พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด วิญญาณฐิติ - วิติกกมะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


วิญญาณฐิติ - วิติกกมะ

วิญญาณฐิติ ภูมิเป็นที่ตั้งของวิญญาณมี ๗ คือ
๑. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายต่างกันมีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ พวกเทพบางหมู่ พวกวินิปาติกะ บางหมู่
๒. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพผู้อยู่ในจำพวกพรหมผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน
๓. สัตว์เหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสสระ
๔. สัตวเหล่าหนึ่ง มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพสุภกิณหะ
๕. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ
๖. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ
๗. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ

วิญญาณธาตุ ธาตุรู้, ความรู้แจ้ง, ความรู้อะไรได้ (ข้อ ๖ ในธาตุ ๖)

วิญญาณัญจายตนะ ฌานอันกำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ (ข้อ ๒ ในอรูป ๔)

วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ, วิญญาณเป็นอาหารคือเป็นปัจจัยอุดหนุนหล่อเลี้ยงให้เกิดนามรูป (ข้อ ๔ ในอาหาร ๔)

วิญญู ผู้รู้แจ้ง, นักปราชญ์; ผู้รู้ผิดรู้ชอบ ตามปกติ

วิตก ความตรึก, ตริ, กายยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือปักจิตลงสู่อารมณ์ (ข้อ ๑ ในองค์ฌาน ๕), การคิด, ความดำริ; ไทยใช้ว่าเป็นห่วงกังวล

วิตกจริต พื้นนิสัยหนักในทางตรึก, มีวิตกเป็นปรกติ, มีปรกตินึกพล่านหรือคิดจับจดฟุ้งซ่าน, ผู้มีจิตชนิดนี้พึงแก้ด้วยเพ่งกสิณ หรือเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน (ข้อ ๖ ในจริต ๖)

วิติกกมะ ดู วีติกกมะ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย