พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด จริมกจิต - จักกวัตติสูตร

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


จริมกจิต - จักกวัตติสูตร

จริมกจิต จิตดวงสุดท้าย ซึ่งจะดับไปเมื่อพระอรหันต์ปรินิพพานด้วย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

จริยธรรม  “ธรรมคือความประพฤติ”, “ธรรมคือการดำเนินชีวิต”, หลักความประพฤติ, หลักการดำเนินชีวิต, คำ “จริย
ธรรม” นี้ นักปราชญ์ในประเทศไทยได้บัญญัติให้ใช้สำหรับคำภาษาอังกฤษว่า ethics หมายถึง ธรรมที่เป็นข้อประ-
พฤติปฏิบัติ ศีลธรรม หรือกฎศีลธรรม; จริยะ หรือ จริยธรรมอันประเสริฐ เรียกว่า พรหมจริยะ (พรหมจริยธรรม หรือ
พรหมจรรย์) แปลว่า ความประพฤติอันประเสริฐหรือการดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ หมายถึง มรรคมีองค์ ๘ หรือ ศีล
สมาธิ ปัญญา
เทียบ ศีลธรรม

จักกวัตติสูตร ชื่อสูตรที่ ๓ แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ พึ่ง
ตน คือ พึ่งธรรม ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งจะทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินอยู่ในแดนของตนเองที่สืบมาแต่บิดา
จะมีแต่ความดีงามเจริญขึ้นไม่เปิดช่องให้แก่มาร เช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงประพฤติตามหลักจักรวรรดิวัตร
อันสืบกันมาแต่บรรพชนของพระองค์ ย่อมทำให้จักรรัตนะบังเกิดขึ้นมาเอง, จักรวรรดิวัตรนั้นมี ๔ ข้อใหญ่ ใจความ
ว่า ๑. พระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมาธิปไตย และจัดการคุ้มครองป้องกันโดยชอบธรรมแก่ชนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน
ตลอดไปถึงสัตว์ที่ควรสงวนพันธุ์ทั้งหลาย ๒. มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในแผ่นดิน ๓. ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ผู้ไร้
ทรัพย์ ๔. ปรึกษาสอบถามการดีชั่ว ข้อควรและไม่ควรประพฤติ กะสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ อยู่เสมอ ;
จักรวรรดิวัตร ๔ ข้อนี้ บางทีจัดเป็น ๕ โดยแยกข้อ ๑. เป็น ๒ ข้อ คือ เป็นธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่อย่างหนึ่ง
กับจัดการคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรม อย่างหนึ่ง, นอกจากนั้นสมัยต่อมา อรรถกถาจัดแบ่งซอยออกไป และเพิ่มเข้า
มาอีก รวมเป็น ๑๒ ข้อเรียกว่า จักรวรรดิวัตร ๑๒; พระสูตรนี้ถือว่าเป็นคำสอนแสดงหลักวิวัฒนาการของสังคมตาม
แนวจริยธรรม กล่าวถึงหลักการปกครอง และหลักความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับจริยธรรม; เรื่องพระศรีอารย
เมตไตรย ก็มีต้นเค้ามาจากพระสูตรนี้




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย