ไหนในเมืองไทย จะเอาพระที่กินข้าเย็น มีลูกมีเมียหรือ จึงจะถือว่าเป็นพระที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ท่านได้อธิบายชี้แจงและสั่งสอนอบรม จนเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเข้าใจและหายสงสัย

      ท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำจันทน์ถึง ๓ พรรษา ถ้านับจำนวนปีก็เป็นเวลาถึง ๔ ปี ได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของถ้ำจันทน์มาก ระยะหลังมีชาวบ้านอพยพเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะเห็นว่าที่ถ้ำจันทน์มีทำเลเป็นทีทำมาหากินสะดวกดี เหมาะสำหรับทำการเพาะปลูก น้ำดี ดินดี อาหารการบิณฑบาตก็ได้รับความสะดวก เมื่อท่านเห็นว่า มีผู้คนอพยพมาอาศัยอยู่มาก ทำให้ไม่ค่อยสงบ รบกวนต่อการทำสมาธิภาวนา จึงคิดจะโยกย้ายไปหาที่สงัดวิเวกทำความเพียรต่อไป

      ชาวบ้านพอรู้ก็ไม่ยอม ร้องไห้อาลัย และกลัวไปว่า ถ้าท่านไม่อยู่ต่อไป การเพราะปลูกจะไม่ได้ผล ท่านจึงต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจถึงความจำเป็นของพระธุดงคกัมมัฏฐานที่ต้องการความสงบเงียบเป็นที่ทำความเพียร ส่วนที่ชาวบ้านกลัวจะเพาะปลูกไม่ได้ผล ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาลนั้น ท่านก็ขอให้ผู้ที่คงอยู่ช่วยกันตักเตือนซึ่งกันและกัน ให้ยึดมั่นอยู่ในไตรสรณาคมน์ ต่อพระพุทะคุณ พระธรรม พระสงฆ์ อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อย่าลักขโมยกัน อย่าประพฤติผิดลูกเมียเขา อย่าพูดเท็จ อย่าดื่มเครื่องดองของเมา ถ้าชาวบ้านช่วยกันระมัดระวังให้มีศีลเป็นปกติวิสัยแล้ว ก็จะพากันมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข


พรรษาที่ ๒๑ พ.ศ. ๒๕๐๖
ภูสิงห์น้อย (ภูกิ่ว)

     เมื่อออกจากถ้ำจันทน์ แล้วท่านก็มุ่งหน้ามายังภูสิงห์ ในเขตอำเภอบึงกาฬ ขอให้ญาติโยมพาไปตรวจดูสถานที่ เป็นเขาย่อม ๆ อยู่ระหว่างภูสิงห์ใหญ่และภูทอกใหญ่ เรียกกันว่าภูสิงห์น้อย หรือภูกิ่วตามลักษณะคอดกิ่วของเขา

      เมื่อแรกมาอยู่นั้น ภูสิงห์น้อยยังเป็นป่าเขารกชัฏ แต่มีถ้ำเงื้อมหินอันสงัด มีน้ำซับตามธรรมชาติ พากันปลูกเสนาสนะย่อม ๆ อยู่ชั่วคราว โดยอาศัยญาติโยมจากบ้านนาสะแบงบ้าง บ้านนาคำภูบ้าง มายกกระต๊อบอยู่ปลูกเสนาสนะเป็นหย่อม ๆ ท่านเล่าว่าที่ภูสิงห์น้อย การทำความเพียรดีมาก การบิณฑบาตก็ไม่ลำบากและไม่ขาดแคลน แต่ก็ไม่ใช่ร่ำรวย พอเยียวนาชีวิตไปได้วันหนึ่ง ๆ เท่านั้น

      ในพรรษานี้มีพระด้วยกัน ๒ องค์ คือองค์ท่าน และท่านพระอาจารย์สอน อุตตรปัญโญ มีเณร ๑ องค์ ผ้าขาวเฒ่า ๑ คน ไปบิณฑบาตที่บ้านคำภู ระยะทางจากเชิงเขาถึงหมู่บ้านประมาณ ๓ กิโลเมตร ต่างองค์ต่างแยกกันอยู่ ขะมักเขม้นพากันปรารภความเพียรอย่างยิ่งยวด ตลอดพรรษา

      วันหนึ่ง ขณะท่านเดินจงกรมอยู่ โดยกำหนดจิตภาวนาบริกรรมไปโดยตลอด ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้จะมืดแล้ว รู้สึกได้กลิ่นเหม็นชอบกลอยู่ ท่านจึงตั้งจิตถาม จิตตอบว่าเป็นกลิ่นเปรต ท่านได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เขา กลิ่นนั้นก็หายไป

      รุ่งเช้า เมื่อพบปะพูดคุยกัน ก็ได้ทราบว่า ทานอาจารย์สอนก็ได้กลิ่นเหม็นเหมือนกัน คืนนั้นท่านอาจารย์ก็ได้นิมิตประหลาด เห็นเปรต ๒ คน เป็นผู้หญิงนุ่งแต่ผ้า ไม่ใส่เสื้อ เปลือยตลอด ผมยาว ผิวดำคล้ำเศร้าหมอง ท่านได้สอบถามดู ได้ความว่า ทั้ง ๒ เป็นเปรตอยู่ที่ภูสิงห์นี้นานแล้ว เพราะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน ผู้พี่ชื่อนางสาวทา ผู้น้องชื่อนางสาวสี ได้เอาตัวไหมตัวหม่อน ซึ่งมีฝักรังใหม่อยู่ข้างใน โดยมีตัวอ่อนอยู่ข้างใน เอามาต้มในน้ำร้อน เพื่อสาวเอาใยไหมมาทอผ้า ด้วยบุพกรรมอันนั้น พอตายจากมนุษย์ จึงกลายเป็นเปรต ดังนี้

      ครั้งหนึ่ง ระหว่างนั่งทำสมาธิอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่ง ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น ๒ นัด ไม่นานก็เห็นกวาง ๒ ตัว วิ่งกระหืดกระหอบเข้ามายืนทำตาละห้อยอยู่ข้างล่าง คล้ายจะมาขอฝากตัวหลบภัย ต่อจากนั้นไม่นาน ก็ได้ยินเสียงปืนระเบิดดังสนั่น และได้ยินเสียงร้องครวญครางขอความช่วยเหลือ ท่านจึงลุกไปดู เห็นชายคนหนึ่งถูกปืนนอนร้องอยู่ มีเพื่อนช่วยประคองอยู่ข้าง ๆ ถามได้ความว่า พวกเขาเข้ามาล่าสัตว์ ในเขตวัด เห็นกวาง ๒ ตัวผัวเมีย ก็เอาปืนยิง แต่พลาด เขาไล่ตามมา เห็นกวางหยุดยืนตรงหน้าถ้ำ จึงยกปืนยิงอีก แต่ยิงไม่ออกถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ยิงได้ แต่ปืนแตก สะท้อนมาถูกผู้ยิงเอง ตามมือและเนื้อตัวเหวอะหวะหมด เลือดไหลโกรกอย่างน่ากลัว

     ท่านจึงช่วยเพ่งให้เลือดหยุด และตักเตือนให้เขานึกถึงบาปบุญคุณโทษในการตั้งใจทำลายชีวิตผู้อื่น โดยเฉพาะในเขตวัดและท่านให้เขาปฏิญาณรับศีล ๕ แล้วก็ให้กลับบ้านไป เขาก็เล่าลือกันต่อ ๆ ไป ไม่ให้ไปล่วงเกินสัตว์ในเขตวัด เพราะอาจมีอันตราย ก็เป็นการดี คือทำให้สัตว์ทั้งหมดอยู่ด้วยความสงบขึ้น

     เรื่องพยายามจะยิงปืนในเขตวัดนี้ ได้มีเรื่องแต่สมัยถ้ำจันทน์เช่นกัน ครั้งนั้นท่านออกไปบิณฑบาต กลับมาได้ยินเสียงร้องเรียกให้ช่วย ก็ปรากฏว่า มีชายคนหนึ่งถูกปืนตัวเอง ลั่นใส่ตัวปากกระบอกแตก ท่านได้ช่วยเหลือกำหนดจิตเพ่งให้เลือดหยุดและเยียวยาให้เขา ต่อมาเขาได้มาขอขมาท่าน และเล่าให้ฟังว่า เขามองเห็นสีเหลืองของจีวรท่านรำไรในหมู่ไม้ นึกว่าเป็นกวางหรือเก้ง จึงยิงปืนใส่ บังเอิญปืนกลับแตก ลั่นถูกตัวเองบาดเจ็บ เขามีความผิด ๒ กระทง คือ กระทงแรกมายิงสัตว์ในเขตวัด กระทง ๒ มาล่วงเกินยิงท่านอาจารย์ผู้เป็นภิกษุ เขาจึงได้รับผลกรรมนั้นทันตา

      ในกลางพรรษา ฝนตกชุก น้ำท่วมทางบิณฑบาต ชาวบ้านมาส่งอาหารไม่ได้ น้ำท่วมไปหมด เณรต้องต้มข้าวสาลีที่ปลูกในวัด อาศัยฉันไปวันหนึ่ง ๆ จนกว่าน้ำจะแห้ง ก็นับเป็นเดือน ๆ ทีเดียว

      ระหว่างในพรรษาที่ภูสิงห์น้อย ท่านได้เร่งความพากความเพียรอย่างเต็มความสามารถของตน พิจารณาร่างกายของตน กายาคตาสติ ไม่ให้จิตรวม ไม่ให้จิตลงพัก พิจารณาไปพอสมควร พอสงบก็พิจารณาค้นดูในร่างกาย พิจารณาทวนขึ้น และตามลง เป็นปฏิโลมและอนุโลม ค้นดูในร่างกายให้รู้เห็นตามเป็นจริง

      ท่านกล่าวว่า ถ้าจะเปรียบเทียบสถานที่ต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้ว ที่ภูสิงห์น้อยนี้นับเป็นที่สัปปายะมี่สุดแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนาของท่าน คือที่ดงหม้อทอง จิตรวมง่าย แต่ปัญญาไม่แก่กล้า ที่ถ้ำจันทน์ จิตรวมดีเช่นกัน แต่เพิ่งพิจารณาคิดค้นกายอย่างหนัก เพิ่งจะเริ่มกระจ่างมาเป็นลำดับ ที่ภูสิงห์น้อย คิดว่าจิตพักมาพอเพียงแล้ว ได้เร่งทำความเพียรอย่างอุกฤษฎ์ ได้พยายามใช้อุบายปัญญาทุกอย่าง เพื่อจะน๊อคเอาท์คู่ต่อสู้ คือกิเลสให้ล้มคว่ำลงให้ได้

      เมื่อออกพรรษา ท่านอาจารย์ได้ไปหาที่วิเวกที่อื่น ส่วนท่านอาจารย์ ญาติโยมทางบ้านดอนเสียด ถ้ำพระ ถ้ำบูชา ภูวัว ได้มานิมนต์ให้ไปจำพรรษาอยู่กับพวกเขา ท่านจึงตกลงไปพักอยู่ที่ถ้ำบุชา ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านถึง ๑ๆ กิโลเมตร ทางบิณฑบาตลำบากมาก ท่านได้ขอให้ญาติโยมช่วยกันตัดทางจากบ้านดอนเสียดขึ้นภูวัว ไปถ้ำบูชา ช่วยกันทำอยู่ ๓ เดือน จึงสำเร็จ รถและเกวียนพอเดินได้ แต่ถึงกระนั้นการบิณฑบาตก็ต้องแบ่งกันคนละครึ่งทาง ระหว่างพระกับชาวบ้าน พระเดินลงจากเขามาครึ่งทาง และชาวบ้านเดินขึ้นไปอีกครึ่งทาง


พรรษาที่ ๒๒ - ๒๕ พ.ศ. ๒๕๐๗ - ๒๕๑๒
ถ้ำบูชา ตาดสะอาม ภูวัว

     พรรษาแรก มีพระ ๕ องค์ เณร ๒ องค์เท่านั้น ต่างองค์ต่างแยกย้ายกันหาที่วิเวก ปรารภความเพียรกันอย่างไม่ประมาท ได้สร้างโรงครัว ศาลาโรงฉันข้างล่าง และชวนพระเณรทำบันไดขึ้นหน้าผา ขึ้นบนหลังตาดสะอาม เพราะข้างบนเป็นที่ชัยภูมิดี เหมาะเป็นที่วิเวก มีข่าวเล่าลือกันว่า ยังมีพระพุทธรูปทองคำยังหลงเหลืออยู่ในถ้ำในเขตภูวัวนี้ พวกพรานและพวกชาวป่าสมัยก่อนเคยพบเห็นมาแล้ว แต่ไม่มีใครกล้านำออกมา ด้วยเกรงต่ออำนาจเทพารักษ์ที่บำรุงรักษาสถานที่นั้น พวกชาวบ้านช่วยกันหาเท่าใดก็ไม่พบ

     วันหนึ่งขณะนั่งภาวนา ท่านได้นิมิตว่า กำลังค้นหาพระ แต่หาไม่เห็น ขณะนั้นมียักษ์ผู้หญิง รูปร่างสูงใหญ่ ตัวดำสนิท ผมยางรุงรัง มีผ้านุ่ง เปลือยกายท่อนบน อกยานใหญ่ ท้องก็อ้วนใหญ่ ยืนอยู่ที่นำตกสะอาม ท่านจึงเดินเข้าไปถามว่า เป็นใคร ทำไมจึงมาอยู่ที่นี่ ยักษ์จึงตอบว่า เป็นยักษ์อยู่ที่น้ำตกสะอาม เพราะแต่ก่อนเคยทำบาป คือชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ ได้เกิดเป็นภรรยาของท่านอาจารย์ แต่เป็นผู้ทุจริต ประพฤติมิจฉากาม ไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี คือท่านอาจารย์ คบชายอื่นเป็นชู้ เมื่อสามีจับได้ก็ล่อลวงปิดบังไว้ ด้วยบาปอกุศลกรรมอันนั้น จึงทำให้ต้องเกิดเป็นยักษ์อยู่ที่นี่

      ท่านจึงถามต่อว่า มีพระพุทธรูปโบราณอยู่ที่ถ้ำสะอามนี้ใช่ไหม ยักษ์ก็รับว่ามีอยู่จริง แต่ไม่ยอมบอกว่าอยู่ที่ไหน เพราะยักษ์ยังเกลียดชังท่าน ที่ท่านทิ้งเขาไปในชาติครั้งนั้น ท่านจึงได้บอกญาติโยมว่า อย่าไปหาเลย ไม่เห็นหรอก เขาไม่ให้เห็น

     ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ คืนหนึ่งขณะฝนตกหนัก ได้มีเครื่องบินอเมริกันนำลูกระเบิดมาปล่อยทิ้งที่ภูวัว ๖ ลูก หลังจากนั้น ๓ วัน ญาติโยมขึ้นมาถวายจังหันแล้วออกไปเก็บเห็นจึงเห็นลูกระเบิด เป็นลูกระเบิดขนาดใหญ่มีที่ระเบิดแล้ว ๑ ลูก เป็นลูกระเบิดเพลิง แต่ที่ยังไม่ระเบิด ๕ ลูก วัดโดยรอบได้ ๑.๒๐ เมตร วัดตามยาวได้ ๑.๒๐ เมตร จึงให้คนไปแจ้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน เขาได้รายงานไปจนถึงทางทหารที่อุดรให้ฝรั่งทหารอเมริกันผู้มาทิ้งระเบิดทราบ ทหารที่อุดรและทหารอเมริกันได้เดินทางมาจัดการนำเอาลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิดเหล่านั้นขึ้นมาทำลายได้หมด การที่ลูกระเบิดทั้ง ๕ ลูก ไม่แตกระเบิดนี้ ได้ทำให้ชาวบ้านตื่นเต้นร่ำลือกันมาก แต่ท่านกล่าวเพียงว่า อาจจะเป็นเพราะอำนาจคุณพระรัตนตรัยคุ้มครองก็ได้

     กลางปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เจ้าคณะจังหวัดหนองคายได้มีหนังสือมาขอให้พระที่อยู่ถ้ำบูชา ภูวัว ย้ายลงมาจากภูวัว เพราะบ้านเมืองเกิดความฉุกเฉิน เกรงจะเป็นอันตรายต่อพระสงฆ์ ให้ลงไปจำพรรษาที่อื่น ท่านอาจารย์พร้อมหมู่คณะและและแม่ชีก็ได้ลงจากถ้าบูชาในเดือนกรกฎาคม ขณะฝนกำลังตกชุก เดินทางด้วยความยากลำบาก บุกน้ำ บุกโคลนตม มุ่งหน้าไปจำพรรษากับหลวงปู่ขาว ที่วัดถ้ำกลองเพล


พรรษาที่ ๒๖ พ.ศ. ๒๕๑๑
จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อุดรธานี

     ท่านอาจารย์ได้กลับมาอยู่จำพรรษาร่วมกับหลวงปู่ขาว อีกวาระหนึ่ง ซึ่งได้จากวัดป่าแก้ว บ้านชุมพล มาอยู่ที่วัดถ้ำกลองเพล ได้อยู่ปฏิบัติหลวงปู่ ฟังธรรมเทศนา รับการอบรมมาจากหลวงปู่โดยใกล้ชิด

      ออกพรรษา เสร็จกิจการงานแล้ว ได้นมัสการกราบลาหลวงปู่ กลับไปวิเวกที่ภูวัวอีก ท่านได้วิเวกอยู่ที่ภูวัว ๑ เดือน คืนหนึ่ง ขณะนั่งบำเพ็ญความเพียรอยู่นั้น ได้เกิดนิมิตขึ้นว่า

      ได้มีปราสาท ๒หลัง หลังหนึ่งเล็ก หลังหนึ่งใหญ่โตมาก ปราสาททั้ง ๒ หลังสวยงามวิจิตรมาก ตั้งอยู่ทางด้านเขาภูทอกน้อย และภูทอกใหญ่ ซึ่งเวลามองจากภูวัวจะเห็นปรากฏชัด ในนิมิตท่านได้เหาะขึ้นไปบนปราสาทนั้น แต่บังเอิญประตูทางเข้าปราสาทปิดอยู่ ไม่สามารถเข้าไปได้ ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากมีบารมีแรงกล้า ขอให้ประตูเปิดออก เข้าไปได้ ทันใดนั้น ประตูปราสาทหลังเล็กก็เปิดออก ท่านจึงเข้าไปในปราสาทนั้น ภายในห้อง วิจิตรพิสดารงดงามยิ่งนัก มีหญิงรูปสวย ๔ คนเฝ้าอยู่ในปราสาทนั้น ได้นิมนต์ให้ท่านอยู่ร่วมด้วย แต่ท่านไม่ตกลง เพราะเป็นพระ จะอยู่ร่วมกับผู้หญิงไม่ได้ แล้วท่านจึงลงจากปราสาทนั้นไป

      พอจิตถอน ท่านจำนิมิตนั้นได้ติดตา พร้อมทั้งจำทางขึ้นลงได้อย่างแม่นยำ เพื่อพิสูจน์นิมิตนั้น ท่านจึงเดินทางจากภูวัวไปยังภูทอกน้อย พอไปถึงก็เดินทางขึ้นไปบนเขา ตามทางในนิมิตนั้นทุกประการ ได้สำรวจดูเขาชั้นต่าง ๆ เห็นเป็นโตรก เป็นซอก เป็นถ้ำ เป็นหินผาอันสูงชัน ก็เห้นว่าเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมที่จะบูรณะให้เป็นสถานที่สำหรับให้พระเณรได้บำเพ็ญภาวนาต่อไป ท่านจึงตกลงใจเข้าบุรณะและตั้งเป็นวัด ประกอบกับแรงนิมนต์ของชาวบ้านตำบลนาคำแคน บ้านาต้อง อาราธนาให้อยู่โปรดพวกเขาเป็นหลักยึดเหนี่ยวอีกแรงหนึ่ง


พรรษาที่ ๒๗ - ๓๘ พ.ศ. ๒๕๑๒ - ๒๕๒๓
วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อ.บึงกาฬ

     ท่านเริ่มมาอยู่ภูทอกนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๑๒ มาอยู่ครั้งแรก กับท่านพระครูสิริธรรมวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดสามัคคีอุปถัมภ์ อำเภอบึงกาฬในปัจจุบัน กับผ้าขาวน้อยองค์หนึ่ง ตอนแรกก็อาศัยอยู่ตีนเขาที่เป็นโรงฉันต่อกับโรงครัวปัจจุบันนี้ บริเวณรอบ ๆ เป็นผ่าทึบ รกชัฏ มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์

      เบื้องต้นภูทอกยังไม่มีแอ่งเก็บน้ำ สมัยนั้นต้องอดน้ำ อาศัยฝนที่ค้างอยู่ตามแอ่งหิน อาการการขบฉัน อาศัยบิณฑบาตจากชาวบ้านนาคำแคน ซึ่งได้อพยพไปอยู่ใหม่ ๆ ประมาณ ๑๐ หลังคาเรือน การบิณฑบาตขาดแคลนมาก ตามมีตามได้

      พอเข้าหน้าแล้ง ท่านได้ขอให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างทำนบกั้นน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ และขึ้นมาปลูกกระต๊อบอยู่ชั่วคราวที่โขดหินตีนเขาชั้น ๒

      ปีแรกที่จำพรรษาอยู่ที่ภูทอก มีพระ ๓ องค์ ผ้าขาวน้อย ๑ องค์ ปลูกกระต๊อบชั่วคราวพออาศัยได้ ๔ หลัง ทุกองค์ต่างทำความเพียรอย่างเต็มที่ เวลาพลบค่ำ ท่านอาจารย์ขึ้นไปนอนบนชั้น ๕ โดยปีนขึ้นตามเครือเขาเถาวัลย์ ตามรากไม้ ซึ่งแจจุบันนี้เป็นถ้ำวิหารพระ สมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ มีต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น

      ในระหว่างกลางพรรษาที่ ๒๗ ได้ชักชวนญาติโยมทำบันไดขึ้นเขาชั้นที่ ๕ และชั้นที่ ๖ จนสำเร็จ ทำอยู่ประมาณ ๒ เดือนกับ ๑๐ วัน จึงเสร็จเรียบร้อย การสร้างบันไดนี้สำเร็จในกลางพรรษา ได้อาศัยศรัทธาญาติโยมและชาวบ้านใกล้เคียงช่วยกันคนละเล็กละน้อย ช่วยกำลังแรง ส่วนกำลังทรัพย์ไม่มี เพราะต่างเป็นคนยากจน มีแต่ศรัทธาเท่านั้น

      กลางพรรษาปี ๒๕๑๒ ท่านได้เกิดสุบินนิมิตว่า ได้ออกไปบิณฑบาตที่ภูทอกใหญ่ ตามหน้าผา อุ้มบาตรเดินเลียบไปตามหน้าผา อ้อมไปเรื่อย ๆ เห็นหน้าต่างปิดอยู่ตามหน้าผา มองไม่เห็นคนเลย ท่านจึงเดินอ้อมไป ท่านจึงหยุดยืนรำพึงว่า .... ทำไมมีแต่หน้าต่างปิด ไม่เห็นคนออกมาใส่บาตรเลย สักครู่หนึ่งก็เห็นคนเปิดหน้าต่างออกมาใส่บาตร ท่านจึงตั้งจิตถามขึ้นว่า เขาเป็นใคร เขาก็ประกาศขึ้นมาเองว่า "พวกผมนี้เป็นพวกบังบดขอรับ อยู่กันที่ภูทอกใหญ่ ภูแจ่มจำรัส" พวกบังบด คือพวกภุมมเทวดา ที่เขามีศีล ๕ ประจำ เขาอธิบายให้ฟังต่อว่า "ชื่อเดิมของภูทอกใหญ่นี้ เรียกกันว่า ภูแจ่มจำรัส แต่ก่อนนี้มีพวกฤๅษีชีไพรมาบำเพ็ญพรตภาวนากันอยู่ที่ภูแจ่มจำรัสนี้มาก"
     เมื่อเขาใสบาตรเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงภามเขาว่า "ทำไมจึงรู้ว่าอาตมามาบิณฑบาต"
     เขาก็ตอบยิ้ม ๆ ว่า "รู้ครับ รู้ด้วยกลิ่น ถูกกลิ่นพระผู้เป็นเจ้า"
     "กลิ่นเป็นอย่างไร" ท่านซักต่อ
     "กลิ่นหอมขอรับ ถูกกลิ่นพระผู้เป็นเจ้า ก็เลยพากันเปิดหน้าต่างมาใส่บาตรพระผู้เป็นเจ้ากัน" ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี ควรแก่การบูชา พวกเราจึงพร้อมใจกันมาใส่บาตร"
     พอพวกเขาใส่บาตรเสร็จ ท่านก็กลับ พอดีรู้สึกตัวตื่น พิจารณาดูนิมิตนั้นก็เห็นแปลก และเช้าวันนั้น อาหารที่บิณฑบาตได้ ขบฉันก็รู้สึกว่ารสเอร็ดอร่อยเป็นพิเศษ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีใครอื่นมาใส่บาตรจริง ๆ มีแต่ชาวบ้านเท่านั้น และอาหารก็เป็นอาหารพื้น ๆ

      พรรษาแรก พระเณรเจ็บไข้กันมาก บางองค์ก็บอกว่า เทวดาประจำภูเขามาหลอกหลอน ดึงขา ปลุกให้ลุกขึ้นทำความเพียร บางทีก็ไล่ให้หนี เพราะมาแย่งวิมานของเขา ท่านได้พยายามตักเตือนพระเณรให้มีศีลบริสุทธิ์ บำเพ็ญความเพียร แผ่เมตตา และให้ทำความเพียรอย่าได้ประมาท ภายหลังก็เกิดนิมิตว่า มีพวกเทวดามาหาท่านบอกว่า "ขอน้อมถวายภูเขาลูกนี้ ให้แก่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดรับไว้รักษา พวกข้าพเจ้าจะลงไปอยู่ข้างล่าง" และยังขอให้ท่านประกาศแก่มนุษย์ที่จะมาเที่ยวภูเขาลูกนี้ต่อไปว่า ขออย่าได้กล่าวคำหยาบ อย่าส่งเสียงดังอึกทึก อย่าถ่มน้ำลายลงไปข้างล่าง อย่าขว้างปาหรือทิ้งเศษขยะไว้บนเขา

      เมื่อท่านตื่นจากนิมิต จึงมาพิจารณาคำขอร้องของเทวดา ก็เห็นว่าแยบคายดี น่าจะเป็นข้อที่กัลยาณชนควรจะปฏิบัติอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่มีเทวดามาขอร้องก็ตาม ย่างไรก็ดี ในวันนั้น มีชาวบ้านมาเล่าให้ฟังว่า พวกเขาต่างฝันกันว่า มีคนมามอบภูเขาให้ท่านอาจารย์จวนรักษาไว้ และพวกเขาจะลงไปอยู่ข้างล่างแทน บังเอิญมาฝันตรงกันหลายคน

      พ.ศ. ๒๕๑๓ ในฤดูแล้ง ท่านได้ชักชวนชาวบ้าน ช่วยกันสร้างทำนบเพิ่มขึ้นอีก ๒ ทำนบเพื่อไว้เก็บกักน้ำ มีประชาชนจากฝั่งประเทศลาวชื่อ นายบุญที ได้มีศรัทธามาสร้างพระประธานไว้ที่ถ้ำวิหารพระชั้นที่ ๕ ต่อมาได้มีศรัทธาจากที่ต่าง ๆ มาร่วมกันสร้างโรงฉัน และศาลาชั้นที่ ๕

      ภายหลังได้ขยายศาลาตรงฉันชั้นล่างให้กว้างออกไป และได้ขยายศาลาถ้ำวิหารพระชั้นที่ ๕ ให้กว้างออกไปด้วย เพื่อประกอบศาสนกิจและสังฆกรรมได้สะดวก

      การก่อสร้างต่าง ๆ ท่านพยายามทำแบบส่งเสริมธรรมชาติให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ เช่น กุฏิ ศาลาอาศัยผนังถ้ำเป็นฝาเป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ขุดบ่อน้ำอีกหลายแห่ง ยังได้พบบ่อน้ำซึมผุดขึ้นมาจากซอกหิน และได้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างบาตรน้ำมนต์ขนาดใหญ่ไว้รองน้ำซึมที่หยดมาจากยอดเขา นอกจากนี้ยังมีผู้บริจาคเงินสร้างถังเก็บน้ำคอนกรีต ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และได้สร้างส้วมและห้องน้ำ ไว้สำหรับประชาชน
     ใน พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๑๔ ได้ทำสะพานรอบเขาชั้นที่ ๕
     พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้ทำนำนบกั้นน้ำเพิ่ม
     พ.ศ. ๒๕๑๖ ปรับปรุงสะพานชั้นที่ ๕ ทำทางเดินให้เสมอกันและขยายให้กว้างขึ้น
     พ.ศ. ๒๕๑๗ ทำสะพานบนเขาชั้นที่ ๖ ทำสะพานชั้นที่ ๔ ครึ่งเขา
     พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ทำทำนบกันน้ำในเขตวัด

      ตั้งแต่ปี ๒๕๒๙ เป็นต้นมา ได้มีคณะญาติโยมโดยเฉพาะจากกรุงเทพฯ ทยอยมากันบ่อยครั้งขึ้น ได้มีศรัทธาเพิ่มขึ้น บริจาคทั้งกำลังทรัพย์ และกำลังกายมาช่วยเหลือที่วัด ได้มีการสร้างถังน้ำบนเขาชั้นที่ ๕ สร้างห้องน้ำ ห้องส้วมเพิ่มอีกหลายห้อง นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างกุฏิถาวรสำหรับพระเณรจะได้เป็นที่พัก เพราะแต่ก่อนพระเณรจะใช้เงื้อมหินหรือถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยอีกเป็นจำนวนหลายหลัง และยังได้มีการสร้างกุฏิที่พักสำหรับพระอาคันตุกะ สร้างกุฏิแม่ชี และกุฏิที่พักบนชะง่อนเขาชั้นที่ ๕ สำหรับญาติโยมได้มาพักอีกด้วย

      นอกจากได้ก่อสร้างในวัดแล้ว ยังได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านใกล้เคียงอีกด้วย โดยได้สร้างทำนบกั้นน้ำให้แก่ชาวบ้าน ๖ ทำนบ และในปี ๒๕๒๓ ได้เริ่มทำถนนรอบภูเขา ๓ ลูก คือ ภูทอกน้อย ภูทอกใหญ่ และภูสิงห์น้อย ซึ่งต่างก็เป็นสำนักสงฆ์ของวัด เพื่อเป็นการกั้นเขตแดนวัด จะได้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด และยังเป็นการสงวนป่าไม่อีกด้วย (เมื่อท่านอาจารย์จวนมรณภาพแล้ว งานนี้ยังค้างอยู่ ทางวัดได้ทำต่อจนแล้วเสร็จ รวมทั้งทำนบน้ำแห่งใหม่ในหมู่บ้านด้วย)

ท่านได้รับนิมนต์มากรุงเทพมหานคร ได้รับอุบัติเหตุเครื่องบินตก ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ สิริรวมอายุ ๕๙ ปี ๙ เดือน ๑๘ วัน พรรษา ๓๘


     ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้เทศน์ให้ศิษย์ฟังเสมอ ๆ เรื่องสมเด็จพระบรมศาสดาทรงสอนให้มนุษย์รู้จักบำเพ็ญประโยชน์ ๓ อย่าง ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายภาคหน้า และ ประโยชน์อย่างยิ่ง ดังที่ได้ยกธรรมเทศนาของท่านตอนนี้มารวมไว้ข้างท้ายนี้

     คำสอนของท่านอาจถือเป็นข้อสรุปปฏิปทา คุณธรรมขององค์ท่านผู้สอนได้เป็นอย่างดี
     ท่านได้ปฏิบัติมาแล้ว เป็นตัวอย่างให้เราจักได้พยายามเจริญรอยตามคำสอนของท่าน

     แรกเริ่ม ท่านบำเพ็ญประโยชน์ตน อัตตถประโยชน์ก่อน ท่านสอนเสมอ เราต้องว่ายน้ำให้เป็นเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปสอนให้คนอื่นว่ายน้ำ ถ้าตัวเราก็ยังว่ายน้ำไม่เป็นช่วยตัวเองไม่ได้ ไปสอนเขา ก็รังแต่จะพากันจมน้ำตายไปด้วยกันหมด ดังนั้นในระยะแรก ท่านจึงบำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ซอกซอนซ่อนตัวอยู่ในกลางป่าลึก จนบำเพ็ญประโยชน์แก่ตนเองได้สมปรารถนาเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ทำประโยชน์แก่ญาติ...เพื่อนร่วมชาติ ร่วมศาสนา ร่วมพระมหากษัตริย์ ทำประโยชน์แก่โลก แก่ส่วนรวมต่อไป เป็นวิหารธรรม ที่เป็น "เครื่องอยู่" ของท่าน

     วัดป่าบ้านนาจิก วัดป่าศิลาอาสน์ ที่ดงหม้อทอง สำนักสงฆ์ถ้ำจันทน์ วัดป่าที่ภูสิงห์น้อย (ภูกิ่ว) สำนักสงฆ์ถ้ำบูชา สำนักสงฆ์สะแนน และวัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) เป็นเสมือนเจดีย์ศิลาที่ท่านก่อนตั้งไว้

     โดยเฉพาะที่วัดเจติยาคีรีวิหาร ซึ่งท่านได้สร้างสะพานเวียนรอบเขาโดยรอบเป็นชั้น ๆ จนถึงยอด ทำให้เขาภูทอกเป็นสถานที่ซึ่งเหมาะสำหรับผู้มุ่งไปปฏิบัติธรรมและพักผ่อน กิตติศัพท์อันงามขององค์ท่านเอง และสถานที่ซึ่งท่านบุรณะและสร้างสรรแล้ว ได้ชักนำให้ประชาชนจากที่ใกล้และไกล พากันสนใจ แม้ชาวต่างประเทศก็จัดคณะไปกราบคารวะและเยี่ยมชมสถานที่กันไม่ขาด

     ด้วยเมตตาธรรมของท่าน ผ่าดงพงพีหลายแห่ง ได้กลายเป็นไร่นาสาโท ยิ่งท่านได้นำชาวบ้านสร้างถนนหนทาง สะพาน สระน้ำ ฝาย อ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ไร่นาสาโทเหล่านั้นก็อุดมสมบูรณ์ขึ้น

     โดยเฉพาะที่ภูทอก เราได้ประจักษ์กับตาเองว่า ระหว่างสองสามปีหลังนี้ นาข้างแถวบริเวณใกล้ภูทอก ต้นข้าวจะงาม สูงแทบจะท่วมหัวทีเดียว ชาวบ้านรู้จักปลูกผัก ได้อาศัยเมล็ดพันธุ์ผักจากวัด ได้น้ำจากฝายและอ่างเก็บน้ำ ๖ - ๗ แห่ง ที่ "หลวงพ่อ" คิดทำให้บ้าง ปละต่อมาได้ทำเป็นตัวอย่างจูงใจให้ชาวบ้านรู้จักช่วยตัวเอง ทำเพิ่มเติมขึ้นด้วย เขาเหล่านั้นก็เรียกได้ว่า พอจะลืมหน้าอ้าปากได้ บ้านเรือนที่มีอยู่เพียง ๑๐ หลังคาเรือน ก็กลายเป็นหลายร้อยหลังคาเรือน ... ที่เป็นฟาก เป็นไม้ไผ่ ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นไม่ถาวรขึ้นอย่างหนาตา หลายสิบบ้านเป็นเจ้าของไร่มัน พืชผลต่าง ๆ และมีอีกเป็นสิบบ้านเช่นเดียวกัน ที่ต่างมีรถยนต์จอดอยู่ในบ้านของตน

     วัดวาอาราม ถนน สะพาน สระน้ำ ฝาย อ่างเก็บน้ำ และความเจริญของหมู่บ้านที่ประชาชนอพยพตามเข้ามาอาศัยบารมีการุณธรรมอันสงบร่มเย็นของท่าน ... เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นทีดงหม้อทอง วานรนิวาส ที่ถ้ำจันทน์ ดงศรีชมภู ที่ภูสิงห์น้อย ที่ถ้ำบูชา ที่น้ำตกสะแนน ภูวัว ที่ภูทอกน้อย ภูทอกใหญ่ ... ล้วนเป็นอนุสรณ์แห่งการบำเพ็ญบารมีเพื่อโลกัตตถประโยชน์และญาตัตถประโยชน์ของท่านทางด้านถาวรวัตถุทั้งสิ้น

     แต่ที่ทรงประโยชน์คุณค่ามหาศาล หาประมาณมิได้ คือทางด้านจิตใจ ที่ท่านกรุณาเมตตาช่วยเหลือเจือจาน เทศนา สั่งสอน แนะนำให้ศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ... ทั้งที่หนองคาย อุบล อุดร นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ เลย สงขลา เชียงใหม่ เชียงราย กรุงเทพฯ ... จันทบุรี ชลบุรี ให้ศิษย์มีความคิดที่ถูกต้องดีงาม ไม่หลงไปในทางที่ผิด ให้รู้จักทุกข์ เหตุที่เกิดทุกข์ ธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมอันเป็นที่ดับทุกข์

     ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ปัจจุบันแล้ว

          สำหรับประโยชน์ ๒ ประการคือ ประโยชน์ภายภาคหน้า.... เพื่อว่าเมื่อละชีวิตปัจจุบันแล้ว จะได้มีสุคติเป็นที่ไป และ ประโยชน์อย่างยิ่ง ... เพื่อดับอาสวกิเลสให้สิ้นไปถึงพระนิพพาน ... นั้น

      บรรดาศิษย์ของท่านไม่มีคามสงสัยเลยว่า ท่านได้บำเพ็ญบารมีเพื่อประโยชน์ ๒ประการหลังนี้บริบูรณ์แล้ว เต็มแล้ว หรือไม่ และเพียงใด



   ความคิดเห็น



 เธซเธ™เน‰เธฒเนเธฃเธ
 เธ—เธตเธกเธ‡เธฒเธ™เธ˜เธฃเธฃเธกเธฐเน„เธ—เธข
 เนเธœเธ™เธœเธฑเธ‡เน€เธงเน‡เธšเน„เธ‹เธ•เนŒ
 เธ„เน‰เธ™เธซเธฒเธ‚เน‰เธญเธกเธนเธฅ
 เธ•เธดเธ”เธ•เนˆเธญเธ˜เธฃเธฃเธกเธฐเน„เธ—เธข
 เธชเธกเธธเธ”เน€เธขเธตเนˆเธขเธก
 เธ˜เธฃเธฃเธกเธฐเนƒเธ™เธชเธงเธ™
 เน€เธ„เธฃเธทเธญเธ‚เนˆเธฒเธขเธ˜เธฃเธฃเธกเธฐ
 เธจเธนเธ™เธขเนŒเธฃเธงเธกเธ เธฒเธž
 เธชเธฑเธเธฅเธฑเธเธฉเธ“เนŒเน„เธ—เธข
 เธกเธธเธกเธชเธกเธฒเธŠเธดเธเธ˜เธฃเธฃเธกเธฐเน„เธ—เธข
 Donation
 เน€เธ—เธจเธเธฒเธฅเธ‡เธฒเธ™เธงเธฑเธ”เธŠเนˆเธงเธขเธŠเธฒเธ•เธด
 เธ‚เนˆเธฒเธงเธ˜เธฃเธฃเธกเธฐ
 เธเธฒเธฃเน€เธœเธขเนเธœเนˆเธจเธฒเธชเธ™เธฒ
 เธ›เธฃเธฐเน€เธžเธ“เธตเน„เธ—เธข

เธˆเธตเธฃเธฑเธ‡ เธเธฃเธธเนŠเธ›    

 ธรรมะไทย