วัดมเหยงคณ์
เดิมเป็นพระอารามหลวง และกลายเป็นวัดร้างไปภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ
พ.ศ. ๒๓๑๐ วัดนี้ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ ๕ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่นอกเขตเมืองมาทางทิศตะวันออก ถ้าเดินมาจากถนนสายเอเชีย
แยกเข้าสู่ถนนโรจนะเพื่อมุ่งเข้าเกาะเมือง พอมาถึงเจดีย์วัดสามปลื้มเลี้ยวขวาอ้อมวงเวียนมาตามถนนระยะทางประมาณ
๑.๕ กิโลเมตร ก็จะถึงทางเข้าวัดมเหยงคณ์ ท่านจะมองเห็นผนังอุโบสถก่อด้วยอิฐสีแดงตระหง่านแต่ไกล
ประวัติความเป็นมาของวัด มเหยงคณ์น่าสนใจ เพราะเป็นเครื่องชี้ถึงความเจริญด้านจิตใจ
ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อสร้าง ทะนุบำรุงพระอารามแห่งนี้สืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
ปัจจุบันนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนใดมเหยงคณ์เป็นโบราณวัตถุ
โบราณสถานของชาติ ตั้งแต่วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔
ใครสร้างวัดมเหยงคณ์
พงศาวดารเหนือได้จดไว้ว่า พระเจ้าธรรมราชา
กษัตริย์องค์ที่ ๘ ของอโยธยา มีมเหสี ชื่อ พระนางกัลยาณี และพระนางเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์
พระเจ้าธรรมราชา (พ.ศ. ๑๘๔๔ - ๑๘๕๓)
เป็นพระราชบุตรเขยองค์แรกของพระเจ้าสุวรรณราชา พระองค์ทรงสร้างวัดกุฏีดาว
ส่วนพระนางกัลยาณี พระอัครมเหสีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์
ถ้าเชื่อพงศาวดารเหนือ ก็แสดงว่าวัดมเหยงคณ์สร้างในสมัยอยุธยา
ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อย ๔๐ ปี
น. ณ ปากน้ำ นักโบราณคดีได้เขียนเล่าไว้ตอนเดินทางมาสำรวจวัดเก่าแก่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า
"ได้ตรวจสอบวัดมเหยงคณ์กับวัดกุฎีดาว
พบว่าโครงสร้างชั้นในพระเจดีย์ระบบการก่ออิฐแบบอิงลิชบอนด์ แสดงว่า
เป็นวัดที่สร้างขึ้นพร้อมกันก่อนสมัยอยุธยา "
ทำไมจึงชื่อว่า มเหยงคณ์
ถ้าจะดูตามแนวภาษาศาสตร์ความหมายของชื่อ
มเหยงคณ์ มาจากศัพท์บาลีว่า มหิยังคณ์ แปลว่า ภูเขา หรือ เนินดิน
พิจารณาภูมิประเทศของวัดมเหยงคณ์ก็เห็นว่าเข้าเค้า เพราะวัดมเหยงตณ์
โดยเฉพาะส่วนพุทธาวาสตั้งอยู่บนเนินสูง
นอกจากนั้น ชื่อ มเหยงคณ์ ยังเป็นชื่อสถานที่และพระธาตุสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ
ศรีลังกา เรียกว่า มหิยังคณ์เจดีย์ ด้วย
ประเด็นที่สาม เจดีย์ประธานของวัดมเหยงคณ์
ก็สร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆังมีช้างล้อมรอบองค์เจดีย์ ๘๐ เชือก เจดีย์แบบนี้น่าจะได้มาจากเจดีย์ชัยของพระเจ้าทุษฐาคามินีมหาราชในลังกาทวีป
ช้างที่ล้อมรอบเจดีย์ คงเนื่องมาจากช้างฤณฑลราชพาหนะของพระเจ้าทุษฐาคามินีมหาราช
ผู้ที่ชนะสงคราม และได้บำรุงศาสนาพุทธให้เจริญรุ่งเรืองในลังกา
ปัจจุบัน ในประเทศไทย มีชื่อวัด
มเหยงคณ์ รวม ๔ วัด ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาคือ ตำบลหันตรา ๑ ,
อำเภอนครหลวง ๑ , ที่จังหวัดสุพรรณบุรีอีก ๑ แห่ง, และจังหวัดนครศรีธรรมราชอีก
๑ ล้วนแต่เป็นวัดสำคัญทั้ง ๔ แห่ง
|