ไม่มีกิเลสตัวใดที่ยั่งยืน และไม่มีกิเลสตัวใดที่เป็นเราเป็นของเรา


กิเลสเป็นชื่อเรียกอารมณ์ที่ทำให้จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมองและขวางกั้นไม่ให้สิ่งดีงามงอกเงยขึ้นในจิตใจ รายชื่อกิเลสที่ปรากฏในพระสูตรช่วยให้นักภาวนามีรายการตรวจสอบความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของตน หากในภาพรวมแล้ว กิเลสเหล่านี้ลดลงเรื่อยๆ ย่อมอนุมานได้ว่าเราปฏิบัติถูกต้อง แต่หากกิเลสเพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าถึงเวลาที่ควรพิจารณาหาวิธีแก้กิเลสตัวนั้น ตราบใดที่กิเลสยังอยู่ จิตจะรับคุณธรรมได้ยาก ดุจผ้าสกปรกเปรอะเปื้อน ย่อมไม่อาจรับสีย้อมใหม่ได้ฉันนั้น

กิเลสกลุ่มหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงขยายไว้ในพระสูตรคือ อุปกิเลส ๑๖ (มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ วัตถูปมสูตร) ประกอบด้วยกิเลสดังนี้

อภิชฌาวิสมะโลภะ - ความคิดเพ่งเล็งอยากได้ ความโลภ
พยาบาท - การคิดมุ่งร้าย พยาบาท
โกธะ - ความโกรธ
อุปนาหะ - ความผูกโกรธ
มักขะ - การหลบหลู่คุณท่าน การลบล้างปิดซ่อนความดีของผู้อื่น
ปลาสะ - การตีเสมอ, ยกตัวเทียมท่าน
อิสสา - ความริษยา
มัจฉริยะ - ความตระหนี่ หวงไว้
มายา - มารยา
สาเถยยะ - ความโอ้อวดหลอกเขา
ถัมภะ - ความหัวดื้อ กระด้าง
สารัมภะ - ความแข่งดี ไม่ยอมลดละ มุ่งแต่จะเอาชนะกัน
มานะ - ความถือตัว ทะนงตน
อะติมานะ - ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา ดูหมิ่นเขา
มทะ - ความมัวเมา ลุ่มหลง
ปมาทะ - ความประมาท, ละเลย, เลินเล่อ

ถ้าเราอ่านรายชื่อกิเลสทั้งหมดนี้แล้วตอบตัวเองว่า “ใช่..ใช่.. นี่ก็ใช่..ใช่อีกแล้ว…” แล้วรู้สึกท้อแท้ให้หยุดอ่านสักพัก หายใจเข้าลึกๆ ผ่อนคลาย ไม่มีกิเลสตัวใดที่ยั่งยืน และไม่มีกิเลสตัวใดที่เป็นเราเป็นของเรา ขอเพียงปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์อย่างจริงใจแล้วกิเลสทุกตัวจะจางหายไป

ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ

3,096







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย