พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อุบาลี - อุเบกขา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อุบาลี - อุเบกขา

อุบาลี พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นกัลบกของเจ้าศากยะ ได้ออกบวชที่อนุปิยอัมพวัน พร้อมกับพระอานนท์และพระอนุรุทธะ เป็นต้น มีอุปัชฌาย์ชื่อพระกัปปิตก ครั้นบวชแล้ว เรียนกรรมฐานจะไปอยู่ป่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ท่านเล่าเรียนและเจริญวิปัสสนาไม่ช้าก็สำเร็จพระอรหัตเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจเชี่ยวชาญในพระวินัยมาก
จนพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้ทรงพระวินัย (วินัยธร) พระอุบาลี เป็นกำลังสำคัญ ในคราวทำปฐมสังคายนา คือ เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย

อุบาสก ชายผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย, คนใกล้ชิดพระศาสนา, คฤหัสถ์ผู้ชายที่แสดงตนเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนาโดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
ปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๒ ได้แก่ตปุสสะและภัลลิกะ ปฐมอุบาสกผู้ถึงไตรสรณะ คือบิดาของพระยสะ

อุบาสกธรรม ดู สมบัติของอุบาสก

อุบาสิกา หญิงผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย, คนใกล้ชิดพระศาสนาที่เป็นหญิง, คฤหัสถ์ผู้หญิงที่แสดงตนเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนา โดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะปฐมอุบาสิกา ได้แก่ มารดา (นางสุชาดา) และภรรยาเก่าของพระยสะ

อุเบกขา
1.
ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้น ๆ สิ่งนั้น ๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่รู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง (ข้อ ๔ ในพรหมวิหาร ๔, ข้อ ๗ ในโพชฌงค์ ๗, ข้อ ๑๐ ในบารมี ๑๐, ข้อ ๙ ในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐)

2. ความรู้สึกเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่าอุเบกขาเวทนา (= อทุกขมสุข)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย