อานิสงส์การถวายผ้าพระกฐิน



ในอดีตอันเนิ่นนาน ครั้งศาสนาองค์สมเด็จพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า มีบุรุษในเมืองพาราณสี ซึ่งยากจนเข็ญใจมาก ไปเป็นคนงานอาศัยกินอยู่หลับนอน กับมหาเศรษฐี มีนามว่า สิริธรรมเศรษฐี มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ โดยไปทำหน้าที่ดูแลไร่หญ้าสำหรับเป็นอาหารของปศุสัตว์ จึงถูกขนานนามว่า ติณบาล เพราะเป็นผู้ดูแลรักษาหญ้า ติณบาลนั้นมีความเห็นอันชอบว่า อันตัวเรายากจนเข็ญใจ เพราะชาติก่อนไม่ทำบุญทำทาน จึงได้แบ่งอาหารที่เศรษฐี ให้วันละ ๑ หม้อเป็นค่าจ้างในการทำงาน ออกเป็นสองส่วน ครึ่งหนึ่งนำไปตักบาตรกับพระภิกษุสงฆ์ อีกครึ่งหนึ่งนำไปบริโภค ด้วยอานิสงส์ผลบุญทำให้เศรษฐีบังเกิดความสงสารจึงเพิ่มอาหารให้อีกสองส่วน นายติณบาล จึงได้แบ่งอาหารเป็น สามส่วน ส่วนหนึ่งตักบาตรกับพระภิกษุ ส่วนหนึ่งให้ทานแก่คนยากจน ส่วนหนึ่งเก็บไว้บริโภคเอง ซึ่งได้ทำอย่างนี้เป็นเวลาช้านาน
ต่อมาเมื่อถึงคราวออกพรรษา เหล่าพุทธศาสนิกชนได้กระวีกระวาดจัดแจงทำบุญถวายผ้าพระกฐินเป็นการใหญ่ แม้แต่ท่านสิริธรรมเศรษฐีก็จะถวายผ้าพระกฐินด้วยเช่นกัน จึงได้ประกาศให้ชนทั้งหลายได้ทราบ ติณบาล ได้ทราบว่าท่านเศรษฐีจะถวายผ้าพระกฐิน ก็มีใจเลื่อมใสศรัทธาอยากร่วมบุญกุศลนี้ด้วย จึงเข้าไปถามเศรษฐีว่า “ท่านเศรษฐี ถวายผ้าพระกฐินนี้มีอานิสงส์อย่างไรบ้าง” เศรษฐีตอบว่า “อานิสงส์มากมายนัก องค์พระศาสดาทรงสรรเสิญว่าเป็นทานอันประเสริฐ” นายติณบาลจึงใจปลาบปลื้มอย่างมาก จึงถามเศรษฐีว่าจะเริ่มงานเมื่อไหร่ เศรษฐีจึงตอบว่าอีกประมาณ ๗ วัน นายติณบาลจึงคิดว่าตอนนี้เราไม่มีอะไรไปถวายเป็นบริวารกฐินเลย คิดอยู่นานจึงได้เปลื้องผ้านุ่งของตนเองพับอย่างดี แล้วเย็บใบไม้มานุ่งห่มแทน แล้วนำผ้านั้นมาเร่ขายในตลาด ชนทั้งหลายที่เห็นเข้าพากันหัวเราะเยาะเย้ย นายติณบาล เขาได้เร่ขายไปเรื่อยจนมีคนซื้อผ้านุ่งของเขาด้วยเงินเพียง ๕ มาสก (ประมาณ ๑ บาท) นายติณบาลจึงนำเงินนั้นไปมอบให้เศรษฐี เศรษฐีจึงนำเงินเล็กน้อยนี้ไปซื้อด้ายมาได้เพียงม้วนเล็กๆม้วนหนึ่งเอาไว้เย็บผ้าพระกฐิน ในกาลครั้งนั้นเกิดโกลาหลขึ้นในฝูงชนและเทวดาใน ๖ ชั้นฟ้า ฝ่ายพระเจ้ากรุงพาราณสีได้ทราบเหตุแล้ว จึงมีรับสั่งให้นายติณบาลเข้าเฝ้า แต่นายติณบาลไม่ยินดีเข้าเฝ้าเพราะบังเกิดความระอายที่ตนไม่มีผ้านุ่งสวมใส่ พระเจ้ากรุงพาราณสีจึงได้ตรัสถามความเป็นไปของเขาโดยตลอด จากนั้นพระองค์ได้พระราชทานผ้าสาฏกมีมูลค่า แสน กหาปณะให้แก่นายติณบาล และยังได้มอบที่ดิน บ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ ช้างม้าวัวควาย พร้อมทั้งบ่าวไพร่และทาสให้แก่เขา พร้อมทั้งแต่งตั้งให้เป็นติณบาลเศรษฐี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ติณบาลเศรษฐีก็ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขจนหมดอายุขัย ทำกาลกิริยาแล้วไปอุบัติเป็นเทพบุรุษในดาวดึงส์ มีวิมานแก้วสูงได้ ๕ โยชน์ มีนางอัปสรเป็นบาทบริจาริกา ๑๐,๐๐๐ นาง ส่วนสิริธรรมเศรษฐีทำกาลกิริยาแล้วได้ไปอุบัติที่ดาวดึงส์โลกสวรรค์เหมือนกัน นี้เป็นอานิสงส์ของกฐินทาน
พระเดชพระคุณพระราชพรหมญาณ (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง ได้เทศนาเรื่องการถวายผ้าพระกฐินไว้ดังนี้ “ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าในสมัยพระองค์เกิดเป็น"มหาทุคคตะ"ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า"พระปทุมมุตระ"เวลานั้นพระพุทธเจ้าของเราเกิดเป็นคนจนอย่างยิ่งเป็นทาสของคหบดี เวลานั้นถอยหลังจากนี้ไป 92 มหากัป ก็ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า " พระปทุมมุตระ " วันหนึ่ง มหาทุคคตะไปดูงานทอดกฐิน เมื่อเขาทอดกฐินเสร็จ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า บุคคลใดเคยทอดกฐินแล้วในชีวิตหนึ่งในฐานะที่เป็นเจ้าภาพกฐินก็ดีและเป็นบริวารกฐินก็ดี (แต่ว่ากฐินนี้ไม่มีบริวารมีแต่เจ้าภาพเพราะเป็นกฐินสามัคคี) จะทำบุญน้อยจะทำบุญมาก มีอานิสงส์เสมอกันแต่ทว่าปริมาณอาจจะแตกต่างกันและอานิสงส์กฐินนี่เวลานั้นพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า"โภปุริสะ ดูก่อนท่านผู้เจริญบุคคลใด เคยทอดกฐินไว้ในพระพุทธศาสนาแม้ครั้งหนึ่งในชีวิต ถ้าตายจากความเป็นคนยังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใดท่านผู้นั้นจะไปเกิดเป็น เทวดาหรือนางฟ้า 500 ชาติ"นั่นหมายความว่าถ้าหมดอายุ เทวดาหรือนางฟ้าจุติแล้วก็เกิดทันที 500ครั้ง เมื่อบุญหย่อนลงมานิดหน่อย เกิดเป็นเทวดาเกิดเป็นนางฟ้าไม่ได้ลงมาเป็นมนุษย์จะเกิดเป็น พระเจ้าจักรพรรดิปกครองโลก 500 ชาติ แล้วบุญก็หย่อนลงมาก็จะเป็น พระเจ้าจักรพรรดิ 500 ชาติ แล้วบุญก็หย่อนลงมาก็จะเป็น พระมหากษัตริย์ 500 ชาติ หลังจากนั้นจะเป็น มหาเศรษฐี 500 ชาติ คำว่า "มหาเศรษฐี" นี่มีเงินตั้งแต่ 80 โกฏิ ขึ้นไปเขาเรียกว่า "มหาเศรษฐี" ถ้ามีเงินต่ำกว่า 80 โกฏิ แต่ว่าตั้งแต่ 40 โกฏิ ขึ้นไปเขาเรียกว่า "อนุเศรษฐี" เมื่อเป็น มหาเศรษฐี 500 ชาติ แล้วก็เป็น อนุเศรษฐี 500 ชาติ หลังจากเป็น อนุเศรษฐี 500 ชาติ แล้วก็เป็น คหบดี 500 ชาติ ก็รวมความว่าการทอดกฐินครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านบอกว่านอกจากจะ เป็นเทวดาเป็นนางฟ้า เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีแล้ว บุคคลที่ทอดกฐินครั้งหนึ่งในชีวิต จะปรารถนาพระโพธิญาณก็ย่อมได้นั่นก็หมายความว่าจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนาเป็นอัครสาวกก็ได้ จะปรารถนาเป็นมหาสาวกก็ได้ จะปรารถนานิพพานเป็นพระอรหันต์ปกติก็ได้ฉะนั้นการทอดกฐินแต่ละคราวขอบรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดทราบถึงอานิสงส์ คนที่เคยทอดกฐินแล้วแต่ละครั้งรวมความว่า ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด คำว่ายากจนเข็ญใจจะไม่มีแก่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททุกชาติ”
ผู้โพสท์ เห็นว่าเป็นช่วงกฐินกาล จึงได้นำอานิสงส์กฐินมาโพสท์ เพื่อให้ท่านที่เข้ามาอ่าน ที่มีโอกาสไปทอดผ้าพระกฐิน ได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในบุญบารมีที่ได้กระทำ ซึ่งเป็นศรัทธาอันประกอบด้วยปัญญา สุดท้ายนี้ขอให้คุณแห่งพระรัตนตรัย คอยตามปกปักรักษาทุกๆท่านที่ได้เข้ามาอ่านในทุกกาลเทอญ

   

ที่มา : ҡ ˹ѧ ҹʧ ѳ Ѻ . ­

5,198







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย