วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร (วัดประจำรัชกาลที่ ๔) กรุงเทพมหานคร





วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร (วัดประจำรัชกาลที่ ๔) กรุงเทพมหานคร พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ : ธรรมยุติกนิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2407
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2408


วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร เป็นอารามหลวงชั้นเอกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ ตามโบราณราชประเพณีและทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระกษัตริย์ทุกพระองค์สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ นับได้ว่า วัดราชประดิษฐฯเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญยิ่งพระอารามหนึ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์

พระราชประสงค์อีกประการหนึ่งในการสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯขึ้น ก็เพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ เนื่องจากครั้งยังทรงผนวชอยู่ ทรงเป็นหัวหน้านำพระสงฆ์ชำระข้อปฏิบัติ ก่อตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้น พระอารามนี้จึงนับเป็นพระอารามแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุติ เพราะวัดธรรมยุติก่อนๆนั้น ได้ดัดแปลงมาจากวัดมหานิกายเดิมทั้งนั้น วัดประดิษฐ์ฯ จึงเป็นเสมือนวัดต้นแบบของคณะธรรมยุติกนิกายที่มีอยู่ในพุทธอาณาจักรบนแผ่นดินไทยนับแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา

อาณาเขตวัด

วัดราชประดิษฐฯ ตั้งอยู่ท่ามกลางใจเมืองของกรุงเทพมหานคร ใกล้กับพระบรมมหานครราชวัง ตามที่ปรากฏในทะเบียนบ้าน อยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานคร เขต ๒ บ้านเลขที่ ๒ (วัดราชประดิษฐฯ) ตำบลพระบรมมหาราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยมีอาณาเขตดังต่อไปนี้ .-

ทิศเหนือ : ติดต่อกับถนนสราญรมย์และกรมแผนที่ทหารบก
ทิศใต้ : ติดต่อกับพระราชอุทยานสราญรมย์
ทิศตะวันออก : ติดต่อกับถนนราชินีและคลองหลอด
ทิศตะวันตก : ติดต่อกับทำเนียบองค์มนตรี


ปูชนียวัตถุ-ปูชนียสถาน ของวัดราชประดิษฐ

วัดราชประดิษฐ ถึงแม้จะเป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดเล็ก ซึ่งมีเนื้อที่ตั้งวัดอยู่เพียง ๒ ไร่ ๒ งาน กับ ๙๘ ตารางวาเท่านั้น แต่ภายในบริเวณวัดได้บรรจุเอาความสวยงามวิจิตรตระการตา เป็นสง่าภาคภูมิไม่น้อยไปกว่าพระอารามหลวงอื่นๆ ที่มีบริเวณพระอารามใหญ่กว่าเลย ดังจะเห็นว่า เมื่อก้าวพ้นประตูวัดทางด้านทิศเหนือซึ่งมีบานประตูเป็นไม้สักสลักเป็นรูป “เสี้ยวกาง” กำลังรำง้าวอยู่บนหลังสิงห์โต จะเห็น “พระวิหารหลวง” ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นไพที ทรวดทรงทั่วไปสวยงามมาก มีมุขหน้าและหลัง ทั้งหลังประดับด้วยหินอ่อนตลอด หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีส้มอ่อนๆ มีช่อฟ้าใบระกาประดับเสริมด้วยพระวิหารให้เด่นประดุจตั้งตระหง่านอยู่บนฟากฟ้านภาลัย หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นรูปมหาพิชัยมงกุฎบนพระแสงขรรค์ ซึ่งมีพานแว่นฟ้ารองรับมหาพิชัยมงกุฎและพระขรรค์นั้น พานแว่นฟ้าประดิษฐานอยู่บนหลังช้าง ๖ เชือก ทั้งสองข้างประดับด้วยฉัตรห้าชั้น พื้นของหน้าบันเป็นลายกนกลงรักปิดทองทั้งหมด ตังหน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นลวดลายดังกล่าวนั้น นับว่าเป็นหน้าบันที่วิจิตรพิสดาร เป็นยอดของสถาปัตยกรรมอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซุ้มประตูหน้าต่างประดับรูปลายปูนปั้น ลงรักปิดทองติดกระจกสีเป็นรูปมงกุฎทุกบาน ตัวบานประตูหน้าต่างสลักด้วยไม้สักเป็นลายก้านแย่ง ซ้อนกันสองชั้นลงรักปิดทองติดกระจกสี ทำให้ดูงดงามยิ่งขึ้น

ด้านหลังพระวิหาร มีซุ้มซึ่งแกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งแผ่น ภายในซุ้มเป็นที่ประดิษฐานศิลาจารึก ประกาศในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ ฉบับ ฉบับแรกเป็นประกาศสร้างวัดถวายพระสงฆ์ธรรมยุกติกนิกาย ลง พ.ศ. ๒๔๐๗ ฉบับหลังเป็นประกาศงานพระราชพิธีผูกพัทธสีมา ลง พ.ศ. ๒๔๐๘ ข้อความในศิลาจารึกทั้ง ๒ ฉบับ นั้นนับว่ามีความสำคัญซึ่งเป็นมหามรดกล้ำค่า ที่เป็นมหาสมบัติของคณะธรรมยุติกายที่ได้รับพระราชตกทอดมาจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔


- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธสิหังคปฏิมากร •


เสาผนังกรุหินอ่อนในพระวิหาร (พระอุโบสถ) และปาสาณเจดีย์ (เบื้องหลัง) อันเป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม




11,438







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย