พจนานุกรมพุทธศาสน์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา

หมวด กัณหปักข์ - กัปปิยภัณฑ์


กัณหปักข์ - กัปปิยภัณฑ์

กัณหปักข์ 1. ข้างแรม 2. ฝ่ายดำ คือ ฝ่ายตรงกันข้ามกันอีกฝ่ายหนึ่ง เขียนกัณหปักษ์ ก็มี

กัตติกมาส เดือน ๑๒

กัตติกา 1. ดาวลูกไก่ 2. เดือน ๑๒ ตามจันทรคติ ตกในราวปลายเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน

กัตตุกัมยตาฉันทะ ความพอใจคือความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ, ความต้องการที่จะทำ ได้แก่ ฉันทะที่เป็นกลางๆ ดีก็ได้ ชั่วก็ได้ ต่างจากกามฉันทะที่เป็นแต่ฝ่ายชั่ว

กันดาร อัตคัด, ฝืดเคือง, หายาก, ลำบาก, แห้งแล้ง, ทางที่ผ่านไปยาก

กัป, กัลป์ กาลกำหนด, ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน ที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาฬ ประลัยครั้งหนึ่ง (ศาสนาฮินดูว่าเป็นวันหนึ่งคืนหนึ่งของพระพรหม) ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น; กำหนดอายุของโลก; กำหนดอายุเรียกเต็มว่า อายุกัปเช่นว่า อายุกัปของคนยุคนี้ประมาณ ๑๐๐ ปี

กัปปมาณพ ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คนของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์

กัปปาสิกะ ผ้าทำด้วยฝ้าย คือผ้าสามัญ

กัปปิยะ สมควร, ควรแก่สมณะบริโภค, ของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภคใช้สอย คือพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ภิกษุใช้หรือฉันได้ เช่น ข้าวสุก จีวร ร่ม ยาแดง เป็นกัปปิยะ แต่สุรา เสื้อ กางเกง หมวก น้ำอบ ไม่เป็นกัปปิยะ สิ่งที่ไม่เป็น กัปปิยะ เรียกว่า อกัปปิยะ

กัปปิยการก ผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ, ผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ลูกศิษย์พระ

กัปปิยกุฎี เรือนเก็บของที่เป็นกัปปิยะ ดู กัปปิยภูมิ

กัปปิยบริขาร เครื่องใช้สอยที่สมควรแก่สมณะ, ของใช้ที่สมควรแก่ภิกษุ

กัปปิยภัณฑ์ ของใช้ที่สมควรแก่ภิกษุ, สิ่งของที่สมควรแก่สมณะ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย