เบญจศีล
 Webmaster   10 ก.ย. 2554

เบญจศีล

คอลัมน์ ศาลาวัด


เบญจศีล คือ ศีล 5 ได้แก่ 1.ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากฆ่าสัตว์มีชีวิต 2.อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ 3.กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกาม 4.มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการกล่าวเท็จ 5.สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุรา และเมรัย

หลักสำคัญในการรักษาศีล ผู้ที่จะรักษาศีล พึงทราบหลักในทางวิชาการ และทางปฏิบัติ โดยย่อ คือ

ความมุ่งหมายในการรักษาศีลห้า ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การรักษาศีลห้ามีความมุ่งหมายในการป้องกันตนไม่ให้เสียหาย ของทุกสิ่ง ทุกอย่าง มันจะดีหรือจะเสีย จะคงทนถาวรหรือชำรุดหักพังโดยง่าย สำคัญอยู่ที่พื้นฐานของสิ่งนั้น ฉะนั้น ช่างก่อสร้างที่เขาจะสร้างตึก จึงต้องตอกเสาเข็มลงรากตรงจุดที่จะรับน้ำหนักไว้แข็งแรง

ชีวิตของคฤหัสถ์ก็เช่นเดียวกัน ต้องแบกน้ำหนัก เพราะเรื่องครอบครัว เรื่องหน้าที่การงาน เรื่องยากดีมีจน ความสุขความทุกข์ร้อยแปด จำจะต้องสร้างพื้นฐานของชีวิตให้มั่นคง จึงจะรับน้ำหนักไว้อย่างปลอดภัย

เราคงจะเคยเห็นคนที่มีพื้นฐานชีวิตไม่ดีพอ พอตนจะต้องรับภาระหรือกระทบกระแทกเข้า เลยต้องกระทำความผิดถึงติดคุก ติดตะรางก็มี นั่นแสดงความที่ชีวิตพังทลายไป น่าเสียดายมาก

ทางศาสนาชี้จุดสำคัญที่จะต้องสร้างพื้นฐานไว้ให้มั่นคงเป็นพิเศษ 5 จุด เป็นการปิดช่องทางที่ตัวเองจะเสีย 5 ทางด้วยกัน และวิธีที่ว่าก็คือ การรักษาศีล 5 ข้อ

ศีลข้อที่ 1 ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความโหดร้าย

ศีลข้อที่ 2 ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความมือไว

ศีลข้อที่ 3 ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความใจเร็ว

ศีลข้อที่ 4 ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความขี้ปด

ศีลข้อที่ 5 ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความขาดสติ

หมายความว่า ชีวิตของคฤหัสถ์ทั้งหลาย มักจะพังทลายใน 5 อย่างนี้ คือ 1.ความโหดร้ายในสันดาน 2.ความอยากได้ทรัพย์ของคนอื่นในทางที่ผิด 3.ความร่านในทางกามเกี่ยวกับเพศตรงข้าม 4.ความไม่มีสัจจะประจำใจ 5.ความประมาทขาดสติ สัมปชัญญะ

วิธีแก้ก็คือ การหันเข้ามาปรับพื้นฐานสันดานของตนเองโดยรักษาด้วยเบญจศีล

ผู้ที่ถือศีลย่อมได้รับอานิสงส์ คือ ย่อมประสบความสำเร็จในการทำมาหากิน เป็นผู้ไม่หลงทำกาลกิริยา คือ ก่อนตายก็มีสติ ตายไปอย่างสงบ ไม่ทุรนทุราย เมื่อตาย ไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ไม่ต้องตกนรก


ที่มา : ข่าวสดรายวัน

DT0003

Webmaster

10 ก.ย. 2554

 เปิดอ่านหน้านี้  17244 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย