วัดหน้าพระเมรุราชิการาม พระนครศรีอยุธยา





วัดหน้าพระเมรุราชิการาม พระนครศรีอยุธยา พระอารามหลวง ชั้นตรี สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2046
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2046


วัดหน้าพระเมรุราชิการาม ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวตรงข้ามพระราชวังโบราณเป็นอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตามตำนานกล่าวว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2047 พระราชทานนามว่า "วัดพระเมรุราชิการาม" ต่อมาเรียกกันภายหลังว่า "วัดหน้าพระเมรุ" สันนิษฐานว่า สร้างตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชาพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง และคงได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา วัดนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาหลายสมัย ตั้งแต่สมัยสมเด็จเพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาไชยวิชิตผู้รักษาราชการพระนครศรีอยุธยา ใน พ.ศ.2378 และในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งถึงในปัจจุบัน

วัดหน้าพระเมรุเป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าทำลาย และยังคงสภาพที่ดีมาก บ้างสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะพม่าได้ไปตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดนี้กับวัดหัสดาวาส (ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้างและยังเหลือสิ่งก่อสร้างที่ไม่ถูกทำลายอยู่บ้าง) พระอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุเป็นแบบอยุธยาซึ่งมีเสาอยู่ภายใน แต่น่าจะมาเพิ่มเสารับชายคาที่หลังในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระประธานในอุโบสถซึ่งสร้างปลายสมัยอยุธยา หรือได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในช่วงนั้น เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสำริดขนาดใหญ่ ด้านหลังพระอุโบสถยังมีอีกองค์หนึ่งแต่เล็กกว่า คือ พระศรีอริยเมตไตรย์

ภายในวัดประกอบด้วยพระอุโบสถขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด ลักษณะเป็นอาคารที่สร้างขึ้นราวสมัยอยุธยาตอนกลาง ภายในประดิษฐานพระประธานซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ มีพุทธลักษณะงดงามมาก มีพระ นามว่า "พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ" ซึ่ง สันนิษฐานว่าได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากมีพุทธลักษณะคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปปูนปั้น ที่ประดิษฐานอยู่ภายในเมรุทิศเมรุมุมของระเบียงคดวัดไชยวัฒนาราม ที่สร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์

ความพิเศษ : โบราณสถาน
เวลาทำการ : ทุกวัน 08.30-16.30 น.
จุดสนใจ : พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ,พระคันธารราฐ

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• หลวงพ่อพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ •



พระอุโบสถ ซึ่งอาจจะได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หน้าบันของพระอุโบสถเป็นไม้แกะสลักปิดทองที่แสดงรูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาคประทับราหูแวดล้อมด้วยเหล่าเทวดา (ด้านหน้าพระอุโบสถมีเทวดาแวดล้อม 26 องค์ ด้านหลังพระอุโบสถมีเทวดาแวดล้อม 22 องค์ รวมเทวดา 48 องค์) คติดังกล่าวเป็นที่นิยมในสมัยโบราณที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพ คือเป็นพระนารายณ์อวตาร ดังนั้น หน้าบันของโบสถ์ วิหาร หรือปราสาทราชวังที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างหรือทรงบูรณะก็มักจะทำรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเป็นสำคัญ อันมีความหมายว่าวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง ตัวพระอุโบสถไม่มีหน้าต่าง แต่ทำเป็นช่องลูกกรงให้แสงแดดและลมผ่านเข้าไปภายใน ลูกกรงดังกล่าวยังทำเป็นดอกเหลี่ยมหรือที่เรียกว่าผนังลูกกรงมะหวดเหลี่ยม (แบบเดียวกับผนังวิหารหลวง วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น)



ภายในพระอุโบสถ พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถซึ่งทรงเครื่องใหญ่ก็สร้างในคติของพระพุทธเจ้าปางโปรดพญามหาชมพู ตามความในมหาชมพูบดีสูตร ซึ่งเป็นรูปแบบของพระพุทธรูปที่นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนกลางต่อลงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพุทธรูปองค์นี้อาจเปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปทรงเครื่องภายในเมรุทิศเมรุรายของวัดไชยวัฒนาราม ที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าปราททองได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ จึงอนุมานได้ว่าพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุก็คงจะสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้นด้วยเช่นกัน หรือไม่ก็คงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในคราวนั้น ภายหลังรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พระราชทานนามว่า พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ (นิยมเรียกย่อว่า พระพุทธนิมิต)



ทางทิศตะวันออกของพระอุโบสถมีวิหารน้อยที่สร้างขึ้นโดยพระยาชัยวิชิต (เผือก) ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีรูปแบบลอกเลียนมาจากพระอุโบสถ แต่ลดขนาดให้เล็กลงกับทั้งเปลี่ยนหน้าบันให้เป็นลายพรรณษาตามความนิยมของศิลปะในช่วงนั้น ด้านในวิหารน้อยยังมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องการค้าสำเภาและพุทธชาดกต่าง ๆ และภายในประดิษฐาน พระคันธารราฐ พระพุทธรูปสมัยทวารวดีขนาดใหญ่ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุ อยุธยา เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมคงประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดนครปฐมมาก่อน และได้ย้ายมายังวัดมหาธาตุ อยุธยา ราวรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เป็นได้ พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลาเขียวประทับนั่งห้อยพระบาทที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ไม่กี่องค์ในเมืองไทยเวลานี้ ความเก่าแก่นั้นกล่าวได้ว่าเก่าแก่ก่อนสมัยสุโขทัย ไล่เลี่ยกับยุคสมัยของโบโรบูดูร์ หรือบรมพุทโธ บนเกาะชวาในอินโดนีเซียเมื่อกว่า 1,000 ปีมาแล้ว นับเป็น 1 ใน 6 พระพุทธรูปที่สร้างจากศิลาที่มีอยู่ในโลก เป็น 1 ใน 5 องค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงนับเป็นสิ่งที่มีค่ามาก



เจดีย์ราย 3 องค์ ที่มีรากไทรแผ่เข้าครอบคลุม ที่อยู่ด้านหลังพระอุโบสถของวัดหน้าพระเมรุ ได้ปรากฏในภาพวาดกรุงศรีอยุธยาในหนังสือของ อ็องรี มูโอ นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5



พระพุทธลีลา อายุกว่า ๘๐๐ ปี สมัยลพบุรี



หลวงพ่อขาว




11,204







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย