พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด วิทยา - วินัยมุข

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


วิทยา - วินัยมุข

วิทยา ความรู้

วิทยาธร “ผู้ทรงวิทยา”, ผู้มีวิชากายสิทธิ์, ผู้มีฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยวิทยาอาคมหรือของวิเศษ, พ่อมด

วิเทหะ ชื่อแคว้นหนึ่งในชมพูทวีป นครหลวงชื่อมิถิลา เป็นดินแดนพวกวัชชีอีกถิ่นหนึ่ง ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคงคาตรงข้ามกับแคว้นมคธ

วิธัญญา ชื่อนครหรือถิ่นหนึ่งในสักกชนบท ปกครองโดยกษัตริย์วงศ์ศากยะ; เวธัญญะ ก็เรียก

วินยวาที ผู้มีปรกติกล่าวพระวินัย

วินยสมฺมุขตา ความเป็นต่อหน้าวินัยในวิวาทาธิกรณ์ หมายความว่าปฏิบัติตามธรรมวินัยและสัตถุศาสน์อันเป็นเครื่องระงับอธิกรณ์นั้น

วินัย ระเบียบสำหรับกำกับความประพฤติให้เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน, ประมวลสิกขาบทของพระสงฆ์ทั้งส่วนอาทิพรหมจรรย์และอภิสมาจาร; ถ้าพูดว่าพระวินัย หมายถึงพระวินัยปิฎก

วินัย ระเบียบแบบแผนสำหรับฝึกฝนควบคุมความประพฤติของบุคคลให้มีชีวิตที่ดีงามเจริญก้าวหน้าและควบคุมหมู่ชนให้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อยดีงาม, ประมวลบทบัญญัติข้อบังคับสำหรับฝึกฝนควบคุมความประพฤติ;

วินัย มี ๒ อย่างคือ
๑. อนาคาริยวินัย วินัยของผู้ไม่ครองเรือน คือ วินัยของบรรพชิต หรือ วินัยของพระสงฆ์ ได้แก่ การไม่ต้องการอาบัติทั้ง ๗ หรือ ปาริสุทธิศีล ๔
๒. อาคาริยวินัย วินัยของผู้ครองเรือน คือวินัยของชาวบ้าน ได้แก่ การงดเว้นจาก อกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือ กุศลกรรมบถ ๑๐

วินัยกถา คำพูดเกี่ยวกับพระวินัย, คำบรรยาย คำอธิบาย หรือเรื่องสนทนาเกี่ยวกับพระวินัย

วินัยกรรม การกระทำเกี่ยวกับพระวินัยหรือการปฏิบัติตามวินัย เช่นการปลงอาบัติ การอธิษฐานบริขาร การวิกัปบาตรและจีวร เป็นต้น

วินัยธร “ผู้ทรงวินัย”, ภิกษุผู้ชำนาญวินัย; พระอุบาลีเถระ ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาพระวินัยธร

วินัยปิฎก ดู ไตรปิฎก

วินัยมุข มุขแห่งวินัย, หลักใหญ่ๆ หรือหัวข้อสำคัญๆ ที่เป็นเบื้องต้นแห่งพระวินัย หรือเป็นปากทางนำเข้าสู่วินัยเป็นชื่อหนังสือที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรจนาขึ้น เพื่อชี้ประโยชน์แห่งพระวินัยมุ่งช่วยให้พระภิกษุสามเณรตั้งอยู่ในปฏิบัติพอดีพองาม ผู้ไม่เคร่งจะได้รู้จักสำรวมรักษามรรยาทสมเป็นสมณะ ฝ่ายผู้เคร่งครัดเกินไปจะได้หายงมงายไม่สำคัญตนว่าดีกว่าผู้อื่น ตั้งรังเกียจผู้อื่นเพราะเหตุเล็กน้อยเพียงสักว่าธรรมเนียมหรือแม้ชักนำผู้อื่นในปฏิบัติอันดี ต่างจะได้อานิสงส์คือไม่มีวิปฏิสารทรงมุ่งหมายเพื่อจะแต่งแก้หนังสือบุพพสิกขาวัณณนาของพระอมราภิรักขิต (อมร เกิด) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส; จัดพิมพ์เป็น ๓ เล่ม ใช้เป็นแบบเรียนนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก ตามลำดับ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย