พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อคติ - องคุลิมาล

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อคติ - องคุลิมาล

อคติ ฐานะอันไม่พึงถึง, ทางความประพฤติที่ผิด, ความลำเอียง มี ๔ คือ ๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก ๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง ๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา ๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว

อโคจร บุคคลและสถานที่อันภิกษุไม่ควรไปมาหาสู่ มี ๖ คือ หญิงแพศยา หญิงหม้าย สาวเทื้อ ภิกษุณี บัณเฑาะก์ (กะเทย) และร้านสุรา

องค์ 1. ส่วน, ภาค, ตัว, อวัยวะ, ลักษณะ, คุณสมบัติ, ส่วนประกอบ 2. ลักษณะนามใช้เรียกภิกษุสามเณรนักบวชอื่นบางพวก และสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๒ องค์ พระเจดีย์ ๔ องค์, สำหรับภิกษุ สามเณร ในภาษาเขียนท่านให้ใช้

องค์ฌาน (บาลี ว่า ฌานงฺค) องค์ประกอบของฌาน, องค์ธรรมทั้งหลายที่ประกอบกันเข้าเป็นฌานขั้นหนึ่งๆ เช่น ปีติ สุข เอกัคคตา รวมกันเรียกว่า ฌานที่ ๒ หรือทุติยฌาน; องค์ฌานทั้งหมดในฌานต่างๆ นับแยกเป็นหน่วย ๆ ไม่ซ้ำกัน มีทั้งหมด ๖ อย่างคือ วิตก ความตรึก วิจาร ความตรอง ปีติ ความอิ่มใจ สุข ความสุข อุเบกขา ความมีจิตเรียบสมดุลเป็นกลาง และ เอกัคคตา ความมีอารมณ์หนึ่งเดียว ดู ฌาน

องค์มรรค (บาลีว่า มคฺคงฺค) องค์ประกอบของมรรค, องค์ธรรม ๘ อย่าง มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ที่ประกอบกันเข้าเป็นมรรค หรือที่เรียกชื่อเต็มว่า อริย อัฏฐังคิกมรรค ดู มรรค 1

องค์แห่งธรรมกถึก ๕ คือ
๑. แสดงธรรมไปตามลำดับไม่ตัดลัดให้สับสนหรือขาดความ
๒. ชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจ
๓. สอนเขาด้วยเมตตา ตั้งจิตปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ
๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือ ไม่ยกตน ไม่เสียดสีข่มขี่ผู้อื่น

องค์แห่งภิกษุใหม่ ๕ คือ ๑. ปาฏิโมกขสังวร สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๒. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ๓. ภัสสปริยันตะ พูดคุยมีขอบเขต ไม่เอิกเกริกเฮฮา ๔. กายวูปกาสะ อยู่ในเสนาสนะอันสงัด ๕. สัมมาทัสสนะ ตั้งตนไว้ในความเห็นชอบ

องคุลิมาล พระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เคยเป็นมหาโจรโด่งดังเป็นบุตรของภัคควพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณี เดิมชื่ออหิงสกะ (แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน) ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา มีความรู้และความประพฤติดี เพื่อศิษย์ด้วยกัน ริษยา ยุอาจารย์ให้กำจัดเสีย อาจารย์ลวงด้วยอุบายให้ไปฆ่าคนครบหนึ่งพัน แล้วจะมอบวิชาวิเศษอย่างหนึ่งให้ จึงกลายไปเป็นมหาโจรผู้โหดร้ายทารุณตัดนิ้วมือคนที่ตนฆ่าตายแล้ว ร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่อว่า องคุลิมาล (แปลว่ามีนิ้วเป็นมาลัย) ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดกลับใจได้ ขอบวช ต่อมาก็ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านเป็นต้นแห่งพุทธบัญญัติไม่ให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย