พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด มหาวงส์ - มหาวิกัฏ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


มหาวงส์ - มหาวิกัฏ

มหาวงส์ ชื่อหนังสือพงศาวดารลังกาเรื่องใหญ่ แต่งขึ้นในสมัยอรรถกถาพรรณนาความเป็นมาของพระพุทธศาสนาและชาติลังกา ตั้งแต่เริ่มตั้งวงศ์กษัตริย์สิงหล ในตอนพุทธปรินิพพาน จนถึงประมาณ พ.ศ. ๙๐๔ ประวัติต่อจากนั้นมีคัมภีร์ชื่อ จูฬวงส์พรรณนาต่อไป

มหาวรรค ชื่อคัมภีร์อันเป็นหมวดที่ ๓ ใน ๕ หมวด แห่งพระวินัยปิฎก คือ อาทิกัมม์ ปาจิตตีย์ มหาวรรค จุลวรรค บริวาร, มหาวรรค มี ๑๐ ขันธกะ (หมวด ตอน หรือ บท) คือ ๑. มหาขันธกะ (ว่าด้วยการบรรพชาอุปสมบทเริ่มแต่เหตุการณ์หลังตรัสรู้ใหม่ ๆ และการประดิษฐานพระศาสนา) ๒. อุโปสถขันธกะ (ว่าด้วยอุโบสถและสีมา) ๓. วัสสูปนายิกขันธกะ (ว่าด้วยการเข้าพรรษา) ๔. ปวารณาขันธกะ (ว่าด้วยปวารณา) ๕. จัมมขันธกะ (ว่าด้วยเครื่องหนัง เช่น รองเท้าและเครื่องลาด) ๖. เภสัชชขันธกะ (ว่าด้วยเรื่องยาตลอดจนเรื่องกัปปิยะ อกัปปิยะ และกาลิกทั้ง ๔) ๗.กฐินขันธกะ (ว่าด้วยกฐิน) ๘. จีวรขันธกะ (ว่าด้วยเรื่องจีวร) ๙. จัมเปยยขันธกะ (ว่าด้วยข้อควรทราบบางอย่างเกี่ยวกับนิคหกรรมต่าง ๆ) ๑๐. โกสัมพิกขันธกะ (ว่าด้วยเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพีวิวาทกันและสังฆสามัคคี)
ดู ไตรปิฎก

มหาวัน 1. ป่าใหญ่ใกล้นครกบิลพัสดุ์ที่พระพุทธเจ้าเคยไปทรงพักผ่อนระหว่างประทับอยู่ที่นิโครธาราม
2. ป่าใหญ่ใกล้เมืองเวสาลี ณ ที่นี้พระศาสดาทรงอนุญาตให้มีภิกษุณีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยประทานอนุญาตให้พระมหาปชาบดีบวชเป็นภิกษุณี ด้วยวิธีรับครุธรรม ๘ ประการ

มหาวิกัฏ ยา ๔ อย่าง คือ มูตร คูถ เถ้า ดิน ภิกษุอาพาธฉันได้โดยไม่ต้องรับประเคน คือไม่ต้องอาบัติเพราะขาดประเคน




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย