พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ปิปาสวินโย - ปีติ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ปิปาสวินโย - ปีติ

ปิปาสวินโย
ความนำออกไปเสียซึ่งความกระหาย, กำจัดความกระหาย คือ ตัณหาได้ (เป็นไวพจน์ของวิราคะ)

ปิยรูป สาตรูป สภาวะที่น่ารักน่าชื่นใจมุ่งเอาส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหามี ๑๐ หมวดๆ ละ ๖ อย่าง คือ อายตนะภายใน ๖ อายตนะ ภายนอก ๖ วิญญาณ ๖ สัมผัส ๖ เวทนา ๖ สัญญา ๖ สัญเจตนา ๖ มีรูปสัญเจตนา เป็นต้น ตัณหา ๖ มีรูปตัณหา เป็นต้น วิตก ๖ มีรูปวิตกเป็นต้น วิจาร ๖ มีรูปวิจาร เป็นต้น

ปิยวาจา วาจาเป็นที่รัก, พูดจากน่ารักน่านิยมนับถือ, วาจาน่ารัก, วาจาที่กล่าวด้วยจิตเมตตา, คำที่พูดด้วยความรักความปรารถนาดี เช่น คำพูดสุภาพอ่อนโยน คำแนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี ดู สังคหวัตถุ

ปิยารมณ์ อารมณ์อันเป็นที่รัก เป็นที่น่าปรารถนา น่าชอบใจ เช่น รูปที่สวยงาม เป็นต้น

ปิลินทวัจฉะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งเกิดในตระกูลพรามหมณ์วัจฉโคตร ในเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า มีศรัทธาเลื่อมใสออกบวชในพระพุทธศาสนา เจริญวิปัสสนาแล้วได้บรรลุอรหัตตผล ต่อมาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นที่รักของพวกเทวดา

ปิลินทวัจฉคาม ชื่อหมู่บ้านของคนงานวัดจำนวน ๕๐๐ ที่พระเจ้าพิมพิสาร พระราชทานให้เป็นผู้ช่วยทำที่อยู่ของพระปิลินทวัจฉะ

ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด, เว้นจากพูดยุยงให้เขาแตกร้าวกัน (ข้อ ๕ ในกุศลกรรมบถ ๑๐)

ปิสุณาวาจา วาจาส่อเสียด, พูดส่อเสียด, พูดยุยงให้เขาแตกร้าวกัน (ข้อ ๕ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)

ปิหกะ ไต

ปีติ ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำในใจ มี ๕ คือ ๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล ๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะรู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ ๓. โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอกรู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง ๔. อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟูตัวเบาหรืออุทานออกมา ๕. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์เป็นของประกอบกับสมาธิ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย