ท่านพระวักกลิ
เกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ชื่อว่าวักกลิมาณพ
เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์จนจบไตรเพทฯ
เหตุแห่งการออกบวช
ครั้นเที่ยวไปในนครสาวัตถี
วักกลิมาณพได้เห็นพระองค์ ก็บังเกิดความเลื่อมใสในพระรูปพระโฉมของพระองค์
ไม่อิ่ม ไม่เบื่อหน่ายในการดู อยากจะดูทุกเมื่อ จึงคิดว่าถ้าเราได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา
จักได้เห็นพระองค์อยู่เป็นนิตย์ ครั้นคิดอย่างนั้นจึงได้ออกบวชในพระพุทธศาสนา
ครั้นบวชแล้ว แทนที่จะท่องบ่นสาธยายธรรมและบำเพ็ญเพียรในกรรมฐาน
แต่ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ มัวเมาแต่เที่ยวดูพระรูปโฉมของพระบรมศาสดาอยู่เท่านั้น
พระองค์ก็มิได้ตรัสว่าอะไร ๆ กะท่าน ท่านก็เที่ยวตามชมเชยอยู่เช่นนั้น
ครั้นต่อมาพระบรมศาสดาตรัสสอนว่า ดูก่อนวักกลิ เธอต้องการดูกายที่เปื่อยเน่านี้เพื่อประโยชน์อะไร
ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่า เห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม แม้พระองค์ทรงตรัสสอนอย่างนี้แล้ว
ท่านพระวักกลิก็ยังไม่ละ ซึ่งอันดูพระองค์หลีกหนีไปในที่อื่นเสีย
พระบรมศาสดาจึงทรงดำริว่า ภิกษุนี้ ถ้าไม่ได้ความสลดใจเสียบ้างแล้ว
ก็จะไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร ครั้นทรงดำริในพระทัยอย่างนี้แล้ว
เมื่อจวนจะถึงวันเข้าพรรษา พระองค์จึงเสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์มหานครในวันเข้าพรรษาพระองค์จึงมีพระพุทธฎีกา
ประณามขับไล่พระวักกลิเสียจากสำนักของพระองค์ว่า อเปหิ
วกฺกลิ ดูก่อนวักกลิภิกษุ เธอจงหลีกไปให้พ้นจากสำนักของเราเถิดฯ
ท่านพระวักกลิเกิดความน้อยใจว่า พระบรมศาสดาจะไม่ทักทายปราศรัยกะเราอีกแล้ว
เราก็ไม่อาจจะอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ตลอดไตรมาส
มีความเสียใจที่จะไม่ได้เห็นพระองค์ จึงหลีกออกจากพุทธสำนัก
แล้วคิดว่าเรามีชีวิตอยู่จะมีประโยชน์อะไร เราจะกระโดดภูเขาตายเสีย
ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงขึ้นไปสู่ยอดเขาคิชกูฏฯ พระบรมศาสดาทรงทราบซึ่งความลำบากของท่าน
จึงแสดงพระองค์ให้ปรากฏในที่เฉพาะหน้า และตรัสสอนด้วยธรรมีกถามีประการต่าง
ๆ ท่านเกิดปีติและปราโมทย์อย่างแรงกล้า มาเฝ้าพระบรมศาสดาโดยทางอากาศ
นึกถึงพระโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ข่มปีติบนอากาศเสียได้แล้ว
ได้บรรลุพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ลงมาถวายบังคมพระบรมศาสดาที่เฉพาะพระพักตร์ฯ
เอตทัคคะ
ครั้นกาลต่อมา พระบรมศาสดาทรงตั้งท่านพระวักกลิไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย
ฝ่ายข้างสัทธาวิมุตติ พ้นจากกิเลสด้วยศรัทธาฯ ท่านพระวักกลินั้น
ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธ์ปรินิพพานฯ
|