พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด สีหล, สีหฬ - สุข

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


สีหล, สีหฬ - สุข

สีหล, สีหฬ ดู สิงหล

สีหลทวีป “เกาะของชาวสิงหล”, เกาะลังกา, ประเทศลังกา

สีหไสยา นอนอย่างราชสีห์ คือนอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กำหนดใจถึงการลุกขึ้นไว้ (มีคำอธิบายเพิ่มอีกว่า มือซ้ายพาดไปตามลำตัว มือขวาช้อนศีรษะไม่พลิกกลับไปมา)

สีหหนุ กษัตริย์ศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรของพระเจ้าชยเสนะ เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระอัยกาของพระพุทธเจ้า

สุกกะ น้ำกาม, น้ำอสุจิ

สุกโกทนะ กษัตริย์ศากยวงศ์ เป็นพระราชบุตรองค์ที่ ๒ ของพระเจ้าสีหหนุ เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระบิดาของพระอานนท์

สุกขวิปัสสก พระผู้เจริญวิปัสสนาล้วนสำเร็จพระอรหัต มิได้ทรงคุณวิเศษอย่างอื่นอีก เช่นไม่ได้ฌานสมบัติไม่ได้อภิญญา เป็นต้น ดู อรหันต์

สุกรขาตา ชื่อถ้ำ อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ พระนครราชคฤห์ ณ ที่นี้พระสารีบุตรได้สำเร็จพระอรหัต เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปริพาชกชื่อทีฆนขะ ดู ทีฆนขะ

สุข ความสบาย, ความสำราญ, มี ๒ ๑. กายิกสุข สุขทางกาย ๒. เจตสิกสุข สุขทางใจ, อีกหมวดหนึ่ง มี ๒ คือ ๑. สามิสสุข สุขอิงอามิส คืออาศัยกามคุณ ๒. นิรามิสสุข สุขไม่อิงอามิส คือ อิงเนกขัมมะ (ท่านแบ่งเป็นคู่ๆ อย่างนี้อีกหลายหมวด)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย