"ความสงบของปัญญา" (หลวงปู่ชา สุภัทโท)

 วิริยะ12  

.
 "ความสงบของปัญญา"

" .. "สงบเรื่องสมาธินี่หลง" หลงมาก ๆ เลย สงบเรื่องสมาธินี่คือปราศจากอารมณ์ "มันจึงสงบ ไม่มีอารมณ์มันก็สงบ ก็ติดสุขล่ะทีนี้" แต่เมื่อถูกอารมณ์ก็งอเลย "กลัว กลัวอารมณ์ กลัวสุข กลัวทุกข์ กลัวนินทา กลัวสรรเสริญ กลัวรูป กลัวเสียง กลัวกลิ่น กลัวรส สมาธินี่กลัวหมด" ถึงได้ไม่อยากออกมากับเขา

"ถ้าคนที่มีสมาธิแบบนี้ อยู่แต่ในถ้ำนั่น เสวยสุขอยู่ไม่อยากออกมา" ที่ไหนมันสงบก็ไปซุกไปซ่อนอยู่อย่างนั้น "ทุกข์มากนะสมาธิแบบนี้" ออกมาอยู่กับผู้อื่นเขาไม่ได้ มาดูรูปไม่ได้ ได้ยินเสียงไม่ได้ มารับอะไรไม่ได้ ต้องไปอยู่เงียบ ๆ อย่างนั้น ไม่ต้องให้ใครเขาไปพูดไปจา สถานที่ต้องสงบ "สงบอย่างนี้ใช้ไม่ได้" สงบขั้นนั้นแล้วให้เลิก ถอนออกมา

พระพุทธเจ้าท่าน ไม่ได้บอกให้ทำอย่างนั้น "ถ้าทำอย่างนั้นแล้วให้เลิก" ถ้ามันสงบแล้ว เอามาพิจารณา เอาตัวสงบมาพิจารณา เอามาต่อกับอารมณ์ "เอามาพิจารณา รูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะพวกนี้ ธรรมารมณ์พวกนี้" เอาออกมาเสียก่อน เอาตัวความสงบนั้น มาพิจารณา เป็นต้นว่า "มาพิจารณาเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ" อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ "พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาโลกทั้งสิ้นทั้งปวงนี่เอง" เอามาพิจารณา

"แล้วถึงคราวให้สงบก็นั่งสมาธิให้สงบเข้าไป" แล้วก็มาพิจารณา "ให้มาหัดให้มาฟอก เอามาต่อสู้ มีความรู้แล้วเอามาต่อสู้ เอามาฝึกหัด เอามาทำ" เพราะไปอยู่ในนั้นไม่รู้จักอะไรหรอก นั่น มันไปสงบจิตเฉย ๆ เอามาพิจารณา ข้างนอกก็สงบเข้าไปเรื่อย ๆ ถึงข้างใน จนมันเกิดความสงบอย่างยกใหญ่ของมัน

"ความสงบของปัญญานั้น" เมื่อจิตสงบแล้ว "ไม่กลัวรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและไม่กลัวธรรมารมณ์ ไม่กลัว กระทบมันเดี๋ยวนี้ รู้มันเดี๋ยวนี้ กระทบมันเดี๋ยวนี้ ทิ้งมันเดี๋ยวนี้ กระทบมันเดี๋ยวนี้ วางมันเดี๋ยวนี้" เรื่องสงบของปัญญาเป็นอย่างนี้ .. "

"กว่าจะเป็นสมณะ"
หลวงปู่ชา สุภัทโท
 

5,553







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย