พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด วิขัมภนปหาน -วิญญาณ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


วิขัมภนปหาน -วิญญาณ

วิขัมภนปหาน การละกิเลสได้ด้วยข่มไว้ด้วยฌาน; มักเขียน วิกขัมภนปหาน

วิขัมภนวิมุติ ดู วิกขัมภนวิมุตติ

วิจาร ความตรอง, การพิจารณาอารมณ์, การตามฟั้นอารมณ์ (ข้อ ๒ ในองค์ฌาน ๕)

วิจารณ์ 1. พิจารณา, ไตร่ตรอง 2. สอบสวน, ตรวจตรา 3. คิดการ, กะการ, จัดเตรียม, จัดแจง, ดูแล, จัดดำเนินการ 4. ในภาษาไทย มักหมายถึง ติชม, แสดงความคิดเห็นในเชิงตัดสินคุณค่า ชี้ข้อดีข้อด้อย

วิจารณญาณ ปัญญาที่ไตร่ตรองพิจารณาเหตุผล

วิจิกิจฉา ความลังเลไม่ตกลงได้, ความไม่แน่ใจ, ความสงสัย, ความเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย, ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน (ข้อ ๕ ในนิวรณ์ ๕)

วิจิตร งาม, งดงาม, แปลก, ตระการ, หรู, แพรวพราว

วิชชา ความรู้แจ้ง, ความรู้วิเศษ;
วิชชา ๓ คือ ๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้ ๒. จุตูปปาตญาณ ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ๓. อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น;
วิชชา ๘ คือ ๑. วิปัสสนาญาณ ญาณในวิปัสสนา ๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ ๓. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ ๔. ทิพพโสต หูทิพย์ ๕. เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้ ๖. ปุพเพนิวาสานุสติ ๗. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ (= จุตูปปาตญาณ) ๘. อาสวักขยญาณ

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ประกอบด้วยวิชชา ๓ หรือ วิชชา ๘ และจรณะ ๑๕ อันเป็นปฏิปทาเครื่องบรรลุวิชชานั้น, มีความรู้ประเสริฐ ความประพฤติประเสริฐ (ข้อ ๓ ในพุทธคุณ ๙)

วิชชาธร, วิชาธร ดู วิทยาธร

วิญญัติ 1. การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย, การสื่อความหมาย มี ๒ คือ ๑. กายวิญญัติ การให้รู้ความหมายด้วยกาย เช่น พยักหน้า กวักมือ ๒. วจีวิญญัติ การให้รู้ความหมายด้วยวาจา คือพูดหรือบอกกล่าว
2. การออกปากขอของ ต่อคนไม่ควรขอ หมายถึงภิกษุขอสิ่งของต่อคฤหัสถ์ผู้ไม่ใช่ญาติ ผู้ไม่ใช่คนปวารณา

วิญญาณ ความรู้แจ้งอารมณ์, จิต, ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกกระทบกัน เช่นรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตาเป็นต้น ได้แก่ การเห็น การได้ยินเป็นอาทิ;
วิญญาณ ๖ คือ ๑. จักขุวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางตา (เห็น) ๒. โสตวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางหู (ได้ยิน) ๓. ฆานวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ได้กลิ่น) ๔. ชิวหาวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (รู้รส) ๕. กายวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางกาย (รู้สิ่งต้องกาย) ๖. มโนวิญญาณ ความรู้อารมณ์ทางใจ (รู้เรื่องในใจ)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย