ฝึกจิตใจอย่างไรให้มีอารมณ์เสมอกัน

 รุ้งเดือน   7 ธ.ค. 2553

       ขอถามท่าน      บัณฑิต      จิตเมตตา
กรุณา      ตอบถ้อย      หนูน้อยถาม
สิ่งน่าเกลียด      หนูรังเกียจ      เดียดฉันตาม
สิ่งที่งาม      กลับนิยม      เฝ้าชมเชย

     เสียงไพเราะ      เสนาะหู      หนูฟังซึ้ง
เสียงตังตึง      ขึ้งโกรธ      คนโฉดเอ่ย
รสหวานน้อย      เค็มนิดซิ      หนูติเลย
เฝ้าชิดเชย      รสอร่อย      แต่น้อยมา(ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก)

     ได้สัมผัส      นวลนุ่ม      มักลุ่มหลง
สัมผัสตรง      แข็งกระด้าง      บ้างต่อว่า
ใจก็คิด      ติดเรื่องดี      ที่เข้ามา
เรื่องไร้ค่า      ใจมักขุ่น      อยู่วุ่นวาย

     ฝึกอย่างไร      จิตใจจึง      ถึงเสมอ
ดีเลวเจอ      เสมอสม      อารมณ์หมาย
ดีไม่ฟู      เลวไม่ฟุ้ง      มุ่งเฉยด้าย(ได้)
ทั้งดีร้าย      ไม่ไหวหวั่น      มั่นคงใจ

     ขอบัณฑิต      จิตเมตตา      กรุณาบอก
กำจัดออก      อารมณ์นั้น      ที่หวั่นไหว
วิธีฝึก      ปฏิบัติ      ขัดเกลาใจ
ตั้งมั่นได้      คงมั่น      นั้นทำไง.......เจ้าค่ะ ??? .



เจริญในธรรมเจ้าค่ะ. 






เห็นรุ้งเดือน กลับมา น่ายินดี
ขนมาเต็มที่ คราวนี้ ล้วนสร้างสรรค์
กามคุณห้า เร่ง เร้า รุก บุก โรมรัน
ทำอย่างไร ให้ตั้งมั่น ในฤดี

เหมีอนคนลอย เคว้งคว้างไป ในน่านน้ำ
พายุซ้ำ โหมกระหน่ำ ตามวิถี
ลอยเคว้งคว้าง ท่ามกลาง ลำนที
เพราะไม่มี สิ่งยึดเกาะ ที่เหมาะใจ

ลมพัดซ้าย ไปซ้าย แล้วป่ายขวา
ต้องผวา เมื่อครา คลื่นรุกไล่
บางคนเห็น กอสวะ รีบคว้าไว้
ทั้งเศษไม้ สิ่งไรไร รีบคว้ามา

เมื่อไม่ใช่ ไม้หลัก ที่หนักแน่น
มิใช่แก่น หลุดคว้างไป ใกล้เชิงผา
ตั้งสติ หาหลักใหญ่ กลางธารา
ยึดให้มั่น เพื่อฟันฝ่า น้ำ คลื่น ลม

ใช้อรหัตมรรคา อบรมจิต
ค่อยค่อยปลิด ค่อยค่อยวาง ที่สร้างสม
เพียร ลด ละ กามใดใด ในอารมณ์
เพียรเพาะบ่ม จิตไว้ ในกุสลา

ทำเช่นนี้ สักวัน คงพลันแจ้ง
ดั่ง ธ แสดง ให้เห็นแจ้ง น่าศึกษา
"เมื่อได้เห็น สักว่าเห็น" ไม่นำพา
อุเบกขา ประกอบมา ในจิตตน

สงัดกาม อกุศลที่ ข้นแค้น
มนัสแน่น ในฌานไว้ ใฝ่ฝึกฝน
ให้ปุญญาภิสังขาร ผ่านจิตตน
ละให้พ้น ก้าวไปใน อเนญชาฯ

จิตของเจ้า จะเข้าสู่ ความตั้งมั่น
ไม่ไหวหวั่น ต่อกิเลส เหตุตัณหา
อารมณ์ตน ที่อยู่ ในจินตนา
ไม่โอนไหว พัดพา ดั่งต้องลม

วิธีการ จะทำได้ เป็นไฉน
ท่านยะมุนี เคยสอนไว้ ให้สุขสม
บุญหิ่งห้อยฯ มีน้อย มิได้ชม
ไม่สามารถ ทำอารมณ์ เสมอกัน

จึงไม่กล้า เอ่ยปาก บรรยายได้
คงรอให้ ท่านยะมุนี ชี้รังสรรค์
อีกสักครั้ง แม่จะได้ เรียนด้วยกัน
วอนเจ้านั้น เชิญท่าน ยะมุนี



เจริญในธรรม เจ้าค่ะ








แล้วจักหายะมุนีชี้รังสรรค์ จากไหนกันจึงตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ไกลหรือใกล้จักบากบั่นมุ่งมั่นไป เพื่อให้ได้วิชชามาฝึกตน


เจริญในธรรมนะคะ...






กราบนมัสการท่านยะมุนีเจ้าค่ะ
กราบเรียนเชิญท่านวิสัชนา ในปุจฉานี้ด้วยเจ้าค่ะ


แล้วจักหายะมุนีชี้รังสรรค์
จากไหนกันจึงตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ไกลหรือใกล้จักบากบั่นมุ่งมั่นไป
เพื่อให้ได้วิชชามาฝึกตน ... pretty

pretty งาม เอ่ยความ น่ารักยิ่ง
ท่านยะมุนี ไม่เคยทิ้ง แม่สักหน
ท่านน้อมนำ เมตตา กรุณาดล
แล้ว pretty จักได้ยล ธรรมที่งาม

ไม่มีใคร ตอบได้กระจ่าง เหมือนอย่างท่าน
ได้รังสรรค์ มานานปี เกินที่ถาม
ท่านจะรู้ ว่าเรา เฝ้าติดตาม
ส่งคำถาม กระแสธรรม ตามจิตไป

ท่านเคยกล่าว ไว้ตั้งแต่ หกปีก่อน
ในครั้งนั้น แม่ยังอ่อน ในธรรมใส
เพราะยังอยู่ ทางที่หลง เดินผิดไป
ไม่ใส่ใจ คำท่านกล่าว จึงเศร้าตรม




เจริญในธรรม เจ้าค่ะ








สวัสดีครับท่านผู้ใฝ่ในธรรม

นอกจากวิธีที่หิ่งห้อยน้อยแนะนำแล้ว
ก็ยังมีอีกวิธีหนึ่งแต่ค่อนข้างยากสักหน่อย

1.เข้าปฐมฌานสมาบัติครอบงำรูปทั้งปวงเอาไว้
2.เข้าสู่ตติยฌานสมาบัติ(ฌาน 3 )ครอบงำรูปทั้งปวงที่งามเอาไว้ว่าไม่งาม
3.เข้าสู่จตุตถฌานสมาบัติ(ฌาน 4 )ครอบงำรูปทั้งปวงที่ไม่งามเอาไว้ว่างาม(สวยงาม)
4.ละรูปทั้งปวงเข้าสู่อากาสานัญจายตนะฌานสมาบัติ
5.ละอากาสานัญจายตนฌานสมาบัติเข้าสู่วิญญานัญจายตนะฌานสมาบัติ
6.ละวิญญานัญจายตนฌานสมาบัติเข้าสู่อากิญจัญญายตนฌานสมาบัติ
7.ละอากิญจัญญายตนฌานสมาบัติเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานสมาบัติ
8.ละเนวสัญญานาสัญญายตนฌานสมาบัติเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธสามบัติ



" คำว่าครอบงำรูปทั้งปวง หมายถึงกำหนดรู้เห็นสัตว์โลกทั้งปวงด้วยญาณเอาไว้ได้ชัดเจน เหมือนเราเห็นเส้นลายมือบนฝ่ามือเราได้ชัดเจนนั่นเอง "

อาเนญชาภิสังขารใน อรูปฌาน จะทำให้จิตเราตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
จิตจะทรงอารมณ์อุเบกขาอยู่อย่างสม่ำเสมอ
จิตเราก็จะมีอารมณ์เสมอกันทั้งสิ่งที่เคยเห็นว่างามและไม่งาม ทั้งสิ่งที่เคยชอบและเคยไม่ชอบ

เพราะบางที่ใช้ปัญญาพิจารณากำหนดรู้อย่างเดียวอาจเอาไม่อยู่
จึงจำเป็นต้องใช้ฌานช่วยด้วยครับ
ขออภัยนะครับหิ่งห้อยน้อย ที่แนะนำแตกต่างออกไป

เจริญในธรรมครับ.




ตามที่ท่านยะมุนีได้ชี้สอน
หนูยังอ่อนวิชชาที่ท่านให้

เพียงอักษรที่ท่านบอกไม่เข้าใจ
ทำเช่นไรจิตจึงได้ทรงอารมณ์





รบกวนช่วยชี้แนะเจ้าค่ะ




     สวัสดี      ยามสาย      สหายหญิง
ถ้าเอาจริง      ก็จะได้      ในภายหน้า
ขัดสมาธิ      ตัวตรงตั้ง      นั่งหลับตา
ภาวนา      ว่าสว่างสว่าง      อย่างตั้งใจ

     หายใจลึก      นึกถึงแสง      แห่งวงหน้า
ภาวนา      สว่างสว่าง      อย่างบอกไว้
หายใจลึก      ให้ปีติ      ซาบซ่านไป
ทั่วกายใจ      มีปีติ      สุขสบาย

     บ้างซาบซ่าน      ขนลุก      นำตาไหล
บ้างตัวใหญ่      โยกสั่น      อันหลากหลาย
ก็อย่ากลัว      อย่าฟุ้งซ่าน      กระวนกระวาย
ตั้งใจกาย      กระทำเหตุ      นั้นต่อไป

     ลองทำดู      ให้ได้      ในขั้นนี้
บอกมาที      ว่าท่านมี      ปีติได้
หากได้แล้ว      ก็จะสอน      ตอนต่อไป
ขอน้อมใจ      สาธุการ      กับท่านแล

     สมาธิ      ขั้นนี้นะ      ปฐมฌาน
วิตกวิจาร      ปีติสุข      เกิดขึ้นแน่
เอกคตา      อารมณ์หนึ่ง      ในดวงแด
สงัดแท้      จากกาม      อกุศลธรรม

     ลองทำดู      แล้วจะรู้      ว่าสุขยิ่ง
ซึ่งเป็นสิ่ง      ก่อกุศล      ดลอุปถัมภ์
ให้สำเร็จ      ในสมบัติ      ขจัดกรรม
บรรลุธรรม      อันยิ่ง      เหนือโลกีย์



เจริญในธรรมครับ.




pretty จะขอนำไปฝึกฝน
เพื่อให้ตนบรรลุธรรมที่ท่านให้

ปฐมฌานเพียงก้าวแรกจะเร่งไป

แม้จะยากเพียงใดก็เพียรทำ



ขอขอบพระคุณเจ้าค่ะ...




รุ้งอยากให้ pretty ได้ฝึกฝน
ลองทำจนเกิดปีติในฌานได้
แล้วจักรู้ว่าสุขนั้นเป็นเช่นไร
เพียงเธอได้บรรลุปฐมฌาน


เจริญในธรรมนะคะ.....





กราบนมัสการท่านยะมุนี เจ้าค่ะ

สวัสดีเจ้าค่ะ pretty

เมื่อเริ่มหนึ่ง สอง สาม สี่.. จักตามมา
เพราะไม่เนื่อง ด้วยเวลา หรอกเจ้าเอ๋ย
แม่อ่าน ความของ pretty เจ้าทรามเชย
รู้ได้เลย เคยฝึก ปฐมฌาน มา

เพราะแค่อ่าน ท่านยะมุนี ที่ชื้แนะ
มิต้องแกะ ก็กระจ่าง กลางเวหา
หิ่งห้อยน้อย คงได้แต่ อนุโมทนา
น่าชื่นใจ ในจินตนา ที่มั่นคง

กราบขอบพระคุณ ท่านยะมุนี ที่ชี้ทาง
หิ่งห้อยน้อย ให้สว่าง ไม่มีหลง
อ่านคำตอบ วันนี้ ใจมั่นคง
ไม่พะวง ดั่งปี ที่ผ่านมา


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ









กราบนมัสการท่านยะมุนี เจ้าค่ะ

อ้างอิง......

สงัดกาม อกุศลที่ ข้นแค้น
มนัสแน่น ในฌานไว้ ใฝ่ฝึกฝน
ให้ปุญญาภิสังขาร ผ่านจิตตน
ละให้พ้น ก้าวไปใน อเนญชาฯ

จิตของเจ้า จะเข้าสู่ ความตั้งมั่น
ไม่ไหวหวั่น ต่อกิเลส เหตุตัณหา
อารมณ์ตน ที่อยู่ ในจินตนา
ไม่โอนไหว พัดพา ดั่งต้องลม ....หิ่งห้อยน้อย





อาเนญชาภิสังขารใน อรูปฌาน จะทำให้จิตเราตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
จิตจะทรงอารมณ์อุเบกขาอยู่อย่างสม่ำเสมอ
จิตเราก็จะมีอารมณ์เสมอกันทั้งสิ่งที่เคยเห็นว่างามและไม่งาม
ทั้งสิ่งที่เคยชอบและเคยไม่ชอบ

เพราะบางที่ใช้ปัญญาพิจารณากำหนดรู้อย่างเดียวอาจเอาไม่อยู่
จึงจำเป็นต้องใช้ฌานช่วยด้วยครับ
ขออภัยนะครับหิ่งห้อยน้อย ที่แนะนำแตกต่างออกไป ....ท่านยะมุนี







กราบขออภัย ท่านยะมุนี ผู้เมตตา
ตอบคำข้าฯ หิ่งห้อยน้อย พลอยสงสัย
ข้าฯ พยายาม หาสิ่ง ที่ต่างไป
ตามที่ท่าน กล่าวไว้ ให้สงกา

อเนญชา ภิสังขาร การปรุงแต่ง
ที่ไม่แกว่ง กวัดไป ให้กังขา
ใช่เฉพาะ อรูปฌาน ทั้งสี่มา
หรือทว่า ต่างที่ใด ให้งุนงง

หรือต่างที่ การครอบรูป ฌานหนึ่งสอง
หมายทำนอง สิ่งนี้แน่ ไม่พาหลง
ทำรูปงาม ไม่ให้งาม เสื่อมทรามลง
รูปไม่งาม กลับคง ทำให้งาม

การครอบรูป คงสำคัญ อย่างแน่นอน
โปรดช่วยสอน ขยายความ ตามที่ถาม
ด้วยความรู้ หิ่งห้อยน้อย ด้อย ไม่งาม
จึงใคร่ถาม โปรดขยายความ ให้ข้าฯ ที


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ











     สวัสดี      ที่ถามนะ      หิ่งห้อยน้อย
ขอตอบถ้อบ      ปุจฉา      ว่าดั่งนี้
อรูปฌาน      ธรรมดา      ดังว่านี่
ใช่ก็มี      อาเนญชา      มาในใจ

     แต่สังขาร      ที่ว่า      มาด้วยขันธ์
จิตตั้งมั่น      อุเบกขา      เพราะฌานไว้
แต่เพราะยึด      อุปาทาน      ขันธ์ภายใน
อรูปให้      ขันธ์ที่งาม      ตามอุปาทาน

     จึงกล่าวว่า      มิหวั่นไหว      ของใจนั้น
เพราะจิตมัน      ยึดขันธ์งาม      กัมมัฏฐาน
ใช่เพราะละ      สละวาง      อย่างนิพพาน
เป็นอุปาทาน      สังขาร      อาเนญชา

     วิโมกข์แปด      ที่แสดง      แตกต่างไป
นั่นคือได้      อาเนญชะ      ตบะกล้า
เป็นสมาบัติ     อริยะ      อาเนญชา
สิ้นตัณหา      สิ้นสังโยชน์      โทษธุลี

     วิโมกข์แปด      จึงเป็นฤทธิ์      พระอริยะ
มีตบะ      ชำระใจ      ให้ผ่องศรี
จิตเสมอ      เพราะบรรลุ      สิ้นธุลี
จิตแบบนี้      มีอารมณ์      เสมอกัน

     ปุถุชน      หวังทำใจ      ให้เสมอ
จิตของเธอ      ต้องบรรลุ      วิโมกข์นั้น
ทำให้ได้      สักสามข้อ      ก็แล้วกัน
ยังจิตนั้น      เสมอได้      ในอารมณ์

     หนึ่งครอบงำ      รูปทั้งหลาย      ใช้ปฐมฌาน
วิตกวิจาร      ปีติยัง      สุขสั่งสม
สองฌานสาม      ครอบงำรูป      น่าชื่นชม
แล้วอบรม      ว่าไม่งาม      ตามฤทธิ์ฌาน

     สามฌานสี่      ครอบงำรูป      ไม่งามไว้
กำหนดใจ      ด้วยปัญญา      มาเป็นเป็นฐาน
ที่ไม่งาม      ว่างาม      ตามองค์ฌาน
ฌานและญาณ      ย่อมทำใจ      ให้เสมอกัน

     นี่คือสิ่ง      แตกต่าง      ทางหิ่งห้อย
ขอตอบถ้อย      ที่ถาม      ตามอรรถนั้น
และขอโทษ      ที่ตอบช้า      มาหลายวัน
เพราะตัวฉัน      มีกิจจะ      แสดงธรรม



เจริญในธรรมครับ.






กราบนมัสการ ท่านยะมุนี เจ้าค่ะ


แต่สังขาร ที่ว่า มาด้วยขันธ์
จิตตั้งมั่น อุเบกขา เพราะฌานไว้
แต่เพราะยึด อุปาทาน ขันธ์ภายใน
อรูปให้ ขันธ์ที่งาม ตามอุปาทาน

จึงกล่าวว่า มิหวั่นไหว ของใจนั้น
เพราะจิตมัน ยึดขันธ์งาม กัมมัฏฐาน
ใช่เพราะละ สละวาง อย่างนิพพาน
เป็นอุปาทาน สังขาร อาเนญชา ...... ท่านยะมุนี

สาธุธรรม วิสัชนา ให้หายข้อง
สิ่งที่หมอง ก็สดใส ไฉไลกว่า
ได้เข้าใจ ในคำ อเนญชา
นั้นได้ว่า มีโลกีย์ฯ และนิพพาน

ความละเอียด ละเมียดนัก เกินคิดได้
ด้วยลืมไซร้ ว่าปรุงแต่ง แห่งสังขาร
แม่แต่ความ ไม่หวั่นไหว ยังเสียการ
อเนญชา ภิสังขาร ยังโลกีย์

กราบงามงาม สามครั้ง อย่างตั้งจิต
ขอบูชิต คารวะ ด้วยสิ่งศรี
กราบขอบคุณ ท่านอาจารย์ ยะมุนี
ได้ช่วยชี้ ให้กระจ่าง ดั่งต้องการ



เจริญในธรรม เจ้าค่ะ







 เปิดอ่านหน้านี้  5701 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย