ทิฏฐิ มักจะเป็นตัวกำหนดความคิด การพูด การกระทำ... ความคิด การพูด การกระทำมักจะตอบสนองทิฏฐินั้น



ทิฏฐิ คือ ความคิดเห็น ความเชื่อถือ ค่านิยม หลักการ อุดมการณ์ เมื่อเราพิจารณาว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ อะไรดีอะไรดีที่สุดมักจะขึ้นอยู่กับทิฏฐิเสียเป็นส่วนใหญ่ เวลาที่ต้องตัดสินในเรื่องคุณค่าต่างๆ ทิฏฐิมักจะเป็นตัวกำหนดความคิด การพูด การกระทำ ยกตัวอย่าง ถ้าเราถือว่าการมีเงิน คือ สิ่งสูงสุดของชีวิต เป็นเครื่องหมายของความสำเร็จ ความคิด การพูด การกระทำมักจะตอบสนองทิฏฐินั้น ถ้าเราถือว่าความดีงามเป็นสิ่งสูงสุด ความคิด การพูด การกระทำก็จะตอบสนองทิฏฐินั้น เช่นกัน

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าคนที่เอาเงินเป็นใหญ่ไม่ต้องการความดี หรือคนเอาความดีเป็นใหญ่ไม่ต้องการเงิน แต่อิทธิพลของทิฏฐิจะเห็นชัดในกรณีที่ต้องเลือกระหว่างเงินกับความดี คนบางคนยอมสละความดีเพื่อเงิน และบางคนยอมสละเงินเพื่อความดี

สัมมาทิฏฐิ (ชั้นโลกีย์) คือ ความคิดเห็น ความเชื่อถือ ค่านิยม หลักการ อุดมการณ์ ที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง โดยเฉพาะกฎแห่งกรรม 
สัมมาทิฏฐิ คือ เบื้องต้นของมรรค คือหนทางไปสู่ความดับทุกข์ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า หน้าที่ของพระบวชใหม่ข้อหนึ่ง คือ “การทำทิฏฐิให้ตรง”

พระอาจารย์ชยสาโร

ที่มา : ธรรมะ โดย พระอาจารย์ชยสาโร/ Dhamma by Ajahn Jayasaro

3,106







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย