๔๖.ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท


พระพุทธรูปปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองวางอยู่ที่พระเพลา ( ตัก ) บางแบบประสานพระหัตถ์วางที่พระเพลา พระบาทซ้ายทรงเหยียบหลังพระบาทขวา เป็นกิริยากดพระบาท

ความเป็นมาของปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท

ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาทนั้น เกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติ ๓ เหตุการณ์ ดังนี้ คือ ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเขาสัจพันธ์ ทรงหยุดบุษบกอยู่บนอากาศ เพื่อทรมานสัจพันธ์ฤาษีให้ละมิจฉาทิฐิ จนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ แล้วขึ้นบุษบกตามเสด็จไปยังสถานที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงทำภัตกิจเสร็จ พญานาคราชทูลขอให้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ริมฝั่งนัมทามหานที

ครั้งที่ ๒ เมื่อเสด็จกลับถึงเขาสัจพันธ์ ได้ตรัสสั่งพระสัจพันธ์ให้พักอยู่ที่เขาแห่งนี้ เพื่อปลดเปลื้องผู้ที่พระสัจพันธ์เคยสอนลัทธิผิด ๆ ไว้ ให้พ้นจากมิจฉาทิฐิ พระพุทธองค์ได้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หลังหิน ตามที่พระสัจพันธ์ทูลขอไว้

และครั้งที่ ๓ ในพระนครโกสัมพี มีพราหมณ์ชื่อว่า มาคันทิยะ มีธิดาสาวสวยชื่อ มาคันทิยา มาคันทิยะได้เห็นพระพุทธองค์ซึ่งงามพร้อมด้วยมหาบุรุษลักษณะทุกประการ จึงนำลูกสาวมาถวาย พระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาให้ปรากฏยังพื้นดิน แล้วเสด็จจากไปประทับอยู่ในบริเวณนั้น พราหมณีภรรยามาคันทิยพราหมณ์เห็นรอยพระพุทธบาทแล้วทราบทันทีว่า รอยเท้าเช่นนี้เป็นรอยเท้าของคนสละกามได้แล้ว ต่อมาทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์ทั้งสองจนได้เป็นพระอนาคามี

ที่มา : หนังสือปางพระพุทธรูป หัวข้อธรรมในคำกลอน โดย ระพีพรรณ ใจภักดี

8,448






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย