พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ธรรมกถา - ธรรมขันธ์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ธรรมกถา - ธรรมขันธ์

ธรรมกถา การกล่าวธรรม, คำกล่าวธรรม, ถ้อยคำที่กล่าวถึงธรรม, คำบรรยายหรืออธิบายธรรม

ธรรมกถึก ผู้กล่าวสอนธรรม, ผู้แสดงธรรม, นักเทศก์

ธรรมกามะ ผู้ใคร่ธรรม, ผู้ชอบตริตรองสอดส่องธรรม

ธรรมกาย “ผู้มีธรรมเป็นกาย” เป็นพระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า (ตามความในอัคคัญญสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) หมายความว่าพระองค์ทรงคิดพุทธพจน์คำสอนด้วยพระหทัยแล้วทรงนำออกเผยแพร่ด้วยพระวาจาเป็นเหตุให้พระองค์ก็คือพระธรรม เพราะทรงเป็นแหล่งที่ประมวลหรือที่ประชุมอยู่แห่งพระธรรมอันปรากฏเปิดเผยออกมาแก่ชาวโลก; อนึ่ง ธรรมกายคือกองธรรมหรือชุมนุมแห่งธรรมนั้น ย่อมเจริญงอกงามเติบขยายขึ้นได้โดยลำดับจนไพบูลย์ ในบุคคลผู้เมื่อได้สดับคำสอนของพระองค์ แล้วฝึกอบรมตนด้วยไตรสิกขาเจริญมรรคาให้บรรลุภูมิแห่งอริยชน ดังตัว อย่างดำรัสของพระมหาปชาบดีโคตมี เมื่อครั้งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อปรินิพพานตามความในคัมภีร์อปทานตอนหนึ่งว่า “ข้าแต่พระสุคตเจ้า หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์, ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ก็เป็นพระบิดาของหม่อมฉัน.รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้ทำให้เจริญเติบโต ส่วนธรรมกายอันเป็นที่เอิบสุขของหม่อมฉันก็เป็นสิ่งอันพระองค์ได้ทำให้เจริญเติบโต: สรุปตามนัยอรรถกถาธรรมกายก็คือ โลกุตตรธรรม ๙ หรืออริยสัจ

ธรรมของฆราวาส ๔ ดู ฆราวาสธรรม

ธรรมขันธ์ กองธรรม, หมวดธรรม, ประมวลธรรมเข้าเป็นหมวดใหญ่มี ๕ คือ สีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์; กำหนดหมวดธรรมในพระไตรปิฎกว่ามี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็นวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ สุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ และอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย